TNN online เช็กเลย!มาตรการภาษีบรรเทาผลกระทบโควิด-19 ระลอก3 มีอะไรบ้าง??

TNN ONLINE

TNN Exclusive

เช็กเลย!มาตรการภาษีบรรเทาผลกระทบโควิด-19 ระลอก3 มีอะไรบ้าง??

เช็กเลย!มาตรการภาษีบรรเทาผลกระทบโควิด-19 ระลอก3 มีอะไรบ้าง??

เปิด 5 มาตรการภาษีจากภาครัฐ เพื่อบรรเทาผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 ให้กับประชาชน ผู้ประกอบการฝ่าวิกฤต

ช่วงวิกฤตโควิด-19 ภาครัฐได้ออกมาตรการเพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบให้กับประชาชน รวมถึงผู้ประกอบการ ภาคธุรกิจต่างๆ โดยกรมภาษีอย่าง "สรรพากร" ก็เป็นอีกหนึ่งหน่วยงานที่ออกมาตรการมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งการขยายเวลาการ "ยื่นภาษี" ประเภทต่างๆ ออกไปทั้ง  "ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย" "ภาษีมูลค่าเพิ่ม" และ "ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา"  เพื่อช่วยบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายให้ประชาชนได้ไม่มากก็น้อย  ขณะเดียวกันยังมีมาตรการสนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs ให้หักค่าใช้จ่ายได้ 2 เท่าสำหรับค่าซื้อหรือจ้างทำโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่จ่ายให้ผู้ขายหรือผู้รับจ้างทำหรือผู้ให้บริการที่ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล เฉพาะในส่วนที่ไม่เกิน 1 แสนบาทได้ด้วย 

โดยรายละเอียดของมาตรการด้านภาษีต่างๆมีดังนี้

 1. ขยายเวลา "ยื่นภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย" 

การชำระภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย (แบบ ภ.ง.ด. 1, แบบ ภ.ง.ด.2, แบบ ภ.ง.ด.3, แบบ ภ.ง.ด. 53 และแบบ ภ.ง.ด. 54) ขยายเวลาการยื่นแบบฯ ถึงวันสุดท้ายของเดือนที่ต้องยื่นแบบฯ โดยให้เริ่มขยายเวลาสำหรับการยื่นแบบฯ ในเดือน ก.พ. 64 ถึง 30 มิ.ย. 64

 2. ขยายเวลา "ยื่นภาษีมูลค่าเพิ่ม" 

ภาษีมูลค่าเพิ่ม (แบบ ภ.พ.30 และแบบ ภ.พ.36) ขยายเวลาการยื่นแบบฯ ถึงวันสุดท้ายของเดือนที่ต้องยื่นแบบฯ โดยให้เริ่มขยายเวลาสำหรับการยื่นแบบฯ ในเดือน ก.พ. 64 ถึงเดือน มิ.ย. 64 เฉพาะแบบที่ยื่นผ่านอินเทอร์เน็ต

ทั้งนี้ เฉพาะผู้ที่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีผ่านอินเทอร์เน็ต โดยสามารถยื่นแบบฯ และชำระภาษีได้จนถึงวันสุดท้ายของเดือนที่ต้องยื่นแบบฯ นั้นๆ 

 3. ขยายเวลา "ยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา" 

ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จากเดิมที่ต้องยื่นภายในเดือน มี.ค. 64 ให้ยื่นภายใน 30 มิ.ย. 64 เฉพาะแบบที่ยื่นทางอินเทอร์เน็ต ผ่านเว็บไซต์ของกรมสรรพากร เท่านั้น เช็กเลย!มาตรการภาษีบรรเทาผลกระทบโควิด-19 ระลอก3 มีอะไรบ้าง??

 4. สนับสนุน SMEs ยุคดิจิทัลสู้โควิด-19 

เมื่อวันที่ 11 พ.ค. 64ที่ผ่านมา  คณะรัฐมนตรีเห็นชอบหลักการ ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs) ปรับเปลี่ยนธุรกิจสู่เศรษฐกิจดิจิทัล) ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ โดยมีรายละเอียด ดังนี้

1. ยกเว้นภาษีเงินได้ ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งมีทุนที่ชำระแล้ว ในวันสุดท้าย ของรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกินห้าล้านบาท และมีรายได้จากการขายสินค้าและการให้บริการในรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกินสามสิบล้านบาท ให้สามารถหักรายจ่ายได้ 2 เท่า สำหรับรายจ่ายที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้อ หรือจ้างทำโปรแกรมคอมพิวเตอร์ หรือซอฟต์แวร์ (Software) หรือค่าใช้บริการโปรแกรมคอมพิวเตอร์ หรือซอฟต์แวร์ (Software) ให้แก่ผู้ขายหรือผู้รับจ้างทำโปรแกรมคอมพิวเตอร์ หรือซอฟต์แวร์ (Software) หรือ ผู้ให้บริการโปรแกรมคอมพิวเตอร์ หรือซอฟต์แวร์ (Software) ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจากสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล เฉพาะในส่วน ที่ไม่เกิน 100,000 บาท สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2564 แต่ไม่เกินวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2565 ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด

2. บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ที่จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ตามข้อ 1 ต้องไม่ได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน กฎหมายว่าด้วยการเพิ่มขีดความสามารถ ในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย กฎหมายว่าด้วยเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ สิทธิประโยชน์ทางภาษีที่เกี่ยวข้องกับโปรแกรมคอมพิวเตอร์ หรือซอฟต์แวร์ (Software) นั้น ตามพระราชกฤษฎีกา ที่ออกตามความในประมวลรัษฎากร ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน

3. โปรแกรมคอมพิวเตอร์ หรือซอฟต์แวร์ (Software) หมายความว่า โปรแกรมหรือชุดคำสั่ง ที่ใช้ควบคุมการทำงานของเครื่องคอมพิวเตอร์หรือฮาร์ดแวร์หรืออุปกรณ์ ที่ใช้ในการบริหารจัดการธุรกิจด้านต่างๆ เช่น โปรแกรมที่ใช้ในองค์กร โปรแกรมสมองกลฝังตัว โปรแกรมด้านการวิเคราะห์และประมวลผลข้อมูลขนาดใหญ่ โปรแกรมที่ใช้ในการควบคุมและหรือเชื่อมโยงอุปกรณ์ที่ใช้ในการควบคุมและหรือเชื่อมโยงอุปกรณ์ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงโปรแกรมที่ใช้ในงานสนับสนุนการผลิต รวมไปถึงโปรแกรมที่ให้บริการในรูปแบบโปรแกรมบริการ (Software as a Service : SaaS) ที่ผู้ใช้สามารถเรียกใช้บริการได้ตามความต้องการใช้งาน โดยทั่วไปโปรแกรมบริการนี้จะถูกจัดเก็บ อยู่บนเครื่องแม่ข่าย (Server) ของผู้ให้บริการที่ผู้ใช้บริการ ให้สามารถเรียกใช้บริการผ่านอินเทอร์เน็ตหรือเป็นโปรแกรม ที่จะถูกดาวน์โหลดลงสู่ตัวเครื่องของผู้ใช้บริการโดยผู้ใช้บริการสามารถใช้งานได้ช่วงระยะเวลาหนึ่งตามที่กำหนด เมื่อครบระยะเวลาที่กำหนดก็จะไม่สามารถเข้าใช้โปรแกรมดังกล่าวได้อีกต่อไป

ทั้งนี้ สำหรับรอบบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม 2564 แต่ไม่เกินวันที่ 31 ธันวาคม 2565 เป็นไปตามหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขประกาศอธิบดีกรมสรรพากร

เช็กเลย!มาตรการภาษีบรรเทาผลกระทบโควิด-19 ระลอก3 มีอะไรบ้าง??

5.ยกเว้นภาษีให้ผู้ประกอบการร่วมโครงการ"พักทรัพย์-พักหนี้"

ล่าสุด( วันที่ 18พ.ค.64 ) คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติหลักการมาตรการภาษีอากรสนับสนุนการรับโอนทรัพย์สินหลักประกันเพื่อชำระหนี้ โดยการยกเว้นภาษีอากรและการผ่อนปรนหลักเกณฑ์การจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้สำหรับการดำเนินมาตรการสนับสนุนการรับโอนทรัพย์สินหลักประกันเพื่อชำระหนี้ตามพระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2562 (พักทรัพย์ พักหนี้ ) ซึ่งจะช่วยลดภาระภาษีอากรที่เกิดจากการดำเนินการตามมาตรการสนับสนุนการรับโอนทรัพย์สินหลักประกัน สามารถโอนทรัพย์สินชำระหนี้แก่สถาบันการเงินโดยมีเงื่อนไขซื้อคืนในราคาที่โอนไปและมีสิทธิเช่าทรัพย์นั้นกลับไปใช้ประกอบธุรกิจ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดสภาวะขาดสภาพคล่องหรือผิดนัดชำระหนี้

โดยร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. และร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ….) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้(มาตรการภาษีอากรสนับสนุนการรับโอนทรัพย์สินหลักประกันเพื่อชำระหนี้) ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ มีรายละเอียดดังนี้

  • ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....

-  ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่ลูกหนี้ของสถาบันการเงิน สำหรับเงินได้ที่ได้รับจากการปลดหนี้ของสถาบันการเงิน อันเนื่องมาจากมาตรการสนับสนุนการรับโอนทรัพย์สินหลักประกันเพื่อชำระหนี้ตามพระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจฯ 

ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด

-  ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ให้แก่ลูกหนี้ของสถาบันการเงินและสถาบันการเงิน สำหรับการโอนทรัพย์สิน การขายสินค้า และการกระทำตราสาร อันเนื่องมาจากมาตรการสนับสนุนการรับโอนทรัพย์สินหลักประกันเพื่อชำระหนี้ตาม พระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจฯ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข

ที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด

  •  กฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ....) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ โดยกำหนดให้การจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ของสถาบันการเงินในส่วนของหนี้ที่สถาบันการเงินได้ปลดหนี้ให้แก่ลูกหนี้ อันเนื่องมาจากมาตรการสนับสนุนการรับโอนทรัพย์สินหลักประกันเพื่อชำระหนี้ตามพระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจฯ กระทำได้โดยไม่ต้องดำเนินการตามหลักเกณฑ์ปกติ”

ทั้งนี้ กระทรวงการคลังได้ประมาณการการสูญเสียรายได้จากมาตรการนี้เป็นเงินจำนวน 12,000 ล้านบาท แต่คาดว่าจะมีประโยชน์ที่คุ้มค่า คือ ผู้ประกอบการธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019 (โควิด-19) มีภาระทางการเงินลดลง และมีโอกาสที่จะซื้อทรัพย์สินคืนเพื่อดำเนินธุรกิจต่อไปในราคาที่ไม่สูงเกินจริง เมื่อสถานการณ์การระบาดคลี่คลายลง และยังลดโอกาสที่ผู้ประกอบการธุรกิจจะถูกกดราคาทรัพย์สิน ในกรณีที่มีความต้องการขายทรัพย์สินให้แก่กลุ่มทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อชำระหนี้แก่สถาบันการเงิน

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง