TNN online อเมริกา...ผู้ชนะในวิกฤตยูเครน? กดดันพันธมิตรแบนน้ำมันรัสเซีย แต่กลับนำเข้าเพิ่มเอง 43%

TNN ONLINE

วิกฤตรัสเซีย-ยูเครน

อเมริกา...ผู้ชนะในวิกฤตยูเครน? กดดันพันธมิตรแบนน้ำมันรัสเซีย แต่กลับนำเข้าเพิ่มเอง 43%

อเมริกา...ผู้ชนะในวิกฤตยูเครน? กดดันพันธมิตรแบนน้ำมันรัสเซีย แต่กลับนำเข้าเพิ่มเอง 43%

แม้รัฐบาลสหรัฐฯ จะกดดันให้ชาติพันธมิตรหยุดการซื้อน้ำมันจากรัสเซีย เพื่อลงโทษต่อกรณีส่งทหารไปยูเครน แต่ทางการรัสเซียเปิดเผยว่า สหรัฐฯ กลับนำเข้าน้ำมันจากรัสเซียเพิ่มขึ้นถึง 43% หรือเพิ่มขึ้น 100,000 บาร์เรลต่อวัน ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา

สำนักข่าว Global Times รายงานอ้างอิงการให้สัมภาษณ์ของรองเลขาธิการคณะกรรมาธิการความมั่นคงรัสเซีย มิคาเอล โปปอฟ ที่เปิดเผยว่า สหรัฐฯ มุ่ง “หาประโยชน์ใส่ตน” บนการเสียประโยชน์ของชาติพันธมิตรตะวันตก

หน้าอีกอย่าง หลังอีกอย่าง

นับแต่รัสเซียดำเนิน “ปฏิบัติการทางทหารพิเศษ” ในยูเครนเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา สหรัฐฯ และสหราชอาณาจักร กลายเป็นตัวตั้งตัวตี ผลักดันมาตรการคว่ำบาตรนำเข้าน้ำมันดิบจากรัสเซีย ซึ่งเป็นการตัดสินใจที่ยากลำบากของหลายชาติยุโรป เพราะพึ่งพาน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียมหาศาล

ด้าน สหราชอาณาจักร ประกาศว่า จะทยอยลดการพึ่งพาน้ำมันรัสเซียภายในสิ้นปีนี้ ส่วนกระทรวงการคลังสหรัฐฯ กำหนดเส้นตายการยุติข้อตกลงนำเข้าน้ำมันและถ่านหินจากรัสเซีย ในวันที่ 22 เมษายนนี้

แต่จนถึงวันที่สหรัฐฯ จะยุติการนำเข้าน้ำมัน, มิคาเอล โปปอฟ รองเลขาธิการคณะกรรมาธิการความมั่นคงรัสเซีย ออกมาเปิดเผยว่า ช่วงไม่กี่วันมานี้ สหรัฐฯ เพิ่มการนำเข้าน้ำมันดิบจากรัสเซียถึง 43% หรือเพิ่มขึ้นกว่า 1 แสนบาร์เรลต่อวัน

พร้อมเตือนชาติยุโรปว่า “ให้เตรียมใจรับมือท่าทีที่น่าตกใจของสหรัฐฯ อีกเรื่อย ๆ...เพราะสหรัฐฯ ยังอนุญาตให้บริษัทอเมริกันส่งออกปุ๋ยจากรัสเซียด้วย ด้วยเหตุผลว่าเป็นสินค้าอุปโภคจำเป็น”

สุดท้ายสหรัฐฯ คือผู้ชนะ - ยุโรปเป็นเหยื่อ

ฉุย เหิง ผู้ช่วยวิจัยจากศูนย์รัสเซียศึกษาของมหาวิทยาลัยอีสต์ ไชนา นอร์มัล ระบุว่า นโยบายของสหรัฐฯ ต่อรัสเซียประกอบด้วย 2 มิติ 

มิติแรก คือ เสรีนิยมเพื่อต้านทานระบบการเมืองรัสเซีย 

มิติที่สองคือ นโยบายเชิงปฏิบัตินิยมเพื่อสนองตอบผลประโยชน์ของสหรัฐฯ เอง

“ในมุมอุดมคติเพื่อต่อต้านรัสเซีย สหรัฐฯ กดดันให้พันธมิตรคว่ำบาตรรัสเซีย แต่ในแง่ของความเป็นจริง สหรัฐฯ กลับซื้อพลังงานรัสเซียในราคาที่ถูกขึ้น และขายต่อให้กับยุโรปในราคาที่แพงขึ้น เพื่อสนองตอบผลประโยชน์ของบริษัทด้านพลังงานในประเทศตนเอง” ฉุย กล่าว

“ท้ายสุด ยุโรปกลายเป็นเหยื่อ ความมั่งคั่งของยุโรปไหลไปสหรัฐฯ และช่วยทำให้เงินดอลลาร์แข็งแกร่งขึ้นเหนือยูโร”

ตอนนี้ ก๊าซแอลพีจีของสหรัฐฯ กลายเป็นสิ่งที่ยุโรปต้องการ เพื่อลดการพึ่งพาก๊าซธรรมชาติจากรัสเซีย โดยสื่อสหรัฐฯ รายงานว่า ยุโรปเป็นผู้นำเข้าก๊าซแอลพีจีอันดับ 1 ของสหรัฐฯ ต่อเนื่องมา 4 เดือนแล้ว หรือคิดเป็น 65% ของการส่งออกก๊าซแอลพีจีของสหรัฐฯ ทั้งหมด

ไม่ควรแทนก๊าซรัสเซีย ด้วยก๊าซสหรัฐฯ

ก่อนหน้านี้ สหรัฐฯ ประกาศว่า จะส่งมอบก๊าซแอลพีจีอย่างน้อย 15 ล้านลูกบาศก์เมตรให้ยุโรปในปีนี้ เพื่อหวังลดการพึ่งพาก๊าซจากรัสเซีย และคาดว่า ปริมาณการส่งออกก๊าซสหรัฐฯ ไปยุโรปจะเพิ่มขึ้นอีก

มิค วอลเลซ สมาชิกรัฐสภายุโรป ปราศรัยต่อรัฐสภายุโรปว่า ยุโรปควรจะเป็นอิสระจากการพึ่งพาพลังงานรัสเซียก็จริง แต่ไม่ควรแทนที่ด้วยก๊าซจากสหรัฐฯ ซึ่งเป็นประเทศที่รุกรานประเทศอื่นมากกว่าประเทศใด ๆ ในโลก

นักวิเคราะห์หลายคนจึงมองว่า ผู้ได้รับประโยชน์จากวิกฤตรัสเซีย-ยูเครน และการแบนน้ำมันรัสเซีย คือ สหรัฐฯ

ทัศนคติของผู้ติดตามสถานการณ์โลกแสดงความเห็นในโลกออนไลน์ในทิศทางเดียวกัน อาทิ 

“เป้าหมายการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ ไม่ใช่รัสเซียหรอก แต่คือชาติยุโรปมากกว่า” และ “สหรัฐฯ ซื้อน้ำมันจากรัสเซียมากขึ้น แล้วเอาไปปั่นขายให้ยุโรปต่อ เพื่อผลกำไร”


เกาะติดสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครน ได้ที่นี่

https://www.tnnthailand.com/news/ukraine-russia-war


ภาพจาก Reuters

ข่าวที่เกี่ยวข้อง