เมื่อมังกรครองโลกการชำระเงินดิจิตัล โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

TNN ONLINE

TNN Exclusive

เมื่อมังกรครองโลกการชำระเงินดิจิตัล โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

เมื่อมังกรครองโลกการชำระเงินดิจิตัล โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

เมื่อมังกรครองโลกการชำระเงินดิจิตัล หลังแบ้งค์ชาติจีนวิจัยและพัฒนาเงินดิจิตัล (Digital Currency) และระบบการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Payment) และเริ่มทดลองใช้นับแต่กลางปีที่ผ่านมา

เมื่อปลายปีที่ผ่านมา ผู้ใหญ่ท่านหนึ่งกรุณาส่งบทความ “How China leads in evolution of digital-era money, payments” ที่สะท้อนมุมมองและความคิดเห็นของโจ เสี่ยวชวน อดีตผู้ว่าการแบ้งค์ชาติจีน ในโอกาสไปพูดในงานสัมมนาที่มหาวิทยาลัยปักกิ่ง ซึ่งมีแง่มุมที่น่าสนใจมากมาย แต่ที่ผ่านมาก็มีเรื่องร้อนอื่นเข้ามาแทรกอยู่ตลอด วันนี้ได้โอกาสดี ผมเลยจะขอพาไปถอดรหัสกัน ...


ก่อนหน้านี้ แบ้งค์ชาติจีนได้วิจัยและพัฒนาเงินดิจิตัล (Digital Currency) และระบบการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Payment) ที่บางคนชอบเรียกระบบที่เชื่อมโยงกันดั่งหยินหยางในตัวย่อว่า DC/EP มาระยะหนึ่ง และเริ่มทดลองใช้นับแต่กลางปีที่ผ่านมา


อดีตผู้ว่าการแบ้งค์ชาติอธิบายว่า ระบบ DC/EP มีลักษณะเป็นแพล็ตฟอร์มกลางที่รวบรวมหลายผลิตภัณฑ์การชำระเงินเข้าไว้ด้วยกัน โดยแต่ละผลิตภัณฑ์สามารถทดสอบและเปิดให้บริการในวงกว้างได้ ซึ่งหนึ่งในนั้นก็ได้แก่ เงินหยวนดิจิตัล (Digital RMB) ที่เราเห็นป้ายสัญลักษณ์ e-CNY กระจายอยู่ตามร้านรวงในหลายพื้นที่ของจีน


อดีตผู้ว่าการแบ้งค์ชาติอธิบายว่า ระบบ DC/EP ถูกออกแบบให้เป็น 2 ระดับที่เชื่อมโยงกันอย่างแนบแน่น กล่าวคือ แบ้งค์ชาติจีนอยู่ในระดับที่ 1 ทำหน้าที่เป็นเสมือนเจ้าภาพกลางที่เชื่อมต่อกับระดับที่ 2 ซึ่งมีธนาคารพาณิชย์ ผู้ให้บริการโทรคมนาคม และแพล็ตฟอร์มการชำระเงินออนไลน์ร่วมกันอยู่


เมื่อมังกรครองโลกการชำระเงินดิจิตัล โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร


ในทางปฏิบัติ ผู้ใช้บริการเงินหยวนดิจิตัลจะเชื่อมโยงและมีปฏิสัมพันธ์กับองค์กรเหล่านี้ ขณะที่องค์กรเหล่านี้ก็เชื่อมโยงและทำงานระหว่างกันอย่างใกล้ชิด


ท่ามกลางคำถามและข้อสงสัยมากมายที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับ DC/EP ที่เต็มไปด้วยประเด็นอ่อนไหว อาทิ การวิจัยและพัฒนาและโครงการนำร่องจะดำเนินไปสู่จุดใด ระบบจะจัดแบ่งบทบาทและความรับผิดชอบของผู้มีส่วนได้เสียเป็นเช่นใด และจะควบคุมความเสี่ยงในการใช้เงินหยวนดิจิตัลได้อย่างไร


นี่จึงเป็นเหตุผลสำคัญว่าทำไปเราเห็นรัฐบาลจีนระมัดระวังอย่างมากเกี่ยวกับการจัดระบบ และให้ความใส่ใจกับการดำเนินการอย่างเป็นขั้นเป็นตอนในช่วงที่ผ่านมา


ในมุมมองของอดีตนายแบ้งค์นักพัฒนาในวัย 73 ปี ระบุว่า เพื่อพัฒนาระบบดังกล่าวให้เหมาะสมกับการใช้งานในระยะยาว จีนควรให้ความสำคัญกับปัจจัยด้านอุปสงค์เป็นอันดับแรก


การปรับปรุงระบบการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งประสิทธิภาพการชำระเงินในระดับการค้าปลีกนับเป็นสิ่งจำเป็น ขณะที่ผลิตภัณฑ์ภายใต้ DC/EP จำเป็นต้องนำเอาความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้อยู่ตลอดเวลา เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มความสะดวกเพื่อยกระดับความพึงพอใจของผู้ใช้บริการ


อีกปัจจัยสำคัญหนึ่งก็คือ ขีดความสามารถของโทรศัพท์มือถือในการผนวกรวมหน้าที่ที่แตกต่างหลากหลาย อาทิ บัตรประชาชน บัตรธนาคาร การตรวจสอบสถานะด้านสุขภาพ การอ่าน และความบันเทิง รวมทั้งการรับส่งคลื่นวิทยุ


เมื่อมังกรครองโลกการชำระเงินดิจิตัล โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

ฟังก์ชั่นพิเศษของ DC/EP ที่ผ่านการทดลองใช้ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาอย่างฉลุย ก็ได้แก่ เทคโนโลยีการสื่อสารระยะใกล้ (Near Field Communication) ซึ่งใช้คลื่นวิทยุระยะสั้นมาช่วยให้การสื่อสารระหว่างเครื่องมือที่ห่างกันไม่เกิน 5 ซม. โดยไม่ต้องอาศัยสัญญาณโทรศัพท์ไร้สายหรืออินเตอร์เน็ต


ส่วนนี้จะช่วยให้บริการชำระเงินแบบ P2P เกิดขึ้นได้ในวงกว้าง ซึ่งเพิ่มความสะดวกแก่ผู้ใช้บริการ และเปิดให้ผู้คนที่ไม่อยู่ในระบบเดิมสามารถได้รับประโยชน์จากการเข้าสู่ระบบใหม่


แต่โจ เสี่ยวชวน ที่ปัจจุบันยังคงดำรงตำแหน่งเป็นประธานสังคมแห่งชาติเพื่อการเงินและการธนาคารอยู่ด้วย ก็ให้ข้อคิดในประเด็นนี้ไว้ว่า ปัจจุบัน โครงสร้างพื้นฐานด้านเครือข่ายการสื่อสารของจีนได้รับการปรับปรุงและขยายพื้นที่อยู่เสมอ จนผู้คนเกือบทั่วจีนสามารถเข้าถึงสัญญาณอินเตอร์เน็ต แต่ NFC ก็ช่วยเติมเต็มส่วนที่ขาดหาย และเพิ่มความสะดวกแก่ผู้ใช้บริการในวงกว้างขึ้น


ในโลกยุคดิจิตัลที่เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วเช่นนี้ แบ้งค์ชาติจีนก็ไม่ควรด่วนตัดสินใจว่าจะใช้ระบบใดเป็นพิเศษ และหยุดการพัฒนาในด้านอื่น เพราะเทคโนโลยีใหม่ในอนาคตจะสามารถทดแทนของที่มีเดิมอยู่ด้วยฟังก์ชั่นที่ดีกว่าอยู่เสมอ


ตลอดเวลา 15 ปีที่ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการแบ้งค์ชาติจีน โจ เสี่ยวชวนได้วางรากฐานหลายอย่างหลายเรื่อง จนได้รับการยอมรับว่าเป็นหนึ่งในผู้ว่าการแบ้งค์ชาตินักปฏิรูปชั้นนำของโลก และยังเห็นว่าโลกต้องให้ความสำคัญกับประเด็นความเสี่ยงของการหายไปของสื่อกลางทางการเงินทางกายภาพในระดับที่ 2 ของระบบ DC/EP ซึ่งเป็นเสมือนธนบัตรที่ลอยอยู่ในอากาศ


เมื่อมังกรครองโลกการชำระเงินดิจิตัล โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร


การจับต้องไม่ได้ของเงินดิจิตัลอาจทำให้ผู้คนบางส่วนไม่เห็นถึงคุณค่าของเงิน ใช้จ่ายเกินตัว เก็งกำไร หรือแม้กระทั่งตกอยู่ในโลกของจินตนาการ ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมโดยรวมได้


ความผันผวนของราคาทรัพย์สินดิจิตัลก็เป็นอีกประเด็นหนึ่ง เพราะเงินดิจิตัลที่ขาดพื้นฐานการรองรับที่เหมาะสม อาจนำไปสู่การเก็งกำไรในค่าเงินและแยกตัวออกจากระบบเศรษฐกิจที่แท้จริงในที่สุด ยกตัวอย่างเช่น ราคาบิตคอยน์ที่พุ่งสูงในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาจนนักลงทุนส่วนหนึ่งเริ่มประเมินว่า บิตคอยน์กำลังกลายเป็นเสมือนฟองสบู่ที่รอวันแตก ซึ่งถึงวันนั้นเทสล่าก็คงไม่ยอมรับเป็นสกุลเงินที่ใช้ชำระค่ารถเป็นแน่


นอกจากนี้ เรายังควรระมัดระวังกับเรื่องการปกป้องความเป็นส่วนตัว และการฉ้อโกงทางการเงินในระบบดิจิตัล นี่จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ระบบควรได้รับการพัฒนาให้เกิดความสะดวกและปลอดภัยควบคู่กันไป


เมื่อมังกรครองโลกการชำระเงินดิจิตัล โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร


โดยที่ปัจจุบัน ธนาคารของรัฐ 4 แห่ง อันได้แก่ ICBC, China Construction Bank, Bank of China และ Agricultural Bank of China และกิจการโทรคมนาคมของรัฐ 3 รายหลัก ได้แก่ ไชน่าโมบาย ไชน่าเทเลคอม และไชน่ายูนิคอม รวมทั้งแพล็ตฟอร์มกระเป๋าตังค์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาลีเพย์ของแอ็นท์กรุ๊ป และวีแชตเพย์ของเทนเซ็นต์ ได้เข้ามาเป็นผู้เล่นหลักในระดับที่ 2 ของระบบแล้ว


องค์กรหลักเหล่านี้ควรเข้ามามีส่วนร่วมรับผิดชอบในการพัฒนาระบบให้รุดหน้ายิ่งขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงในระบบการชำระเงิน ปกป้องคุ้มครองความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้บริการ และอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้น


การดำเนินการเรื่องเหล่านี้ให้เกิดเป็นรูปธรรมและมีประสิทธิภาพ จำเป็นต้องอาศัยเงินทุนจำนวนมากในการพัฒนาเทคโนโลยี การจัดซื้อเครื่องมืออุปกรณ์ และการบำรุงรักษา


เมื่อมังกรครองโลกการชำระเงินดิจิตัล โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร


ระบบ DC/EP ในปัจจุบันถูกออกแบบให้มีความสามารถในการประมวลผลการรับจ่ายเงินที่ระดับความเร็ว 300,000 ธุรกรรมต่อวินาที แต่ด้วยผู้ใช้บริการจำนวนมหาศาลในจีน และจะเพิ่มมากขึ้นกว่านี้อีกมากเมื่อเงินหยวนดิจิตัลถูกนำไปใช้ในต่างประเทศ ขีดความสามารถในการประมวลผลข้อมูลดังกล่าวก็เป็นสิ่งที่ควรได้รับการปรับปรุงอยู่อย่างต่อเนื่อง


มาตรฐานของระบบก็เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาในการพัฒนา ในชั้นนี้ DC/EP ถูกวางแผนในการพัฒนาบนเทคโนโลยี 5 ส่วน อันได้แก่ กระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ คิวอาร์โค้ด NFC บัตรธนาคารบนโทรศัพท์มือถือ และบัตรเติมเงิน และองค์กรในระดับที่ 2 ของระบบดังกล่าวก็เป็นเจ้าของเงิน และรับประกันการชำระเงิน ระบบ เทคโนโลยี และเครื่องมืออุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง


อย่างไรก็ดี เทคโนโลยีเหล่านี้มีความแตกต่างจากระบบสกุลเงินดิจิตัลของธนาคารกลาง(Central Bank Digital Currencies) หรือ CBDC ที่พัฒนาโดยสมาชิกของกลุ่ม G7 จึงเป็นสิ่งสำคัญที่รัฐบาลจีนต้องสร้างความเข้าใจและพัฒนาระบบให้เกิดการยอมรับในวงกว้าง


เมื่อมังกรครองโลกการชำระเงินดิจิตัล โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร


ยิ่งเมื่อมองออกไปในโลกกว้าง เงินหยวนดิจิตัลและการชำระเงินระหว่างประเทศ ทั้งที่เกิดขึ้นแล้วและจะเกิดขึ้นใหม่ในอนาคต ก็ยังควรถูกสร้างและพัฒนาขึ้นเพื่อต่อต้านการฟอกเงิน การอุดหนุนการก่อการร้าย และยาเสพติด รวมทั้งการพนัน


ส่วนหลังสุดถือเป็นประเด็นใหญ่ของจีนเลยทีเดียว การเดิมพันแทบฝังลึกอยู่ในสายเลือดของชาวจีน ขนาดผู้นำจีนท่านหนึ่งยังเคยตอบคำถามผู้สื่อข่าวแบบติดตลกถึงเหตุผลที่ไม่ส่งนักบินอวกาศมากกว่า 3 คนในแต่ละคราวว่า ถ้าคนเยอะเกรงจะจับกลุ่มเล่นไพ่กัน!


โจ เสี่ยวชวนยังเห็นว่า การนำเงินหยวนดิจิตัลไปใช้ในระดับระหว่างประเทศนับเป็นความท้าทายยิ่ง ประเทศต่างๆ ควรมุ่งเน้นธุรกรรมการค้าปลีกเป็นสำคัญ ซึ่งความแตกต่างด้านนโยบายและกฎหมายของประเทศที่เกี่ยวข้องจะกลายเป็นเรื่องสำคัญ จีนจึงจำเป็นต้องเคารพในอธิปไตยทางการเงิน และระบบอัตราแลกเปลี่ยน รวมถึงกฎระเบียบการแลกเปลี่ยนและการโอนเงิน


เทคโนโลยีมิได้เป็นตัวกีดขวาง แต่ช่วยอำนวยความสะดวกในการใช้เงินดิจิตัล เทคโนโลยีที่มีอยู่ในปัจจุบันและที่จะถูกพัฒนาขึ้นในอนาคตสามารถช่วยแก้ไขปัญหาการชำระเงินได้ ตัวอย่างเช่น บล็อกเชนอาจถูกนำมาช่วยลดความเสี่ยงผ่านสัญญาอัจฉริยะ หรือการควบคุมการชำระเงิน แต่ก็ขึ้นอยู่กับว่าประเทศที่เกี่ยวข้องจะรับเทคโนโลยีเหล่านั้นมาใช้มากน้อยเพียงใด


เมื่อมังกรครองโลกการชำระเงินดิจิตัล โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร


อดีตผู้ว่าแบ้งชาติจีนคนเก่งยังเห็นว่า การพัฒนาเงินหยวนดิจิตัลในจีนสามารถเดินหน้าอย่างต่อเนื่องและค่อยเป็นค่อยไปเพื่อสร้างระบบการชำระเงินในภาคการค้าปลีกที่มีเสถียรภาพ


จีนควรให้ความสำคัญกับการชำระค่าสินค้าและบริการและการท่องเที่ยวระหว่างประเทศก่อน ขณะเดียวกัน เงินหยวนดิจิตัลก็ต้องมอบความสะดวกแก่ผู้ใช้บริการ โดยไม่ปลุกเร้าความคิดที่ยึดติดกับการใช้เงินเหรียญสหรัฐฯ เพราะหากผู้คนกังวลใจต่อการครอบงำของเงินหยวนในระบบเงินตราระหว่างประเทศก็อาจเกิดกระแสต่อต้านการใช้เงินหยวนในเวทีระหว่างประเทศตามมา


แม้ว่ารัฐบาลจีนจะมีเป้าหมายใหญ่ที่มุ่งหวังให้เงินหยวนเป็นสกุลเงินสากล แต่การดำเนินงานควรอยู่บนพื้นฐานของประโยชน์ที่ผู้ใช้จะได้รับจากการใช้เงินหยวนดิจิตัล ไม่ใช่การบีบบังคับของระบบ เท่ากับว่า แบ้งค์ชาติจีนควรให้ความสำคัญกับการเชื่อมโยงระบบการหักโอนบัญชีเพื่อเสริมสร้างความร่วมมือในการชำระเงินข้ามประเทศ


ระบบ DC/EP ที่จีนได้พัฒนาขึ้นกำลังกลายเป็นต้นแบบให้หลายประเทศได้ศึกษาและเรียนลัดกัน แต่จีนจะยังไม่หยุดเพียงแค่นี้ เพราะจีนมุ่งมั่นที่จะพัฒนาระบบดังกล่าวเพื่อรองรับความต้องการใช้เงินหยวนดิจิตัลที่เพิ่มมากขึ้น และเป็นกลไกหนึ่งที่ช่วยผลักดันให้เงินหยวนเป็นสกุลเงินสากลในอนาคต ...


ข่าวแนะนำ