TNN online ใครได้ใครเสียจากวิกฤตยูเครน-รัสเซีย

TNN ONLINE

วิกฤตรัสเซีย-ยูเครน

ใครได้ใครเสียจากวิกฤตยูเครน-รัสเซีย

ใครได้ใครเสียจากวิกฤตยูเครน-รัสเซีย

ปฏิบัติการทางทหารของรัสเซียในยูเครน ทำให้เกิดคำถามว่าชาติมหาอำนาจและชาติที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ นั้นได้หรือเสียอะไรจากวิกฤตนี้

สำนักข่าว RT ของรัสเซียได้ออกบทวิเคราะห์เกี่ยวกับท่าทีและบทบาทของชาติยักษ์ใหญ่ต่างๆที่เข้ามาแสดงบทบาทในวิกฤตยูเครน โดยระบุว่า จนถึงตอนนี้ยังไม่มีการบรรลุข้อตกลงทางการเมืองใด ๆ จึงยากที่จะฟันธงได้เลยว่า แต่ละฝ่ายบรรลุเป้าหมายทางการเมืองแล้วหรือไม่ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ การสูญเสียของชีวิตผู้คน และเศรษฐกิจมูลค่าอันมหาศาล


อย่างไรก็ตาม สื่อรัสเซียได้คาดการณ์ว่าชาติมหาอำนาจต่าง ๆ นั้นได้หรือเสียอะไรบ้าง


---สหภาพยุโรป หรือ อียู---


อียูเสียหายและสูญเสียอย่างหนักจากการตัดการค้าและสายสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับรัสเซีย ความท้าทายของอียูตอนนี้คือการต้องหาทางเลือกอื่นมาแทนที่รัสเซียในเรื่องน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ เหล็ก และสินค้าโภคภัณฑ์ต่าง ๆ ทำให้อียูต้องทุ่มทรัพยากรและเจตนารมณ์ทางการเมืองอย่างมาก


สถานการณ์นี้จะส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของอียู และบ่งชี้ว่าอุตสาหกรรมไหนของอียูจะมีศักยภาพในการแข่งขันได้ภายในอีกไม่กี่ปี


แม้อียูจะเจ็บหนัก แต่วัตถุดิบของรัสเซียนั้นสามารถถูกแทนที่ได้ เช่นน้ำมัน อียูอาจใช้เวลาไม่นานในการหาแหล่งทดแทน แต่ก๊าซธรรมชาตินั้นเป็นโจทย์ที่ยากกว่าและอาจใช้เวลานานกว่า และสถานการณ์ของแต่ละประเทศในอียูจะแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับปริมาณการพึ่งพารัสเซียของแต่ละชาติ


นอกจากนี้ อียูยังต้องรับดูแลผู้อพยพชาวยูเครนอีกหลายล้านคน และต้องช่วยให้พวกเขาปรับตัวในการใข้ชีวิตในประเทศใหม่ ทำให้ชาติอียูต้องทุ่มเทกับโครงการด้านสังคมต่าง ๆ


อย่างไรก็ตาม ในระยะกลางนั้นอาจเป็นผลดีต่ออียู โดยเฉพาะบางประเทศที่เชี่ยวชาญในการรับผู้อพยพมาก่อนแล้วเช่น เยอรมนี เพราะผู้อพยพชาวยูเครนนั้นแตกต่างจากชาติอื่น พวกเขามีวัฒนธรรมที่ใกล้เคียงยุโรป มีการศึกษามากกว่า และน่าจะปรับตัวได้เร็วกว่า และจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจจากประชากรศาสตร์


ขณะเดียวกัน ชาติอียูต่างเพิ่มงบกลาโหม ปรับปรุงกองทัพให้ทันสมัย และพัฒนาอุตสาหกรรมกลาโหมมากขึ้น ซึ่งระยะยาวจะเป็นผลดี


RT ระบุว่า ในภาพรวมอาจเป็นชัยชนะของอียู เพราะความเคลื่อนไหวของรัสเซีย เป็นปัจจัยให้อียูต้องปรับปรุงวินัยของกลุ่ม และผนึกอาณาเขตฝั่งตะวันออกได้อย่างเป็นปึกแผ่นขึ้น


---สหรัฐฯ---


หากมองแบบผิวเผิน สหรัฐฯ ไม่กระทบมากนักจากการการแบนน้ำมันรัสเซีย แม้ราคาพลังงานอาจสูงขึ้น แต่ปัญหาหลักของสหรัฐฯ อยู่ที่อื่นมากกว่า เพราะการเผชิญหน้ากับรัสเซีย เป็นการเบนความสนใจออกจากภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ทำให้สหรัฐฯต้องเสริมความเข้มแข็งด้านการทหารในยุโรป จึงทำให้ศักยภาพในการจำกัดอิทธิพลจีนลดลง


สหรัฐฯ ยังคงกังวลว่าวิกฤตยูเครน จะนำไปสู่สงครามระหว่างนาโตและรัสเซีย และหากสถานการณ์เลวร้าย อาจนำไปสู่สงครามนิวเคลียร์ ทำให้สหรัฐฯ ต้องหาทางจำกัดรัสเซีย แต่ต้องทำอย่างมีขอบเขตเช่นกัน เพื่อไม่ให้สถานการณ์เลวร้ายไปกว่านี้


แต่มีมุมที่สหรัฐฯ ได้เช่นกัน นั่นก็คือ วิกฤตครั้งนี้ ทำให้นาโตแข็งแกร่งขึ้นในแง่ของวินัยภายในและกระตุ้นให้ชาติสมาชิกนาโตต้องอุทิศร่วมกันมากกว่านี้เพื่อความมั่นคงร่วม ซึ่งเป็นเรื่องที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ หลายคน ย้อนไปตั้งแต่ จอร์จ ดับเบิ้ลยู บุช, บารัก โอบามา และโดนัลด์ ทรัมป์ พยายามทำมาแต่ไม่สำเร็จ


แต่มาสำเร็จในยุคของโจ ไบเดน ซึ่งอาจนำไปสู่การขยายของนาโตมากขึ้นด้วย เพราะแม้กระทั่งประเทศสถานะเป็นกลางเช่น สวีเดน และฟินแลนด์ ยังมีกระแสต้องการเข้าเป็นสมาชิกนาโตเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเท่ากับว่า นาโตมีแนวโน้จะขยายอาณาเขตมายังบริเวณตะวันตกเฉียงเหนือของรัสเซีย


ในด้านพลังงาน สหรัฐฯ ได้เปรียบจากวิกฤตนี้เช่นกัน ที่ผ่านมา สหรัฐฯ พยายามช่วงชิงตลาดยุโรปมานานแล้ว ตอนนี้เป็นโอกาสที่ดีที่สหรัฐฯ จะผลักรัสเซียออกจากตลาดค้าอาวุธของโลก แม้จีนและอินเดียยังคงจะเป็นลูกค้ารัสเซียอยู่ก็ตาม


ประเด็นรัสเซีย ยังทำให้นักการเมืองในสภาคองเกรสของสหรัฐฯ และสังคมอเมริกัน มีความเป็นเอกภาพมากขึ้น แต่อาจยื้อได้ไม่นาน และยังไม่แน่ใจว่าจะส่งผลต่อการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 2024 มากน้อยแค่ไหน


---จีน---


จีนมีส่วนได้มากและเสียน้อย จากสถานการณ์นี้


แรงกดดันทางการทหารและการเมืองของสหรัฐฯ ต่อจีนนั้นลดลง เพราะสหรัฐฯ หันไปใช้มาตรการคว่ำบาตรครั้งใหญ่ต่อรัสเซีย ขณะเดียวกัน จีนยังเป็นตลาดใหญ่ของรัสเซียและสินค้าพลังงานอาจมีราคาถูกลงกว่าเดิม


นอกจากนี้ จีนยังจะกลายเป็นหุ้นส่วนหลักทางการเงินของรัสเซีย ที่จีนจะได้เปรียบมากกว่า ตลอดจนจีนจะสามารถกระชับความแข็งแกร่งตามชายแดนทางเหนือของตะวันออกเฉียงเหนือได้ด้วย


จีนยังอาจได้โอกาสใหม่ ๆในการขยายอิทธิพลเข้ามาในเอเชียกลาง และจีนยังเห็นบทเรียนจากการที่รัสเซียถูกคว่ำบาตรหนัก จะทำให้จีนต้องยกระดับปกป้องความมั่นคงของเศรษฐกิจและการเงินของจีน ในกรณีต้องเผชิญหน้ากับตะวันตกในลักษณะเดียวกัน


RT มองว่า พัฒนาการของสถานการณ์ขณะนี้ จะไม่ทำให้จีนและรัสเซีย จับมือเป็นพันธมิตรทางการทหารและการเมืองอย่างเต็มรูปแบบ และมีแนวโน้มว่าจีนจะรักษาระยะห่างกับรัสเซีย แต่จะวางตัวยืดหยุ่นมากที่สุดเท่าที่ทำได้


---ญี่ปุ่น---


ในระยะสั้น ญี่ปุ่นเสียมากกว่าได้ โอกาสในการบรรลุข้อตกลงสันติภาพกับรัสเซียเหลือน้อยเต็มที เพราะก่อนเกิดวิกฤตยูเครน ญี่ปุ่นกับรัสเซียก็ยังเจรจากันไม่สำเร็จในประเด็นหมู่เกาะพิพาท ที่รัสเซียเรียกว่าหมู่เกาะคูริลส์ และญี่ปุ่นเรียกว่าดินแดนตอนเหนือ หรือ Northern Territories


ทั้งนี้ ในปี 2014 ที่รัสเซียผนวกแคว้นไครเมีย ญี่ปุ่นใช้นโยบายการทูตที่สมดุล และคว่ำบาตรรัสเซียแค่ในเชิงสัญลักษณ์ แต่ในส่วนของเศรษฐกิจและสายสัมพันธ์ของผู้นำ ยังคงดี


สำหรับกรณีวิกฤตยูเครนครั้งนี้ ญี่ปุ่นไม่ใช่แนวทางนี้แล้ว และเลือกที่จะเคียงข้างสหรัฐฯกับอียู


ญี่ปุ่นจะได้รับผลกระทบจากการถอนธุรกิจออกจากรัสเซีย และการต้องหาสินค้าโภคภัณฑ์จากแหล่งอื่นแทนรัสเซีย


ขณะเดียวกัน ความสัมพันธ์ที่แย่ลงกับรัสเซีย จะทำให้ญี่ปุ่นมีแรงกระตุ้นมากขึ้นในการทบทวนโครงสร้างความมั่นคงของชาติที่มีมาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งจำกัดศักยภาพของกองกำลังป้องกันตนเองของญี่ปุ่น และจะทำให้ญี่ปุ่นมีความมั่นใจอีกครั้งในการกลับมาทวงบัลลังก์ของมหาอำนาจด้านการเมืองและการทหารของภูมิภาค


---อินเดีย---


อินเดียจะไม่ค่อยได้รับผลกระทบมากนัก เพราะยังคงความสัมพันธ์ที่ดีกับรัสเซีย โดยเฉพาะความร่วมมือทางการทหาร


อย่างไรก็ตาม ชาติตะวันตกจะพยายามโน้มน้าวอินเดียให้วางตัวออกห่างจากรัสเซียมากขึ้น ส่วนสถานะของจีนที่เติบโตมากขึ้นจากวิกฤตนี้ จะยังเป็นปัญหาต่ออินเดียเช่นกัน แต่ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด


---วิกฤตยูเครนเป็นผลดีหรือผลร้าย?---


ทั้งนี้ วิกฤตยูเครน อาจทำให้บางชาติที่ประสบปัญหาจากการถูกสหรัฐฯ คว่ำบาตรมาก่อนหน้านี้ ได้ประโยชน์เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นเวเนซุเอลาหรืออิหร่าน เพราะสหรัฐฯ อาจปิดหูปิดตาบางข้าง ยอมละเว้นการคว่ำบาตรบางอย่างให้แก่สองประเทศนี้ เพื่อทดแทนการแบนการนำเข้าน้ำมันจากรัสเซีย


น้ำมันจากเวเนซุเอลาอาจเข้ามาช่วยอุดน้ำมันจากรัสเซียในตลาดสหรัฐฯ ซึ่งจะช่วยต่อลงหายใจให้กับระบอบของประธานาธิบดีนิโคลัส มาดูโร


ส่วนอิหร่านนั้น สถานการณ์อาจซับซ้อนกว่า สืบเนื่องจากโครงการพัฒนานิวเคลียร์ของอิหร่านและการเจรจาข้อตกลงนิวเคลียร์ฉบับใหม่กับตะวันตก ซึ่งมีรัสเซียเกี่ยวข้องด้วย แต่ในเชิงเทคนิค สหรัฐฯ อาจปล่อยให้อิหร่านกลับมาค้าขายน้ำมันในตลาดโลกได้ โดยไม่เกี่ยวข้องกับข้อตกลงนิวเคลียร์


ในภาพรวม วิกฤตยูเครน จะส่งผลกระทบในระดับโลก บางประเทศจะสูญสเสียมากในระยะสั้นและกลาง แต่สำหรับบางประเทศ อาจกลายเป็นเปิดโอกาสใหม่ ๆ เพื่อขยายอิทธิพลต่อในระยะยาวนั่นเอง

—————

ติดตามสถานการณ์ยูเครน-รัสเซียอย่างใกล้ชิด

https://bit.ly/TNNRussiaInvasion

—————

แปล-เรียบเรียง: ธันย์ชนก จงยศยิ่ง

ภาพ: ARIS MESSINIS / AFP

ข่าวที่เกี่ยวข้อง