TNN online เทียบกองทุน SSF และ RMF ต่างกันอย่างไร ลดหย่อนภาษีเลือกแบบไหนคุ้มกว่า?

TNN ONLINE

TNN Exclusive

เทียบกองทุน SSF และ RMF ต่างกันอย่างไร ลดหย่อนภาษีเลือกแบบไหนคุ้มกว่า?

เทียบกองทุน SSF และ RMF ต่างกันอย่างไร ลดหย่อนภาษีเลือกแบบไหนคุ้มกว่า?

เปิดรายละเอียด กองทุน SSF และ RMF ต่างกันอย่างไร หากต้องการซื้อเพื่อลดหย่อนภาษีในอนาคต เลือกแบบไหนดีจึงจะคุ้มค่ากับเงินที่ต้องจ่าย?

เข้าใกล้เดือนสุดท้ายของปี 2564 แล้ว หลายคนอาจจะยังกำลังมองค่าใช้จ่ายที่จะนำมาลดหย่อนภาษี ซึ่งหนึ่งในตัวเลือกที่นิยมก็คือ การซื้อกองทุน หรือการลงทุนผ่านกองทุนรวมต่างๆ ได้แก่ กองทุน SSF และ RMF แต่อาจจะยังเลือกไม่ถูกว่าจะลงทุนกองทุนไหนดี  แล้วแต่ละกองทุนนั้นมีความแตกต่างกันอย่างไร กองทุนไหนเหมาะกับใคร เพราะทั้งสองกองทุนใช้วงเงินลดหย่อนภาษีเดียวกัน คือ รวมกันไม่เกิน 500,000 บาท 

รู้จักกองทุน SSF  คืออะไร

กองทุนรวมเพื่อส่งเสริมการออมระยะยาว พิเศษกว่ากองทุนรวมทั่วไปตรงที่รัฐบาลอนุญาตให้สามารถนำจำนวนเงินที่ซื้อกองทุน SSF มาหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้ เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นไป โดยจะลดหย่อนแบบปีต่อปี ซื้อปีไหน ก็ลดหย่อนปีนั้น ในช่วงระยะเวลาปี 2563-2567 

โดยเงินในกองทุนนั้นจะนำไปลงทุนในหลักทรัพย์ทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นหุ้นไทย หุ้นต่างประเทศ ตราสารหนี้ กองทุนรวมผสม ฯลฯ ซึ่งมีความยืดหยุ่นมากกว่า LTF ที่กำหนดให้ลงทุนในหุ้นสามัญภายในประเทศไทย

ข้อแตกต่างจากกองทุนรวมทั่วไปของ กองทุน SSF 

1. เงินลงทุนนำมาลดหย่อนภาษีได้

2. ไม่สามารถโอน จำนำ หรือนำหน่วยลงทุนไปเป็นหลักประกันได้

3. มีนโยบาย ทั้งจ่ายปันผลและไม่จ่ายปันผล

เงื่อนไขในการลงทุน กองทุน SSF  

  • ไม่มีจำนวนเงินขั้นต่ำในการซื้อ 
  • ซื้อได้ไม่เกิน 30% ของรายได้ และต้องไม่เกิน 200,000 บาท 
  • เมื่อรวม RMF + SSF + PVD + กบข. + กอช. + ประกันบำนาญแล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาท
  • ต้องถือครองไม่น้อยกว่า 10 ปี นับจากวันที่ซื้อ (นับแบบวันชนวัน)
  • ปีที่ใช้สิทธิลดหย่อนภาษี ได้เป็นระยะเวลา 5 ปี (ปี 2563 - 2567)

กองทุน SSF มีข้อแตกต่างจาก RMF อย่างไร?

1. SSF  ถือหน่วยลงทุน 10 ปีนับจากวันที่ซื้อ  โดยที่ RMF ถือหน่วยจนอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ และถือหน่วยลงทุนมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี จึงจะขายได้

2. SSF ไม่ต้องซื้อต่อเนื่องทุกปี ส่วน RMF  ต้องซื้อต่อเนื่องทุกปี หรือปีเว้นปี  ไม่ระงับการซื้อเกินกว่า 1 ปีติดต่อกัน

3. SSF  ลงทุนสูงสุดไม่เกิน 30% ของเงินได้  แต่ไม่เกิน 200,000 บาท  ส่วน RMF ลงทุนสูงสุดไม่เกิน 30% ของเงินได้  แต่ไม่เกิน 500,000 บาท  เมื่อรวมกับกองทุน SSF , PVD,  กบข., เบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ ,กองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายของ รร.เอกชน, กองทุนการออมแห่งชาติ

เทียบกองทุน SSF และ RMF ต่างกันอย่างไร

เงื่อนไขการลงทุน 
กองทุน SSF
กองทุน RMF
วงเงินที่ได้รับสิทธิลดหย่อน ไม่เกิน 30% ของรายได้ทั้งปี ไม่เกิน 200,000 บาท
ลดหย่อนได้สูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท
ไม่เกิน 30% ของรายได้ทั้งปี และไม่เกิน 500,000 บาท 
 ลดหย่อนได้สูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท 
เงื่อนไขวงเงินลดหย่อนรวมกับ RMF,SSF,PVD,กบข.,ประกันชีวิตแบบบำนาญแล้วไม่เกิน 500,000 บาท
ระยะเวลาถือครองถือไม่น้อยกว่า 10 ปี นับจากวันซื้อ 5 ปี นับจากวันซื้อ  อายุไม่ต่ำกว่า 55 ปี ณ วันขาย
ปีที่ใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ ซื้อระหว่างปี 2563-2567 (หักภาษีได้ปีต่อปี)ลงทุนได้เรื่อยๆ ไม่มีกำหนดในการสิ้นสุดการลงทุน
จำนวนซื้อขั้นต่ำ/สูงสุดไม่มีขั้นต่ำ/ไม่ต้องซื้อต่อเนื่องทุกปี ไม่มีขั้นต่ำ/เริ่มแล้วต้องซื้อต่อเนื่อง อย่างน้อยปีเว้นปี
หลักทรัพย์ที่ลงทุนลงทุนในหลักทรัพย์ ได้ทุกประเภท

ที่มา:scb,finnomena


กองทุน SSF มีอะไรที่คล้ายกับ กองทุน RMF บ้าง? 

1. ลงทุนในหลักทรัพย์ได้ทุกประเภท

2. หากลงทุนครบตามเงื่อนไข จะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี

3. ไม่สามารถโอน จำนำ หรือนำหน่วยลงทุนไปเป็นหลักประกันได้

4. ใช้วงเงินลดหน่อยรวมเดียวกัน คือ ไม่เกิน 500,000 บาท  

กองทุน SSF เหมาะกับใคร?

เหมาะกับผู้เริ่มต้นวัยทำงานเพื่อเป็นแรงจูงใจในการออมเงินระยะยาว  โดยเงินที่ผู้ลงทุนจ่ายเป็นค่าซื้อหน่วยลงทุน SSF จะได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

รู้จักกองทุน RMF คืออะไร?

RMF ย่อมาจาก Retirement Mutual Fund หรือ กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ เป็นกองทุนรวมที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อสนับสนุนให้คนไทยเก็บออมระยะยาวเพื่อเอาไว้ใช้จ่ายในยามเกษียณอายุ คล้ายๆ กับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund) ของเอกชน และกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ของข้าราชการ ซึ่งมีนโยบายการลงทุนให้เลือกหลากหลายลงทุนในหลักทรัพย์ได้ทุกประเภทเหมือนกองทุนรวมทั่วไป   ตั้งแต่กองทุนที่มีระดับความเสี่ยงต่ำ เน้นลงทุนในตราสารหนี้ เช่น พันธบัตร  กองทุนที่มีระดับความเสี่ยงปานกลาง ที่อาจผสมผสานระหว่างการลงทุนในตราสารหนี้ และตราสารทุน กองทุนที่มีระดับความเสี่ยงสูง เน้นลงทุนในตราสารทุน

โดย RMF หลักเกณฑ์ใหม่นั้น มีการปรับสัดส่วนในการลดหย่อนภาษีเพิ่ม จากเดิมที่ 15% เป็นไม่เกิน 30% ของเงินได้ และไม่เกิน 500,000 บาท และนับรวมกองทุนอื่น ๆในวงเงินด้วย (เช่น กองทุน SSF กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน กองทุนการออมแห่งชาติ หรือเบี้ยประกันภัยสำหรับการประกันชีวิตแบบบำนาญ) และยกเลิกกำหนดจำนวนขั้นตํ่าในการลงทุนจากเดิม 5,000 บาท เป็นเท่าไรก็ได้ โดยไม่ระงับการซื้อเกิน 1 ปีติดต่อกันเช่นเดิม

กองทุน RMF มีข้อแตกต่างจากกองทุนรวมทั่วไปอย่างไร?

1. เงินลงทุนนำมาลดหย่อนภาษีได้ หากมีการลงทุนเป็นไปตามเงื่อนไขที่ทางการกำหนด

2. หากลงทุนไม่ถึง 5 ปี กำไรที่ได้รับจากการลงทุน (capital gain) ต้องนำไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

3. ไม่สามารถโอน จำนำ หรือนำหน่วยลงทุนไปเป็นหลักประกันได้

4.ไม่มีการจ่ายเงินปันผล

เงื่อนไขในการลงทุน กองทุน RMF มีอะไรบ้าง?

  • ไม่มีขั้นต่ำในการซื้อ
  • ซื้อได้ไม่เกิน 30% ของรายได้ และต้องไม่เกิน 500,000 บาท (รวม PVD,  กบข., เบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ ,กองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายของ รร.เอกชน, กองทุนการออมแห่งชาติ, กองทุน SSF
  • ลงทุนต่อเนื่องทุกปี หรือปี เว้นปี  จนอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์
  • ระยะเวลาการถือครอง ต้องถือครองไม่น้อยกว่า 5 ปี นับตั้งแต่วันที่ซื้อหน่วยลงทุนครั้งแรก และถือจนถึงอายุ 55 ปีบริบูรณ์

สิทธิประโยชน์ทางภาษี RMF มีอะไรบ้าง

หากปฏิบัติตามเงื่อนไขการลงทุน ผู้ลงทุนจะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีถึง 2 ทาง คือ อย่างแรก เงินซื้อหน่วยลงทุนใน RMF จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามที่จ่ายจริงสูงสุด 30% ของเงินได้ในแต่ละปี โดยเมื่อนับรวมกับเงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการแล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาท  และ ต้องถือหน่วยลงทุนจนครบอายุ 55 ปีบริบูรณ์และลงทุนมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี

และอย่างที่สอง คือ กำไรจากการขายคืนหน่วยลงทุน (Capital Gain) ไม่ต้องเสียภาษีเงินได้  หากลงทุนมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี

ข้อควรระวังจากการลงทุน RMF

1.  ระงับการซื้อหน่วยลงทุนเกินกว่า  1 ปีติดต่อกัน  ทั้งที่ยังคงมีเงินได้  หรือ

2. จำนวนเงินลงทุนไม่เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้  หรือ

3. ขายคืนหน่วยลงทุนก่อนที่ผู้ลงทุนจะอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์

โดยหากเป็นไปตามข้อหนึ่งข้อใด  ก็ถือว่าผิดเงื่อนไขการลงทุน  ยกเว้น ว่า เป็นกรณีที่ผู้ลงทุนเสียชีวิตหรือทุพพลภาพ  จะไม่ถือว่าผิดเงื่อนไขการลงทุน

แต่หากเผลอทำผิดเงื่อนในการลงทุน RMF ผู้ลงทุนต้องทำอย่างไรดี?

  • กรณีที่ลงทุนไม่ถึง 5 ปี    ต้องคืนเงินภาษีทั้งหมดทุกปี  ที่ได้รับยกเว้นไป  และเมื่อขายคืนหน่วยลงทุน  ต้องนำกำไรจากการขายคืนหน่วยลงทุน (Capital Gain)  ไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้  ซึ่งในทางปฏิบัติเมื่อผู้ลงทุนขายคืน  บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนจะหักภาษี ณ ที่จ่าย 3% ของกำไรจากการขายคืนหน่วยลงทุนไว้ก่อน  และเมื่อผู้ลงทุนไปยื่นแบบเสียภาษีเงินได้  ก็จะคำนวณอีกครั้งว่าจะต้องจ่ายเงินเพิ่มอีกหรือไม่ อย่างไร
  • กรณีที่ลงทุนตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป และมีการผิดเงื่อนไข  จะต้องคืนเงินภาษีที่ได้รับยกเว้นไปในช่วง  5 ปีย้อนหลัง

**การชำระภาษีตามข้อ 1 และ 2  ต้องชำระภายในเดือนมีนาคมของปีถัดจากปีที่ผิดเงื่อนไข

กองทุน RMF เหมาะกับใคร?

1.   เหมาะสำหรับคนทุกที่ต้องการออมเงินเพื่อวัยเกษียณ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง  ผู้ประกอบวิชาชีพอิสระ ซึ่งไม่มีสวัสดิการออมเงินเพื่อวัยเกษียณมา

2. ลูกจ้าง พนักงานหรือข้าราชการ ที่มีสวัสดิการออมเงินเพื่อวัยเกษียณอยู่แล้ว แต่ต้องการจะออมเพิ่มเติมให้มากขึ้น

3. ลูกจ้างหรือพนักงาน ที่นายจ้างและลูกจ้างยังไม่พร้อมใจที่จะจัดให้มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ทำให้ลูกจ้างไม่สามารถสะสมเงินลงทุนเพื่อวัยเกษียณได้


อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเลือกกองทุนไหน สิ่งสำคัญคือพิจารณาถึงเป้าหมายหรือความต้องการจริงๆของเราก่อน  ถ้าต้องการลงทุนเพื่อการเกษียณอายุ RMF ก็จะตอบโจทย์ แต่ถ้าเน้นที่การออมระยะยาว ประมาณ 10 ปี SSF ก็จะตอบโจทย์มากกว่า รวมถึงพิจารณาถึงอายุประกอบกับระยะเวลาในการลงทุนด้วย ตลอดจนความเสี่ยงและนโยบายการลงทุนของกองทุน หรือความยากง่ายในการหาข้อมูลในการลงทุน ทางที่ดีควรปรึกษากับผู้จัดการกองทุนกองทุนที่เราสนใจก่อนก็ได้  เพราะในเบื้องต้นจะมีแบบประเมินให้ได้ทดสอบเพื่อดูว่าเราเหมาะกับกองทุนแบบไหน ที่สำคัญคือพิจารณา ศึกษาข้อมูลให้รอบคอบและละเอียดที่สุด เพราะการลงทุนมีความเสี่ยงทั้งนั้น....


ข้อมูล : www.scb.co.th/th/personal-banking, https://support.finnomena.com/

ภาพประกอบ : AFP 


ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง