เช็กข่าวปลอม! อย่าแชร์ “แอปฯ ทางรัฐ” แสดงเครดิตบูโร-ใบสั่ง หลังลงทะเบียนเงินดิจิทัล
เปิด 10 ข่าวปลอมล่าสุด! ดีอี เตือนอย่าแชร์ “แอปฯ ทางรัฐ แสดงข้อมูลเครดิตบูโร บัญชีติดหนี้ ใบสั่งจราจร ข้อมูลโดนฟ้องศาล หลังลงทะเบียน 10,000 บาท” ชี้เป็นข้อมูลเท็จ สร้างความสับสนให้สังคม
นายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ในฐานะโฆษกกระทรวงฯ กล่าวถึงผลการมอนิเตอร์และรับแจ้งข่าวปลอมของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ระหว่างวันที่ 2 – 8 สิงหาคม 2567 พบข้อความที่เข้ามาทั้งหมด 848,755 ข้อความ โดยมีข้อความที่ต้องดำเนินการตรวจสอบ (Verify) ทั้งสิ้น 205 ข้อความ
สำหรับช่องทางที่มีการพบเบาะแสมากที่สุด คือ ข้อความที่มาจาก Social Listening จำนวน 174 ข้อความ ตามมาด้วยการแจ้งเบาะแสผ่าน Line Official จำนวน 26 ข้อความ และผ่านช่องทาง Facebook จำนวน 5 ข้อความ รวมเรื่องที่ต้องดำเนินการตรวจสอบทั้งหมด 168 เรื่อง และจากการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้รับผลการตรวจสอบกลับมาแล้ว 86 เรื่อง
ทั้งนี้ กระทรวง ดีอี ได้แบ่งข่าวปลอมที่ได้รับความสนใจเป็น 5 กลุ่ม ประกอบด้วย
กลุ่มที่ 1 : นโยบายรัฐบาล ข่าวสารทางราชการ ความสงบเรียบร้อยของสังคม ขัดศีลธรรมอันดี และความมั่นคงภายในประเทศ จำนวน 90 เรื่อง
กลุ่มที่ 2 : ผลิตภัณฑ์สุขภาพ วัตถุอันตราย เครื่องสำอาง รวมถึงสินค้าและบริการที่ผิดกฎหมายจำนวน 34 เรื่อง
กลุ่มที่ 3 : ภัยพิบัติ จำนวน 6 เรื่อง
กลุ่มที่ 4 : เศรษฐกิจ จำนวน 16 เรื่อง
กลุ่มที่ 5 : กลุ่มอาชญากรรมออนไลน์ จำนวน 22 เรื่อง
นายเวทางค์ กล่าวต่อว่า เมื่อพิจารณาจากข่าวปลอมที่ได้รับความสนใจในลำดับต้นๆ ในสัปดาห์นี้ พบว่าเป็นข่าวด้านกลุ่มนโยบายรัฐบาล ข่าวสารทางราชการ ความมั่นคง ซึ่งเกี่ยวข้องกับโครงการของรัฐบาล อย่างโครงการ “ดิจิทัลวอลเล็ต” เพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจและการช่วยเหลือค่าครองชีพของประชาชน มากถึง 9 อันดับแรก ซึ่งแสดงว่าประชาชนให้ความสนใจต่อโครงการนี้มากที่สุด
โดยข่าวที่ได้รับความสนใจจากประชาชนมากที่สุด 10 อันดับ ได้แก่
อันดับที่ 1 : เรื่อง แอปฯ ทางรัฐ แสดงข้อมูลเครดิตบูโร บัญชีติดหนี้ ใบสั่งจราจร ข้อมูลโดนฟ้องศาล หลังลงทะเบียน 10,000 บาท
อันดับที่ 2 : เรื่อง ปชช. ที่สมัครบัญชีผ่านแอปฯ ทางรัฐไม่ได้ จะไม่สามารถลงทะเบียนรับเงินดิจิทัล 10,000 บาท
อันดับที่ 3 : เรื่อง ธปท. เตือน แอปฯ ทางรัฐ ไร้ความปลอดภัยในการเก็บข้อมูลส่วนบุคคล
อันดับที่ 4 : เรื่อง ผู้ตรวจการแผ่นดิน ตีตกเงินดิจิตอลวอลเล็ต
อันดับที่ 5 : เรื่อง รัฐบาลเปิดให้โหลดแอปฯ ทางรัฐ ผ่านเว็บไซต์ https://dga-thai.com/
อันดับที่ 6 : เรื่อง สามารถเปิดรับแลกเงินดิจิทัล 10,000 บาท และนำเงินสดไปใช้ได้
อันดับที่ 7 : เรื่อง สมัครแอปฯ ทางรัฐด้วยบัตร ปปช. และสแกนใบหน้า เสี่ยงถูกแฮ็ก เพราะเป็นระบบเปิดเชื่อมไปยังบัญชีธนาคาร
อันดับที่ 8 : เรื่อง ให้บริการรับสมัครแอปฯ ทางรัฐ เพื่อใช้ลงทะเบียนโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต
อันดับที่ 9 : เรื่อง ลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชันทางรัฐแล้วถูกแฮกข้อมูล รวมถึงข้อมูลของญาติจะถูกดึงมาทั้งหมด
อันดับที่ 10 : เรื่อง ต้มน้ำประปา สามารถลดความเค็มได้
“เมื่อพิจารณาจากข่าวปลอมที่ประชาชนสนใจมากที่สุด จาก 10 อันดับ ข้างต้น พบว่าเป็นข่าวเกี่ยวข้องกับโครงการ “ดิจิทัลวอลเล็ต” มากถึง 9 อันดับแรก โดยโครงการดังกล่าวมีผลกระทบต่อประชาชนเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะอันดับ 1 เรื่อง “แอปฯ ทางรัฐ แสดงข้อมูลเครดิตบูโร บัญชีติดหนี้ ใบสั่งจราจร ข้อมูลโดนฟ้องศาล หลังลงทะเบียน 10,000 บาท” ซึ่งเป็นการสร้างข่าวปลอม และข้อมูลบิดเบือน” นายเวทางค์ กล่าว
กระทรวง ดีอี ได้ประสานงานร่วมกับ สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (สพร.) หรือ DGA ตรวจสอบข้อมูลและชี้แจงข้อมูลจริงว่า แอปฯ ทางรัฐ ทำหน้าที่เชื่อมโยงข้อมูลไปที่หน่วยงานเจ้าของบริการและข้อมูลนั้น ๆ เท่านั้น และจะไม่มีการเก็บข้อมูลของประชาชนไว้ที่แอปฯ “ทางรัฐ” แต่อย่างใด
สำหรับข้อมูลส่วนบุคคลที่แสดงในแอปฯ “ทางรัฐ” สามารถเข้าถึงได้เฉพาะเจ้าของข้อมูลและผู้มีอำนาจตามกฎหมายในการเข้าถึงข้อมูลเท่านั้น จึงขอเตือนประชาชนอย่าหลงเชื่อข้อมูลดังกล่าว และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ โดยประชาชนที่สนใจสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการเตรียมการลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการฯ ได้ที่เว็บไซต์ www.digitalwallet.go.th หรือพิมพ์เป็นภาษาไทยว่า www.กระเป๋าเงินดิจิทัล.รัฐบาล.ไทย หรือสามารถสอบถามผ่านศูนย์บริการข้อมูลภาครัฐเพื่อประชาชน (Call Center) สายด่วน โทร. 1111 ซึ่งหากหลงเชื่อโดยไม่ตรวจสอบรายละเอียดข้อเท็จจริง อาจทำให้เกิดความเสียหายทั้งในส่วนตัวบุคคล หรือหากมีการแชร์ เผยแพร่ ต่อๆกันไป อาจกระทบต่อประชาชนในสังคมเป็นวงกว้างได้
อย่างไรก็ตาม ดีอี มีความห่วงใยประชาชน เรื่องความตระหนักรู้เท่าทันข่าวปลอมที่ถูกแพร่กระจายบนสื่อออนไลน์ โซเชียล ซึ่งหากขาดความรู้เท่าทัน ส่งต่อข้อมูลข่าวปลอม ทำให้เกิดการหลงเชื่อ สร้างความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน สร้างความเสียหายต่อทรัพย์สิน หรือข้อมูลส่วนบุคคล และอาจส่งผลกระทบต่อประชาชนในสังคมเป็นวงกว้าง ดังนั้นจึงควรตรวจสอบข้อเท็จจริงของข่าวหรือลิงก์เว็บไซต์ให้แน่ชัด