ประสบการณ์การทำธุรกิจในแดนมังกร ตอนจบ โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

TNN ONLINE

TNN Exclusive

ประสบการณ์การทำธุรกิจในแดนมังกร ตอนจบ โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

ประสบการณ์การทำธุรกิจในแดนมังกร ตอนจบ โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

ประสบการณ์การทำธุรกิจในแดนมังกร ตอนจบ โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน

เราไปไขความลับกันถึงโอกาสทางเศรษฐกิจของไทยในจีน และการแก้ไขปัญหาเรื่องคน รวมทั้งแง่มุมจากประเด็นคำถามของผู้เข้าร่วมสัมมนากันต่อเลยครับ ...

เมื่อถามถึงว่าพื้นที่ใดในจีนที่เหมาะสมสำหรับการเข้าไปลงทุน ท่านธนากรฯ ก็พูดถึง 2 พื้นที่สำคัญของจีน อันได้แก่ หนึ่ง บริเวณภาคใต้ของจีน อันได้แก่ ฉงชิ่ง เสฉวน ยูนนาน กวางสี และกุ้ยโจว ซึ่งมีประชากรรวมราว 250 ล้านคน และมีขนาดใหญ่กว่าไทยราว 3-4 เท่าในเชิงภูมิศาสตร์

วัฒนธรรมของคนในพื้นที่นี้กับไทยก็ใกล้เคียงกัน และมีความต้องการสินค้าและบริการคล้ายคลึงกันอีกด้วย นอกจากนี้ ภาคใต้ของจีนมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ถึง 2.1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือใหญ่กว่าไทยราว 4 เท่า และมีรายได้เฉลี่ยต่อหัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีกำลังซื้อสูงขึ้นไปด้วย


ประสบการณ์การทำธุรกิจในแดนมังกร ตอนจบ โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร


ท่านธนากรฯ เปรยว่า คนจีนที่อาศัยอยู่บริเวณนี้เดินทางไปปักกิ่งลำบากและนานกว่ามาไทยเสียอีก ดังนั้น เมื่อโครงข่ายเส้นทางความเร็วสูงที่เชื่อมโยงจีน-ลาว-ไทย-มาเลเซีย-สิงคโปร์ สร้างเสร็จ จะนำความเจริญมาให้อย่างมากมาย ทั้งการท่องเที่ยว การค้า และการลงทุน ขอเพียงรถไฟความเร็วสูงสร้างเสร็จ ก็จะเป็นโอกาสของเรา

หลายคนกลัวว่าเมื่อรถไฟความเร็วสูงสร้างเสร็จ เราจะยิ่งเสียเปรียบ จีนจะมาโกยความมั่งคั่งของไทยไปหมด

แต่ท่านธนากรฯ มีมุมมองเชิงบวกในเรื่องนี้ โดยแนะนำว่า ในด้านหนึ่ง กิจการของจีนก็มาบุกตลาดที่ไทย นักธุรกิจไทยก็ควรกล้าที่จะรับมือกับคู่แข่งรายใหม่จากจีน และรู้จักการประเมินตน หากประเมินแล้วคิดว่าไม่สามารถต่อสู้กับคู่แข่งรายใหม่จากจีนได้ จีนก็ต้องการหุ้นส่วนที่ดีในไทย ผู้ประกอบการไทยจึงควรหาโอกาสร่วมมือกับธุรกิจจีนเพื่อเติบโตไปด้วยกัน

ในอีกด้านหนึ่ง นักธุรกิจไทยควรกล้าที่จะไปบุกตลาดจีน ไปเอาประโยชน์จากฐานะที่ดีขึ้นของคนจีน จีนมีตลาดใหญ่มากที่ต้องการสินค้าไทย โดยควรเลือกพื้นที่ที่เหมาะสมที่จะส่งออกหรือไปลงทุน “ทำไมเราไม่คิดไปโกยที่เมืองจีนกลับมา ผมไปโกยมา 40 ปีแล้ว จีนทำได้ เราก็ต้องทำได้”

จงหยวนเป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่เติบโตเร็ว และมีศักยภาพสูง ซึ่งมีประชากรมากกว่าไทย 2-3 เท่า เฉพาะลั่วหยางก็มีนักท่องเที่ยวถึงปีละ 120 ล้านคนที่ไปเยือนสถานที่ท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมมากมายในแถบนั้น รวมทั้งเทศกาลดอกโบตั๋นที่โด่งดัง จึงเป็นตลาดที่ใหญ่มาก

ในช่วงที่ผ่านมา เจิ้งโจวถูกกำหนดเป็นศูนย์กลางการพัฒนาในย่านนั้น โดยได้พัฒนาโครงข่ายการขนส่งออกไปเชื่อมโยงกับพื้นที่ภายนอกไม่ใช่แค่ 4 ทิศ แต่มากถึง 8 ทิศ รวมทั้งยังเป็นชุมทางของเส้นทางสายไหมที่เชื่อมต่อไปยังยุโรปอีกด้วย

การลงทุนพัฒนาเส้นทางรถไฟเชื่อมจีนและยุโรปตามนโยบายเส้นทางสายไหมในช่วงหลายปีที่ผ่านมา สร้างประโยชน์ให้กับจีนหลายด้าน

ประการแรก ประโยชน์ในด้านการส่งออก จีนจะได้รับความสะดวกอย่างมากในการเคลื่อนย้ายสินค้าไปยังตลาดเป้าหมาย โดยสามารถขนส่งสินค้าไปยุโรปโดยใช้เวลา 14 วัน เทียบกับการขนส่งทางทะเลอ้อมแหลมมลายูที่ใช้ถึง 40-45 วัน

ประการที่สอง ประโยชน์ในเชิงยุทธศาสตร์ จีนให้ความสำคัญกับพื้นที่แถบนี้ ยกตัวอย่างเช่น การนำเข้าน้ำมันจากตะวันออกกลางถึงปีละ 500 ล้านตัน ซึ่งมากที่สุดในโลก ดังนั้น จีนจึงทำรถไฟเส้นหนึ่งจากจีนไปตะวันออกกลาง

นอกจากนี้ จีนยังต้องการเชื่อมลงมาทางตอนใต้ จีนลงทุนเดินท่อน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจากจ้าวผิ่ว เข้ามามัณฑะเลย์ และเชื่อมมาถึงรุ่ยลี่ มณฑลยูนนาน ซึ่งจะช่วยลดสี่ยงของการขาดแคลนพลังงาน

อย่างไรก็ดี ท่านธนากรฯ มองว่า ในการเข้าไปทำธุรกิจในจีน กิจการของไทยเสียเปรียบในเรื่องภาษา และหลักการบริหารแบบใหม่


ประสบการณ์การทำธุรกิจในแดนมังกร ตอนจบ โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร


ในอดีต การแสวงหาคนไทยที่มีความรู้ความชำนาญในด้านนี้ค่อนข้างยาก การให้ผลตอบแทนสูงถึงสองเท่าก็อาจไม่จูงใจ คนไทยมีลักษณะนิสัยที่รักบ้าน และกลัวลำบาก จึงไม่ชอบไปใช้ชีวิตในต่างประเทศ ทำให้ในอดีต ซีพีต้องไปหาคนไต้หวัน คนฮ่องกง และคนจากมาเลเซีย อินโดนีเซีย และสิงคโปร์มาช่วยงาน

แต่ท่านธนากรฯ ก็มองว่า ปัญหานี้จะลดลงในอนาคต เพราะในวันนี้จีนเจริญขึ้นมามาก ไม่ลำบากเหมือนสมัยก่อน และมีเด็กไทยไปศึกษาต่อในจีนเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก

อย่างไรก็ดี ประเทศไทยก็ควรให้ความสำคัญกับการพัฒนาด้านภาษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาษาอังกฤษ และภาษาจีน เมื่อจีนเปิดประเทศ และรถไฟสร้างเสร็จ จะได้เป็นโอกาสของไทย

ท่านธนากรฯ ยังเปิดเผยอีกว่า ในช่วงหลายปีหลัง ซีพีให้ความสำคัญกับการผลิตบุคลากรที่มีความชำนาญในด้านภาษาและวัฒนธรรมจีน ผ่านสถาบันการศึกษา และองค์กรไม่แสวงหากำไรอื่นในไทย ลองนึกดูว่า ถ้าช่างเทคนิคไทยที่สามารถสื่อสารภาษาจีนเบื้องต้นได้ก็จะสามารถได้รับค่าจ้างในอัตราที่สูงขึ้น และมีความมั่นคงในอาชีพการงาน

ในทางกลับกัน ซีพีก็เชิญให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไปร่วมมือกับ Shanghai International Studies University ทำหลักสูตรภาษาไทยในจีน เพื่อให้คนจีนได้เรียนรู้ภาษาไทย ซึ่งวันนี้ก็มีศิษย์เก่ากว่า 100 คนแล้ว

ท่านธนากรฯ เชื่อมั่นว่า การค้าการลงทุนระหว่างไทย-จีนน่าจะเพิ่มขึ้นอีกมากในอนาคต แน่นอนว่า บุคลากรเหล่านี้จะสร้างความสะดวกและเป็นประโยชน์ต่อกิจการของไทยที่เข้าลงทุนในจีน และกิจการจีนที่จะเข้ามาลงทุนในไทย

หลังจากที่ท่านธนากรฯ กล่าวจบ ก็ตามมาด้วยคำถามมากมายตามมา ผมขอสรุปคำถามและสาระของคำตอบดังนี้ครับ ...

ต่อประเด็นข้อห่วงใยว่า เมื่อจีนเป็นมหาอำนาจแล้ว จีนจะเป็นนักเลงโตรายใหม่ของโลกหรือไม่นั้น ท่านธนากรฯ เห็นว่า จากประวัติศาสตร์ของจีน ชาวฮั่นไม่เคยไปรุกรานใคร ในยุคที่ไปขยายอาณาเขตถึงยุโรป ก็เป็นชาวมองโกล และในอนาคต จีนคงจะไม่ไปรุกรานใคร แต่ก็จะไม่ยอมให้คนอื่นมารุกรานหรือรังแกดังเช่นในอดีตเช่นกัน การประชุมที่แองเคอร์เรจ อลาสก้า ก็สะท้อนจุดยืนในเรื่องดังกล่าว

เมื่อถามถึงโอกาสทางธุรกิจของไทยในจีน ท่านธนากรฯ แนะนำให้ประมินความพร้อมของตัวเราเองก่อน ควบคู่ไปกับการศึกษาตลาดจีนให้ถ่องแท้

โอกาสในพื้นที่ทางตอนใต้และจงหยวนที่เกริ่นไปก่อนหน้านี้ก็น่าสนใจมาก และหากเราจะเข้าไปบุกตลาดในพื้นที่ที่มีความเจริญอย่างเซี่ยงไฮ้ เทียนจิน หังโจว ที่มีรายได้เฉลี่ยมากกว่าไทยราว 5 เท่า ก็คือ บริการ ซึ่งคนไทยเราเก่งมาก อาทิ ร้านอาหาร การท่องเที่ยว และการอำนวยความสะดวก


ประสบการณ์การทำธุรกิจในแดนมังกร ตอนจบ โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร


ปัจจุบัน จีนมีผู้สูงอายุอยู่ราว 250 ล้านคน รุ่นลูกมีฐานะดี แต่ไม่มีเวลาดูแลพ่อแม่ ถ้าพร้อม เราก็อาจทำธุรกิจศูนย์สุขภาพ โดยร่วมมือกับจีน ธุรกิจจีนยังจะต้องการหุ้นส่วนและบุคลากรที่มีความรู้เรื่องกฎหมาย และวัฒนธรรมไทยอยู่อีกมาก และการมาลงทุนในไทยในอนาคตจะไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะกิจการขนาดใหญ่เท่านั้น “ไม่ใช่แค่ยักษ์ใหญ่จะมาไทย แต่ยักษ์เล็กก็จะมา”

การให้ความสำคัญกับเรื่องคุณภาพก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ควรใส่ใจ การทำล้งผลไม้เป็นตัวอย่างหนึ่งที่คนจีนอยากควบคุมคุณภาพการส่งออก หรือการว่าจ้างคนจีนช่วยตรวจสอบคุณภาพชิ้นส่วนจักรยานยนต์ที่ผลิตในจีนก่อนส่งไปเมียนมาร์

ต่อประเด็นเรื่องการพัฒนางานของโรตารี่และองค์กรไม่แสวงหากำไรกับจีน ท่านธนากรฯ ออกตัวก่อนว่า ท่านมีความรู้เรื่องนี้น้อยมาก แต่ก็ให้ข้อคิดเห็นที่น่าสนใจว่า โอกาสในการพัฒนาความร่วมมือมีอยู่ แต่ต้องระวังอย่าไปยุ่งเกี่ยวกับเรื่องการเมือง เพราะรัฐบาลจีนถือเป็นเรื่องที่อ่อนไหวต่อความรู้สึกมาก

นอกจากนี้ ผู้เข้าร่วมสัมมนาก็ยังกังวลใจว่า ไทยจะได้รับประโยชน์จากการถ่ายทอดเทคโนโลยีและอื่นๆ อะไรจากจีน เพื่อสร้างงานและสร้างอาชีพให้แก่คนไทยบ้าง

ซีพีร่วมมือกับ SAIC ผลิตรถยนต์ MG มาราว 7 ปี เราก็เห็นตรงกันว่า ชิ้นส่วนหรืองานอะไรที่คนไทยทำได้ ก็ให้คนไทยทำ เพื่อลดต้นค่าใช้จ่าย และเสริมสร้างความแข็งแกร่งของห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งดีกว่าการให้บริษัทร่วมทุนเอามาทำเอง เพราะมีความยุ่งยากมาก ทั้งเรื่องทัศนคติ และวัฒนธรรม

แต่ก็มีบางกรณี ที่กิจการขนาดเล็กของจีน “เสี่ยวเหลาปั่น” เข้ามาแบบตีหัวเข้าบ้าน ทำให้จีนเสียภาพลักษณ์ แต่ในกรณีของรัฐวิสาหกิจของจีนอย่าง SAIC ที่เป็นรายใหญ่และมาพร้อมกับหน้าตาของประเทศ จึงไม่กล้าทำอะไรไม่ดี สะเปะสะปะ

กิจการรายใหญ่เหล่านี้มีเงินทุนหนา และพัฒนาขีดความสามารถอย่างจริงจัง อาทิ ภายหลังการเทคโอเวอร์กิจการจากอังกฤษ MG ก็ทุ่มทุนก่อสร้างศูนย์วิจัยและพัฒนาในเซี่ยงไฮ้ถึงกว่า 20,000 ล้านหยวน และให้ทีมงานเดินทางไปมาระหว่างเซี่ยงไฮ้และอังกฤษเพื่อต่อยอดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

การเลี้ยงไก่ของซีพีในจีนก็เช่นกัน ซีพีก็ไม่ได้ทำเองทั้งหมด แต่เปิดให้คนจีนมาร่วมมือกัน จึงแนะนำว่าคนไทยควรตั้งใจและศึกษาเรียนรู้เทคโนโลยีให้มาก ซึ่งจะทำให้มีโอกาสทางธุรกิจอีกมากในอนาคต

คำถามสำคัญก็คือ ที่ผ่านมา นักธุรกิจไทยที่ไปลงทุนในจีน ส่วนใหญ่ขาดทุนตลอด มองไม่ออกว่าจะลงทุนด้านไหนดี หรือจะร่วมลงทุนได้อย่างไร


ประสบการณ์การทำธุรกิจในแดนมังกร ตอนจบ โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร


ท่านธนากรฯ ให้ข้อคิดว่า เราต้องใช้แมวจีนจับหนูจีน หรือว่าจ้างคนจีนให้เราในการลงทุนที่จีน ถ้าได้คนที่สื่อสารภาษาจีนได้ จะทำให้งานสะดวกมากขึ้น เพราะบางเรื่องพูดผ่านล่ามไม่ได้ อย่างซีพีมีพนักงาน 120,000 คนในจีน มีเพียงไม่ถึง 300 คนเท่านั้นที่เป็นคนไทย ซึ่งช่วยดูแลสองส่วนงานสำคัญ คือ ด้านการเงินและบัญชี และด้านวิชาการและเทคนิค

การจะดึงดูดคนเหล่านี้ให้ทำงานอยู่กับกิจการร่วมทุนของเราก็เป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งเราใช้วิธีให้ผลตอบแทนที่สูงมาก อย่างในมณฑลเสฉวน ก็หาคนเก่งยากมาก ครั้นจ้างคนมาเลเซีย หรือสิงคโปร์ที่มีความเข้าใจในวัฒนธรรมและภาษาจีน แต่ครั้นอยู่ 2-3 ปี เริ่มเข้าใจงานก็จะขอย้ายกลับบ้าน เราก็ต้องหาคนใหม่อีก

ดูเหมือนเวลาหนึ่งชั่วโมงครึ่งแห่งคุณภาพผ่านไปอย่างรวดเร็วจริงๆ เพราะตลอดการบรรยาย และตอบคำถาม ทุกคนตั้งใจฟังอย่างใจจดจ่อ และผมเชื่อว่ายังมีอีกหลายคำถามที่ผุดขึ้นในหัวผู้เข้าร่วมสัมมนา

หลังช่วงเวลาของการถามตอบสิ้นสุดลง ผู้เข้าร่วมสัมมนาก็พร้อมใจกันลุกขึ้นปรบมืออย่างยาวนาน เหมือนอยากจะขอให้ท่านธนากรฯ บรรยายต่อก็ไม่ปาน ...

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง