จับตาอุตสาหกรรมเกม นำเทคโนโลยี Blockchain มาปรับใช้ วิเคราะห์โดย Zipmex

TNN ONLINE

TNN Exclusive

จับตาอุตสาหกรรมเกม นำเทคโนโลยี Blockchain มาปรับใช้ วิเคราะห์โดย Zipmex

จับตาอุตสาหกรรมเกม นำเทคโนโลยี Blockchain มาปรับใช้ วิเคราะห์โดย Zipmex

อุตสาหกรรมเกม อีกหนึ่งวงการที่น่าจับตามองในการนำเทคโนโลยี Blockchain มาปรับใช้ วิเคราะห์โดย วริศรา สาระขวัญ Research Specialist Zipmex

ก่อนหน้านี้ เราได้เห็นการนำเทคโนโลยี Blockchain ไปปรับใช้ในหลายอุตสาหกรรม ตัวอย่างเช่น อุตสากรรมการเงิน การฝาก โอน หรือการกู้เงิน เป็นต้น และอีกหนึ่งอุตสากรรมที่เป็นที่น่าจับตามอง นั่นคือ ‘อุตสาหกรรมเกม’ ซึ่งเป็นที่จับตามองของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องหลายฝ่าย ทั้งผู้พัฒนา ผู้เล่มเกม และนักลงทุน เนื่องด้วยเม็ดเงินของอุตสาหกรรมเกมมีมูลค่ามหาศาล ข้อมูลอ้างอิงจาก Newzoo พบว่า นับตั้งแต่ปี 2019 แนวโน้มการเติบโตของอุตสาหกรรมเกมทั่วโลกยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง และในปี 2023 คาดว่าจะมีเม็ดเงินที่เข้ามาในอุตสาหกรรมนี้ประมาณ 204,600 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 6,000 ล้านบาท นอกจากนั้น การนำเทคโนโลยี Blockchain มาปรับใช้ยังขึ้นอยู่กับการออกแบบระบบนิเวศ (Ecosystem) ภายในเกม ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับทั้ง Fungible และ Non-Fungible

จับตาอุตสาหกรรมเกม นำเทคโนโลยี Blockchain มาปรับใช้ วิเคราะห์โดย Zipmex

ภาพแสดง คาดการณ์เม็ดเงินในอุตสาหกรรมเกมทั่วโลก ข้อมูลอ้างอิงจาก Newzoo


กรณีศึกษาการนำเทคโนโลยี Blockchain มาปรับใช้ในอุตสาหกรรมเกม

การนำเทคโนโลยี Blockchain ไปปรับใช้ในแต่ละอุตสาหกรรมนั้น ขึ้นอยู่กับการออกแบบระบบนิเวศ (Ecosystem) อย่างในอุตสาหกรรมเกม พบว่า มีการนำมาปรับใช้ในหลายส่วน ทั้งสินทรัพย์ที่เป็นประเภท Fungible และสินทรัพย์ประเภท Non-Fungible ซึ่งมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

  • สินทรัพย์ประเภท Fungible

Fungible เป็นการอธิบายถึงสินทรัพย์ที่สามารถนำมาแลกเปลี่ยนกันได้ กล่าวคือ เมื่อมีการแลกเปลี่ยนกันเกิดขึ้น การแลกเปลี่ยนจะยังคงได้สินทรัพย์ที่มีลักษณะเหมือนเดิมกลับมา ตัวอย่างเช่น ธนบัตร หรือหากเป็นคริปโตฯ อาจหมายถึง Bitcoin, Ether หรือเหรียญอื่นๆ นอกจากนั้น ยังมีข้อสังเกตเพิ่มเติม คือ สิ่งเหล่านี้สามารถแลกเปลี่ยนกันเป็นหน่วยย่อยได้ เช่น เมื่อนำธนบัตร 100 บาท อาจนำมาแลกธนบัตร 20 บาทได้ 5 ใบ หรือ Bitcoin ที่สามารถซื้อขายกันเป็นหน่วยย่อยได้

การนำมาปรับใช้ในอุตสาหกรรมเกม ผู้พัฒนาเกมอาจสร้างเหรียญขึ้นมาใช้ภายในเกมได้ นอกจากนั้น ยังสามารถเพิ่มฟีเจอร์หรือสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ เข้าไปได้อีกด้วย เพื่อเพิ่มความน่าสนใจให้กับเกมที่สร้าง ตัวอย่างเช่น การที่ผู้ถือครองเหรียญของแพลตฟอร์มเกมนั้น สามารถมีสิทธิในการโหวตหรือเสนอข้อปฏิบัติต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นภายในเกม หรือการที่สามารถนำเหรียญนั้น มา Staking กับแพลตฟอร์มได้ กล่าวคือ สามารถนำเหรียญมาฝากเพื่อรับโบนัสตามที่มีการกำหนดไว้ได้ อาจเรียกได้ว่า เป็นการเล่นเกมที่ได้เงิน ก็เป็นได้

นอกจากการใช้ภายในแพลตฟอร์มเกมแล้ว เหรียญส่วนใหญ่ยังสามารถซื้อขายแลกเปลี่ยนกันบนศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลได้อีกด้วย ตัวอย่างเช่น กรณีของเหรียญ SAND เป็นเหรียญที่ใช้ในเกม The Sandbox นั้น สามารถซื้อขายได้บนศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล Zipmex จะเห็นได้ว่า ผู้ที่ถือครองเหรียญสามารถลงทุนได้ทั้งในเกมและในโลกแห่งความจริงได้ไปพร้อม ๆ กัน

  • สินทรัพย์ประเภท Non-Fungible

Non-Fungible เป็นสินทรัพย์ที่มีลักษณะตรงกันข้ามกับ Fungible กล่าวคือ เป็นสินทรัพย์ที่ไม่สามารถแลกเปลี่ยนกันได้ และยังเป็นสินทรัพย์ที่มีลักษณะเฉพาะเจาะจงอีกด้วย ตัวอย่างเช่น งานศิลปะ ภาพวาด คลิปวิดีโอ เป็นต้น ซึ่งการนำเทคโนโลยี Blockchain มาปรับใช้ ยิ่งช่วยให้ผู้สร้างและนักลงทุนในเรื่องการแสดงความเป็นเจ้าของของผลงาน รวมไปถึงต้นทุนและมาตรการการรักษาความปลอดภัยได้อีกด้วย ซึ่งในปัจจุบันเราจะเห็นว่า สินทรัพย์ประเภท Non-Fungible (NFT) ได้รับความนิยมจากทั้งผู้สร้างผลงานและนักลงทุน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ต่างพอกันออกผลงานที่เกี่ยวข้องกับ NFT

หากสังเกตในเกม จะพบว่า สินทรัพย์ประเภทนี้มีอยู่ในเกมอยู่แล้ว เช่น ตัวละคร อุปกรณ์ต่าง ๆ หรือที่ดินภายในเกมก็ตาม ล้วนแล้วแต่เข้าข่ายเงื่อนไขของสินทรัพย์ประเภท Non-Fungible ทั้งสิ้น นั่นทำให้มีการนำ NFT มาปรับใช้ ซึ่งนอกจากเรื่องการแสดงความเป็นเจ้าของแล้ว ส่วนใหญ่จะมีการสร้าง Marketplace ขึ้นภายในแพลตฟอร์มเกม เพื่อทำให้เกิดการซื้อขายแลกเปลี่ยน NFT กันได้ภายในเกม ซึ่งทำให้ผู้ซื้อและผู้ขายมีความสะดวกในการแลกเปลี่ยนกันมากยิ่งขึ้น

บางแพลตฟอร์มยังสามารถนำ NFT ภายในเกม นำไปขายบน NFT Marketplace อื่น ๆ ได้อีกด้วย ตัวอย่างเช่น ที่ดินและตัวละครในเกม The Sandbox สร้างบน Ethereum Blockchain ทำให้สามารถนำ NFT ดังกล่าว ไปซื้อขายแลกเปลี่ยนกันบน OpenSea ซึ่งเป็น NFT Marketplace นอกจากนั้น บางแพลตฟอร์มยังสามารถให้ผู้เล่นเกม สามารถสร้างสิ่งต่าง ๆ ภายในเกมได้อีกด้วย


กล่าวโดยสรุป อุตสาหกรรมเกม นับเป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่น่าจับตามองเป็นอย่างมาก ในการนำเทคโนโลยี Blockchain มาปรับใช้ เนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมที่มีเม็ดเงินที่มหาศาล นอกจากนั้น การนำเทคโนโลยี Blockchain มาปรับใช้ ทำให้การออกแบบระบบนิเวศของเกม มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้นและตอบสนองความต้องการของผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งผู้พัฒนา ผู้เล่นเกม และนักลงทุน




ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง