รู้จักธุรกิจบริการจีน ... ในวันที่เตรียมพร้อมก้าวสู่เวทีโลก โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

TNN ONLINE

TNN Exclusive

รู้จักธุรกิจบริการจีน ... ในวันที่เตรียมพร้อมก้าวสู่เวทีโลก โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

รู้จักธุรกิจบริการจีน ... ในวันที่เตรียมพร้อมก้าวสู่เวทีโลก โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

รู้จักธุรกิจบริการจีน ... ในวันที่เตรียมพร้อมก้าวสู่เวทีโลก โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน

หลายคนยังนึกว่าเศรษฐกิจจีนพึ่งพาภาคการผลิตสินค้าเป็นหลัก แต่แท้ที่จริงแล้ว ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา โครงสร้างเศรษฐกิจของจีนได้เปลี่ยนแปลงไปมาก จากเดิมที่มีภาคการผลิตเป็นพระเอกในช่วง 3 ทศวรรษแรกหลังการเปิดประเทศ เป็นการพึ่งพาภาคบริการในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

สำหรับผมแล้ว นี่เป็นเสมือนการเตรียมความพร้อมเพื่อก้าวสู่การเป็นประเทศพัฒนาแล้วที่พึ่งพาภาคบริการเป็นหลัก วันนี้ผมจึงอยากจะพาท่านผู้อ่านไปรู้จักภาคบริการของจีน และเก็บตกงานแสดงธุรกิจบริการของจีนที่ใหญ่ที่สุดในโลกกัน รวมทั้งงานสัมมนาด้านการค้าภาคบริการไทย-จีนภายในงานดังกล่าวกัน ...

ในช่วงหลายปีหลัง เราเห็นการเติบโตของหลากหลายธุรกิจบริการของจีน อาทิ ร้านอาหาร การเงินและประกันภัย การออกแบบก่อสร้าง การท่องเที่ยว การขนส่ง การรักษาพยาบาล ไอที และอีคอมเมิร์ซ รวมทั้งธุรกิจบันเทิงและสันทนาการ

ธุรกิจบริการของจีนไม่เพียงแต่เพิ่มจำนวน และครองตลาดภายในประเทศ แต่ยังมีขนาดใหญ่ติดลำดับโลก เราเห็นสถาบันการเงิน ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ เกมส์ออนไลน์ ลอจิสติกส์ และพลังงานสีเขียวจำนวนมากของจีนก้าวติดระดับโลกในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

ส่งผลให้ภาคบริการมีสัดส่วนต่อจีดีพีเพิ่มขึ้นมาโดยลำดับ และกลายเป็นสาขาเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดของจีนในช่วง 10 ปีหลังนี้ โดยในปี 2011 ภาคบริการมีสัดส่วนต่อจีดีพี 43% และเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็น 54% ในปี 2020 ขณะที่ภาคการผลิตสินค้า และภาคการเกษตรมีสัดส่วนต่อจีดีพีที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง จนเหลือไม่ถึง 40% และราว 7% ตามลำดับ

ภาคบริการยังมีระดับความสำคัญต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนด้วยเช่นกัน โดยมีอิทธิพลสูงถึง 60% ในปี 2020 และหากเราติดตามแผนพัฒนา 5 ฉบับที่ 14 (ปี 2021-2025) ก็พบว่า จีนให้ความสำคัญกับภาคบริการในการเป็นกลไกขับเคลื่อนนวัตกรรมและการเติบโตในอนาคต

ซึ่งนั่นหมายความว่า ภาคบริการจะมีความสำคัญในระดับที่สูงขึ้นในหัวเมืองที่มุ่งเน้นการพัฒนาผ่านนวัตกรรมและในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง อาทิ ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เศรษฐกิจดิจิตัล การเงิน และบริการอื่นๆ

หนึ่งในเมืองสำคัญที่จีนผลักดันให้เป็นศูนย์กลางในเรื่องเหล่านี้ก็ได้แก่ กรุงปักกิ่ง ในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นอกจากการเป็นเมืองหลวงในทางการเมืองแล้ว ปักกิ่งยังถือเป็นเมืองหลวงแห่งยูนิคอร์น (Unicorn) ของจีน โดยในปี 2020 ปักกิ่งมีกิจการจำนวน 93 รายที่ขึ้นทะเบียนเป็นยูนิคอร์น ซึ่งมากกว่าเมืองอื่นใดในจีน ขณะเดียวกัน ก็มีกิจการต่างชาติอีกราว 600 รายที่จัดตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาในปักกิ่ง อาทิ Apple, Tesla, Merck และ Mercedes-Benz

นอกจากนี้ ในปี 2020 รัฐบาลยังอนุมัติให้ปักกิ่งจัดตั้งเขตเสรีทางการค้า (Free Trade Zone) เพื่อเป็นศูนย์กลางนวัตกรรมด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชั้นนำ และสนับสนุนการพัฒนาเป็นฮับบริการด้านดิจิตัลไฮเทคของจีน

โดยผู้ลงทุนในอุตสาหกรรมบริการไฮเทค อาทิ แผงจงวรไฟฟ้า ปัญญาประดิษฐ์ ยา และวัสดุใหม่ จะได้รับมีสิทธิประโยชน์จากมาตรการส่งเสริมการลงทุนในหลายส่วน อาทิ การจ่ายภาษีเงินได้นิติบุคคลในอัตรา 15% ของกำไรสุทธิ จากปกติ 25% และการผ่อนคลายขั้นตอนพิธีการและเอกสารการจดทะเบียนนิติบุคคล

รู้จักธุรกิจบริการจีน ... ในวันที่เตรียมพร้อมก้าวสู่เวทีโลก โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

ในประเด็นเรื่องการปกป้องคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ในจีน ก็ได้รับการจัดระเบียบในเชิงรุก นอกเหนือจากการลดขั้นตอนพิธีการและเอกสารประกอบการยื่นเรื่องแล้ว เขตฯ ปักกิ่งยังให้การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของบริษัทแบบอัตโนมัติโดยไม่ต้องเสียเวลาเสนอเรื่อง หากกิจการดำเนินธุรกิจในจีนมากกว่า 1 ปี มีรายได้ต่อปีมากกว่า 20 ล้านหยวน และมีสัดส่วนค่าใช้จ่ายด้านวิจัยอย่างน้อย 50% เกิดขึ้นในจีน

ในด้านเศรษฐกิจดิจิตัล จีนก็ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่อง โดยนับแต่ปี 2019 จีนได้เปิดให้กิจการต่างชาติเข้าสู่ตลาดในประเทศในหลายหลายอุตสาหกรรม ตั้งแต่ศูนย์พักคนชรา ไปจนถึงเครือข่ายส่วนตัวเสมือน (Virtual Private Networks) ที่นิยมเรียกกันจนติดปากว่า วีพีเอ็น (VPNs)

ในกรณีหลัง กฎระเบียบใหม่เปิดให้กิจการโทรคมนาคมต่างชาติสามารถถือหุ้นได้ถึงครึ่งหนึ่งของเงินลงทุนในกิจการร่วมทุนที่ให้บริการ VPNs ในจีน สิ่งนี้ยังถือเป็นขั้นตอนสำคัญของการปรับปรุงการถ่ายโอนข้อมูลข้ามประเทศ เพื่อให้มีความสะดวกและคล่องตัวยิ่งขึ้นในอนาคต เพราะชาวต่างชาติต่างประสบปัญหาการเข้าสู่แพล็ตฟอร์มอื่นที่ไม่ได้รับอนุญาตให้เปิดใช้เสรีในจีน อาทิ กูเกิ้ล เฟซบุ๊ก และไลน์

ในเวลาต่อมา ปักกิ่งก็ประกาศสร้าง พื้นที่ “นำร่อง” เพื่อการพัฒนาด้านวัตกรรมและเปิดกว้างภาคบริการและเศรษฐกิจดิจิตัลแบบรอบด้าน ซึ่งนำไปสู่การขยายพื้นที่คลัสเตอร์และสวนอุตสาหกรรม สถาบันที่เกี่ยวข้อง และการปฏิรูปด้านอุปทาน ควบคู่ไปกับการส่งเสริมการขยายและเปิดกว้างสวนอุตสาหกรรม เพื่อดึงทรัพยากรและรวมศูนย์สิทธิประโยชน์สำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมายของภาครัฐ

นอกจากนี้ ผู้ถือหุ้นรายย่อยในกองทุนหรือวีซี (Venture Capital) ที่ร่วมลงทุนกับกิจการ CIT ในสวนวิทยาศาสตร์จงกวนชุน (Zhongguancun Science Park) หรือ “Z-Park” ซึ่งเป็นนิคมอุตสาหกรรมไฮเทคชั้นนำของจีน ยังได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (รับผิดชอบเฉพาะส่วนของภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในบริษัท) ซึ่งหากสำเร็จ ก็จะนำเอานโยบายส่งเสริมด้านนวัตกรรมในพื้นที่อื่นต่อไป

ในภาคการเงิน การเปิดกว้างก็เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม โดยปัจจุบัน กิจการต่างชาติสามารถจัดตั้งนิติบุคคลในรูปแบบ “Wholly Foreign-Owned Enterprise” (WFOE) ในปักกิ่ง ขณะเดียวกัน บริการการเงินของต่างชาติหลากหลายรูปแบบก็ได้รับไฟเขียวในกิจกรรมบริการมากมาย เช่น ธนาคารต่างชาติสามารถทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลกองทุนรวม หรือเป็นผู้จัดการหลักในการกระจายตลาดหุ้นกู้ระหว่างธนาคาร และสามารถได้รับใบอนุญาตนำเข้าทองคำ

รัฐบาลจีนยังพยายามเชิญชวนนักลงทุนเอกชนให้จัดตั้งและประกอบการกองทุนการลงทุนระหว่างประเทศในรูปเงินหยวนในปักกิ่ง การจัดตั้งสาขา และการจัดอันดับธุรกิจในตลาดพันธบัตรระหว่างธนาคาร เป็นต้น

นอกจากนี้ ปักกิ่งยังส่งเสริมธุรกิจต่างชาติในการลงทุนในบริการเฉพาะทาง โดยผ่อนคลายกฎระเบียบการลงทุนด้านวัฒนธรรม การท่องเที่ยว การศึกษา และการรักษาพยาบาล บุคลากรในกิจการลงทุนของต่างชาติที่เกี่ยวข้องมีสิทธิ์ได้รับประโยชน์จากมาตรการด้านภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ซึ่งคล้ายกับสิทธิประโยชน์ที่พื้นที่เสรีทางการค้าไฮ่หนาน (Hainan Free Trade Port) และพื้นที่เกรตเตอร์เบย์ (Greater Bay Area: GBA) ทางตอนใต้ของจีน

โดยที่ความสำเร็จของภาคบริการขึ้นอยู่กับลักษณะเฉพาะของปัจจัยด้านซอฟท์ (Soft-Side Factor) เช่น ความชำนาญของคน และนวัตกรรม ดังนั้น ผลจากมาตรการส่งเสริมอย่างจริงจังดังกล่าว ทำให้รัฐบาลจีนมองว่าภาคบริการไม่เพียงจะเป็นกุญแจสำคัญต่อการเติบโตเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน แต่ยังจะเป็นวิธีการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและความร่วมมือระหว่างประเทศ

รู้จักธุรกิจบริการจีน ... ในวันที่เตรียมพร้อมก้าวสู่เวทีโลก โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

จากการประเมินสภาพแวดล้อมทางธุรกิจของธนาคารโลก (World Bank) ในปี 2020 พบว่า จีนถูกจัดอันดับอยู่ที่ 28 ดังนั้น จีนจึงพยายามพัฒนาการเชื่อมโยงข้ามพรมแดนของข้อมูลข่าวสาร เงินทุน และทรัพยากรมนุษย์ ให้มีความเปิดกว้างและโปร่งใสยิ่งขึ้น เพื่อจูงใจนักลงทุนต่างชาติในภาคบริการ

จากแผนงานของพื้นที่นำร่องรอบด้านของปักกิ่ง สะท้อนแนวทางและมาตรการที่สอดคล้องกับของรัฐบาลจีน อาทิ การผ่อนคลายกฎระเบียบด้านการลงทุน การอำนวยความสะดวกการไหลเวียนข้ามประเทศของเงินทุน การดึงดูดคนที่มีพรสวรรค์ การปกป้องคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาและข้อมูล และการพัฒนากระบวนการทางธุรกิจให้เป็นดิจิตัล รวมถึงการลดจำนวนอุตสาหกรรมต้องห้ามใน Negative List

หนึ่งในความพยายามที่จะส่งเสริมการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันระหว่างประเทศของอุตสาหกรรมบริการและการค้าบริการของจีน และยกระดับการปรับโครงสร้างของรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจจีน รวมทั้งให้ปักกิ่งเป็นศูนย์กลางธุรกิจบริการโลก ในปี 2012 คณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์ (Central Committee of the CPC) และคณะรัฐมนตรี (State Council) ก็ได้อนุมัติให้กระทรวงพาณิชย์จีนและรัฐบาลกรุงปักกิ่งร่วมกันเป็นเจ้าภาพจัดงาน “มหกรรมการค้าภาคบริการระหว่างประเทศแห่งชาติจีน” (China International Fair on Trade in Services)

ตลอดเวลาเกือบหนึ่งทศวรรษของการพัฒนางานอย่างต่อเนื่อง CIFTIS ได้กลายเป็นเวทีที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาความร่วมมือในหลายด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกระจายความคิด การเชื่อมโยงอุปทานและอุปสงค์ การแลกเปลี่ยนโอกาสทางธุรกิจ และการส่งเสริมการพัฒนาถ้วนหน้าในภาคการค้าบริการระหว่างประเทศ

CIFTIS ณ กรุงปักกิ่งถือเป็นงานใหญ่และรอบด้านที่สุดในด้านธุรกิจบริการโลก และกลายเป็น 1 ใน 3 เวทีงานมหกรรมที่ใหญ่ที่สุดในจีน ควบคู่กับงานแสดงสินค้าส่งออกและนำเข้าแห่งชาติจีน (China Import and Export Fair) หรืองาน “แคนตันแฟร์” (Canton Fair) ณ นครกวางโจว ซึ่งเป็นงานแสดงสินค้าระหว่างประเทศที่ใหญ่ที่สุดในโลก และงานแสดงสินค้านำเข้าระหว่างประเทศแห่งชาติจีน (China International Import Expo) หรือที่เรียกกันจนติดปากว่า “CIIE” ณ นครเซี่ยงไฮ้ซึ่งถือเป็นงานแสดงสินค้านำเข้าที่ใหญ่ที่สุดในโลก

สำหรับงาน CIFTIS 2021 สี จิ้นผิง ผู้นำจีนได้ประกาศผ่านการประชุมสุดยอดออนไลน์ถึงแผนการจัดตั้งตลาดหลักทรัพย์แห่งใหม่ในช่วงเช้าวันที่ 2 กันยายน ที่ผ่านมา เพื่อมุ่งหวังเดินหน้าปฏิรูปตลาดทุนของประเทศในเชิงลึก

“เราจะเดินหน้าสนับสนุนการสนับสนุนนวัตกรรมของ SMEs ในเชิงลึก จัดตั้ง Beijing Stock Exchange และสร้างเป็นเวทีหลักในการพัฒนา SMEs ด้านนวัตกรรม” สี จิ้นผิงกล่าว

รู้จักธุรกิจบริการจีน ... ในวันที่เตรียมพร้อมก้าวสู่เวทีโลก โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

เพื่อมิให้ไทยตกขบวนรถไฟ “ธุรกิจบริการในจีน” หอการค้าไทยในจีน (Thai Chamber of Commerce in China) ก็เดินหน้าจัดกิจกรรมพิเศษภายในงาน CIFTIS ดังเช่นหลายปีที่ผ่านมา

โดยในปีนี้ หอฯ ได้ร่วมกับสภาส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศแห่งประเทศจีน หรือที่คนไทยเรียกผ่านชื่อย่อว่า “ซีซีพีไอที” (CCPIT) จัดสัมมนาในหัวข้อ “ความร่วมมือการค้าภาคบริการระหว่างไทย-จีน ภายใต้กรอบความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP)” เมื่อวันที่ 3 กันยายน ที่ผ่านมา ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติ กรุงปักกิ่ง

งานสัมมนาในครั้งนี้ยังได้รับการสนับสนุนจากหอการค้าระหว่างประเทศแห่งชาติจีน (CCOIC) และสมาคมการค้าภาคบริการแห่งชาติจีน (CATIS) โดยให้ความสำคัญกับความร่วมมือด้านธุรกิจบริการภายใต้ RCEP ซึ่งกลุ่มสมาชิกได้ลงนามไปเมื่อปลายปี 2020

และที่น่าสนใจก็คือ งานสัมมนานี้จัดขึ้นในรูปแบบของออฟไลน์และออนไลน์ (O2O) ทำให้มีผู้สนใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มผู้ประกอบการในธุรกิจบริการของจีนเข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก โดยงานเริ่มต้นด้วยการกล่าวเปิดงานและต้อนรับผู้เข้าร่วมงานของนายชัยรัตน์ จันทร์หอม รองประธานหอการค้าไทยในจีน

“การค้าบริการเป็นหนึ่งในแรงขับเคลื่อนที่สำคัญสำหรับการเติบโตของความร่วมมือระหว่างไทยและจีน หอการค้าไทยในจีนจึงได้เข้าร่วมจัดกิจกรรมเช่นนี้เป็นเวลา 6 ปีติดต่อกัน เพื่อช่วยยกระดับความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างไทย-จีน ...” นายชัยรัตน์ฯ กล่าว

ขณะที่นายหยู เจียนหลง เลขาธิการ CCPIT ได้กล่าวว่า “การลงนาม RCEP เป็นเหตุการณ์สำคัญของการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ก่อให้เกิดตลาดระดับภูมิภาคขนาดใหญ่ที่เชื่อมถึง 15 ประเทศ ซึ่งจะปรับเปลี่ยนสภาพการทางธุรกิจโดยรวมในภูมิภาคให้เหมาะสม และส่งเสริมการสร้างการค้าที่เกิดจากข้อตกลงการค้าเสรีซึ่งจะช่วยเร่งการปรับปรุงห่วงโซ่อุตสาหกรรม ห่วงโซ่อุปทาน ห่วงโซ่คุณค่าในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ความร่วมมือในภูมิภาค และขยายส่วนแบ่งของความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าระดับภูมิภาค”

หลังจากนั้น นายเบญจมินทร์ สุกาญจนัจที อัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง ในฐานะผู้แทนเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงปักกิ่ง ได้กล่าวว่า “รัฐบาลไทยได้พัฒนารูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจ “ประเทศไทย 4.0” โดยมุ่งเป้าที่จะพลิกโฉมเศรษฐกิจไทยในด้านมูลค่านวัตกรรมและบริการ ควบคู่ไปกับการเติบโตของอุปสงค์ในประเทศและการพัฒนาในภูมิภาค”

“ไทยและจีนได้ร่วมเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้น เพื่อสนับสนุนนโยบายและยุทธศาสตร์ของทั้งสองประเทศ อาทิ ความสอดคล้องของ “ความคิดริเริ่มหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง" และการพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียว”

“โดยเมื่อเร็วๆ นี้ ประเทศไทยได้กำหนดให้ BCG เป็นวาระแห่งชาติ สิ่งนี้ได้ดึงดูดความต้องการและสร้างโอกาสมากขึ้นสำหรับความร่วมมือด้านการค้าบริการของไทย ... RCEP จะช่วยผลักดันและส่งเสริมการส่งออก การลงทุน และขนาดเศรษฐกิจแก่จีน ไทย และสมาชิกกว่า 15 ประเทศ/ภูมิภาค”

นอกจากนี้ ท่านอัครราชทูตฯ ยังฝากข้อคิดทิ้งท้ายอีกว่า “สำหรับบริษัทการค้าบริการจีน-ไทย สิ่งสำคัญอย่างยิ่งก็คือ การเข้าใจและใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่จากบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องของข้อตกลงดังกล่าวเพื่อพัฒนาการค้าบริการในอนาคต”

หลังจากนั้น นางสาวชิยาวรรณ จงวัฒนา อัครราชทูตฝ่ายพาณิชย์ นางสาววันทนา ทาตาล อัครราชทูตที่ปรึกษาสำนักงานส่งเสริมการลงทุน และนางสาวภัคนันท์ วินิจฉัย ผู้อำนวยการสำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานกรุงปักกิ่ง ได้ร่วมบรรยายถึงนโยบายสำคัญของไทย สะท้อนจุดแข็งของภาคบริการของไทย และโอกาสทางธุรกิจด้านการค้าบริการ การลงทุน และการท่องเที่ยวระหว่างไทย-จีน ภายใต้ RCEP

นอกจากนี้ กิจกรรมดังกล่าวยังได้เชิญตัวแทนจากธุรกิจบริการชั้นนำของไทยในหลายด้านขึ้นเข้าร่วมบรรยายเพื่อแนะนำลู่ทางและขยายโอกาสความร่วมมือทางธุรกิจระหว่างไทย-จีน อันได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ สวนอุตสาหกรรม 304 และกรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) หรือ “BDMS” ซึ่งภายหลังการสัมมนา ผู้แทนของภาคเอกชนไทยได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนและผู้เข้าร่วมงานสัมมนาเป็นอย่างมาก ซึ่งคาดว่าจะช่วยยกระดับความร่วมมือระหว่างกันได้ในอนาคต

จีนกำลังเร่งพัฒนาภาคบริการขึ้นเพื่อเตรียมความพร้อมในการก้าวขึ้นเป็นประเทศพัฒนาแล้ว ถึงเวลาหรือยังที่ไทยจะต้องเสริมสร้างความเข้มแข็งของธุรกิจบริการของไทยในตลาดจีน และเกาะเกี่ยวไปกับโอกาสทางธุรกิจภายใต้ RCEP ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต …

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง