TNN online อาเซียนจะทำอย่างไรดี เมื่อกลายเป็นสาวเนื้อหอม โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

TNN ONLINE

TNN Exclusive

อาเซียนจะทำอย่างไรดี เมื่อกลายเป็นสาวเนื้อหอม โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

อาเซียนจะทำอย่างไรดี เมื่อกลายเป็นสาวเนื้อหอม โดย ดร.ไพจิตร  วิบูลย์ธนสาร

อาเซียนจะทำอย่างไรดี เมื่อกลายเป็นสาวเนื้อหอม โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน

        อาเซียนกำลังเป็นสาวเนื้อหอมยิ่ง ก็เกิดคำถามมากมายตามมา จีนจะปรับท่าทีต่ออาเซียนหรือไม่ อย่างไร และอาเซียนและไทยควรทำอย่างไรกับโอกาสในครั้งนี้ ...

        นโยบาย America First ของอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทำให้การดำเนินมาตรการทางการค้าของสหรัฐฯ แตกต่างไปจากเดิมมาก 

        ผู้นำแห่งโลกการค้าเสรีอย่างสหรัฐฯ กลับเป็นฝ่ายเปิดเกมส์ทำสงครามการค้ากับจีน ขณะที่จีนกลับนิ่งและตอบโต้อย่างมีเชิง จนสถานะผู้นำโลกดังกล่าวของสหรัฐฯ สั่นคลอน และกลายเป็นภาระหนักอึ้งที่ส่งต่อไปยังประธานาธิบดีโจ ไบเดน จนต้องเร่งปรับโฉมการเดินเกมส์กับอาเซียน ผ่านการปัดฝุ่นนโยบาย “ปักหมุดเอเชีย” เพื่อกลับเข้ามาสร้างอิทธิพลในเอเซียอีกครั้ง

        ปัญหาดูจะสลับซับซ้อนมากขึ้น เมื่อเศรษฐกิจโลกที่เผชิญวิกฤติโควิด-19 อ่อนแอและเปราะบางลง หลายประเทศหันมาให้ความสำคัญกับการผลิตและการบริโภคภายในประเทศ

        ยิ่งเชื้อโควิด-19 ส่อเค้าว่าจะกลายพันธุ์เร็ว ทำให้เราอาจเห็นมาตรการกีดกันทางการค้าในรูปโฉมใหม่จากสหรัฐฯ และอาจขยายวงต่อไปยังประเทศอื่นในอนาคต

อาเซียนจะทำอย่างไรดี เมื่อกลายเป็นสาวเนื้อหอม โดย ดร.ไพจิตร  วิบูลย์ธนสาร

        ด้วยสถานการณ์ดังกล่าว ทำให้ผมคิดว่าจีนจะเร่งเดินหน้ายกระดับความร่วมมือกับอาเซียน ทั้งทางตรงและทางอ้อม ดังจะเห็นได้จากท่าทีการสนับสนุนการลงนามในข้อตกลง RCEP ในช่วงปลายปีที่ผ่านมา และการเยือนอาเซียนแบบถ้วนทั่วของหวัง อี้ รัฐมนตรีต่างประเทศจีนในไม่กี่เดือนหลังนี้ 

        เหนือสิ่งอื่นใด ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงยังเดินทางเยือนเมียนมาร์อย่างเป็นทางการเมื่อ 17-18 มกราคม ที่ผ่านมาอีกด้วย การเยือนครั้งนี้ถือเป็นทริปแห่งประวัติศาสตร์ที่ฉลองครบรอบ 70 ของการสถาปนาทางการทูตระหว่างจีนและเมียนมาร์ แถมยังเป็นการเยือนเมียนมาร์ครั้งแรกของสี จิ้นผิง และครั้งแรกในรอบเกือบสองทศวรรษของผู้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีจีน

        จนบางคนคิดไกลไปถึงว่าการยึดอำนาจที่เมียนมาร์เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ มีจีนอยู่เบื้องหลังเพื่อล้มกระดานการสานต่อความสัมพันธ์ของรัฐบาลเมียนมาร์ภายใต้การนำของออง ซาน ซู จีกับพรรคเดโมแครตของสหรัฐฯ และไม่ให้การดำเนินโครงการภายใต้ BRI โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจจีน-เมียนมาร์ หยุดชะงักลง 

        ไม่ว่าเหตุการณ์รัฐประหารในเมียนมาร์จะมีต้นสายปลายเหตุเป็นประการใด แต่ผมก็เชื่อมั่นว่า จีนจะยังคงให้ความสำคัญกับการสานสัมพันธ์กับอาเซียน 

        นโยบาย China Plus One จะยังคงดำรงอยู่ ในความพยายามที่ต้องการกระจายความเสี่ยงทางธุรกิจ จีนจะกระจายฐานการผลิตและขยายการลงทุนในต่างประเทศอยู่ต่อไป โดยอาเซียนเป็นหนึ่งในภูมิภาคเป้าหมาย 

        แล้วไทยและอาเซียนควรหาประโยชน์จากการลงทุนของจีนในต่างประเทศอย่างไร หรือจะต้องเตรียมตัวอย่างไรในระยะยาว ...

        กรณีของไทย การกำหนดแคมเปญ Thailand 4.0 และโครงการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก ที่เราเรียกกันติดปากว่า EEC ถือเป็นการตั้งหลักที่ดี แต่หลายประเทศในอาเซียนต่างก็กำหนดนโยบายและโครงการรองรับที่คล้ายกัน

        เพื่อให้ไทยได้รับประโยชน์จากการนี้อย่างจริงจัง ผมเห็นว่า ไทยควรเร่งดำเนินโครงการให้เกิดเป็นรูปธรรม เราคิดนโยบายและโครงการที่ดีๆ มากมาย แต่ Execution เป็นปัญหาใหญ่ของไทยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา 

        ปัญหาส่วนหนึ่งอาจเกิดขึ้นเพราะความขัดแย้งทางการเมืองในสนามใหญ่ระหว่างสหรัฐฯ กับจีนถูกลากมาเชื่อมโยงและกลายเป็นปัญหาที่ฝังรากลึกในประเทศนานนับทศวรรษ

        ไม่ว่ารัฐบาลจะประกาศแคมเปญหรือโครงการที่สวยหรูหรือดีต่อประชาสังคมมากเพียงใด ก็จะมีฝ่ายตรงข้ามที่ค้านแบบหัวชนฝา จนหลายคนรู้สึกว่า จุดยืนและความคิดเห็นแย้งไม่ได้คำนึงถึงผลประโยชน์โดยรวมของการพัฒนาประเทศเป็นที่ตั้ง 

อาเซียนจะทำอย่างไรดี เมื่อกลายเป็นสาวเนื้อหอม โดย ดร.ไพจิตร  วิบูลย์ธนสาร

        การแบ่งฝักแบ่งฝ่ายของสื่อและลงลึกถึงมุมมองความคิดของประชาชน ก็ยิ่งทำให้รัฐบาลต้องบริหารประเทศโดย “โยนหินถามทาง” อยู่ตลอด กว่าจะทำอะไรได้สักอย่าง ก็ต้องใช้กำลังกายใจ ความอดทน และทรัพยากรที่มากมายเกินพอดี 

        พอคิดที่อยากจะกำหนดวิสัยทัศน์และโครงการระยะยาวด้วยแล้ว หลายคนก็บอกว่าอย่าเสียเวลาพูดถึงดีกว่า  เพราะคนส่วนใหญ่ในวันนี้ฝันหวานถึงเพียง 15 วันข้างหน้ามากกว่าสิ่งใด ฟังแล้วก็ได้แต่อึ้ง!

        เราจำเป็นต้องตั้งหลักตั้งเป้าที่ดี และใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในการขับเคลื่อนองคาพยพไปในทิศทางและเป้าหมายเดียวกัน ด้วยทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดและการพัฒนาที่ต้องแข่งกับเวลา เราจึงไม่สามารถแบกรับความสูญเสียในทรัพยากรและเวลาไปกับสิ่งที่ไม่เกิดประโยชน์โดยไม่จำเป็นได้อีกต่อไป

        วันนี้รัฐบาลไทยมีภาระใหญ่รออยู่ตรงหน้าหลายด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแก้ไขวิกฤติโควิด-19 ที่ลากเป็นทางยาว และการเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจภายในประเทศหลังปัญหาโควิด-19 จบลง 

        ขณะเดียวกัน รัฐบาลก็มีโจทย์ใหญ่ที่ต้องเร่งหาแนวทางออกรออยู่ข้างหน้า อาทิ การปรับปรุงระบบราชการให้ทันสมัย ไม่ให้ใหญ่เทอะทะ ซึ่งจะกลายเป็นตัวถ่วงการพัฒนาประเทศในอนาคต และการพัฒนาทักษะฝีมือของทรัพยากรมนุษย์ที่กำลังไม่เป็นที่ต้องการ รวมทั้งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกในพื้นที่ EEC ที่เป็นโครงการความหวังแห่งอนาคต

        ดังนั้น หากเราต้องการยิงนกหลายตัวด้วยกระสุนนัดเดียว ก็อาจผันทรัพยากรที่มีอยู่เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของอุตสาหกรรมใหม่ที่จะเกิดขึ้นอีกมากลงในพื้นที่ ทั้งในแง่ของบุคลากรภาครัฐ แรงงาน และองค์กรที่เกี่ยวข้อง เพื่อพัฒนาระบบนิเวศที่ครบเครื่องอย่างแท้จริง

        ในส่วนของอาเซียน ประเทศสมาชิกควรหันหน้าเข้าหากันและผนึกกำลังทางเศรษฐกิจระหว่างกัน อาเซียนควรเร่งเปิดตลาดและเชื่อมห่วงโซ่อุปทานระหว่างกันให้เกิดเป็นรูปธรรมให้เร็วขึ้น ไทยก็ต้องแทรกตัวเข้าไปเป็นฟันเฟืองสำคัญของระบบ เพื่อพร้อมสำหรับการขยายความร่วมมือไปยังกรอบใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น ASEAN+6 และ RCEP ในอนาคต

        การเดินหน้าพัฒนากรอบความร่วมมือ AEC โครงข่ายคมนาคม และอื่นๆ ให้เป็นรูปธรรมเพื่อทวีกำลังปัจจัยการผลิตและโอกาสทางการตลาด เป็นสิ่งที่ควรดำเนินการ แต่ใช่ว่าทุกสิ่งจะเป็นใจ 

        การประกาศว่าจะใช้เวลาจัดระเบียบการเมืองของประเทศ 1 ปีของทหารเมียนมาร์ อาจไม่ทำให้การพัฒนาความร่วมมือในอาเซียนหยุดชะงักนานนัก แต่อาจกระทบต่อเศรษฐกิจในวงกว้างได้

        เมียนมาร์นับว่ามีระดับการพึ่งพาทางเศรษฐกิจกับอาเซียนและจีนที่สูงมากในปัจจุบัน จากข้อมูลของธนาคารโลกพบว่า สิงคโปร์เป็นประเทศที่เข้าไปลงทุนโดยตรงรายใหญ่สุดอันดับแรก ตามมาด้วยจีน ขณะเดียวกัน จีนก็เป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งของเมียนมาร์ 

อาเซียนจะทำอย่างไรดี เมื่อกลายเป็นสาวเนื้อหอม โดย ดร.ไพจิตร  วิบูลย์ธนสาร

        ขณะที่ไทยก็เป็นพันธมิตรทางเศรษฐกิจที่สำคัญยิ่งของเมียนมาร์ ดังนั้น ในฐานะประเทศที่ใกล้ชิดและมีเส้นพรมแดนกับเมียนมาร์มากที่สุด ไทยควรทำหน้าที่ในการช่วยเชื่อมประสานกับเมียนมาร์ให้แก่อาเซียนในอีกทางหนึ่ง 

        นอกจากนี้ ไทยยังควรระมัดระวังกับ “หางเลข” หากสหรัฐฯ และประเทศพันธมิตรจะประกาศแซงชั่นทางเศรษฐกิจกับเมียนมาร์

        นอกเหนือจากปัญหาภายในกลุ่มแล้ว อาเซียนยังต้องเผชิญกับความท้าทายใหม่ที่กำลังเข้าสู่ช่วงของการเปลี่ยนถ่ายผู้นำเศรษฐกิจโลกอีกครั้ง 

        ในช่วงเวลาเพียง 40 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจจีนได้ก้าวกระโดดจนเติบใหญ่อย่างไม่เคยเป็นมา ช่องว่างขนาดเศรษฐกิจระหว่างสหรัฐฯ และจีนลดลงเหลือราว 5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์โลกยุคใหม่ จีนกำลังขยับสถานะขึ้นเป็นเศรษฐกิจหมายเลขหนึ่งของโลก และจะเข้าสู่ยุคเรืองรองตลอด 40 ปีในอนาคต 

        ขณะที่เศรษฐกิจของหลายประเทศในสหภาพยุโรปจะเล็กลงเร็วกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ นอกจากนี้ ผู้เล่นหน้าใหม่ อาทิ อินเดียและอินโดนีเซีย จะเข้ามาเป็นหน้าใหม่ในลิสต์ 10 อันดับแรกในปลายทศวรรษนี้ 

        ดังนั้น อาเซียนจึงควรสร้างสมดุลและขยายกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับมหาอำนาจทางเศรษฐกิจในกรอบที่กว้างขวางมากขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่การดึงดูดการลงทุนต่างชาติให้เข้ามาในพื้นที่ เชื่อมห่วงโซ่อุปทานภายในกลุ่มกับภายนอกกลุ่มให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของสินค้าและบริการ ควบคู่ไปกับการกระจายความเสี่ยงของอาเซียนในเวทีโลก

        หากเราพิจารณาถึงผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของต่างชาติในอาเซียนในภาพรวมก็อาจพบว่า กลุ่มใหญ่กระจุกตัวอยู่กับสหรัฐฯ และพันธมิตร อาทิ สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และอินเดีย แถมหลายประเทศในอาเซียนก็ยังมีระดับการพึ่งพาเศรษฐกิจของกลุ่มเดิมนี้อยู่ค่อนข้างสูงอยู่ในปัจจุบัน 

        ขณะที่จีนซึ่งมีความได้เปรียบในด้านภูมิศาสตร์ ก็เชื่อมโยงและยกระดับความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับอาเซียนโดยลำดับ จนกลายเป็นพันธมิตรทางการค้าและการลงทุนสำคัญในภูมิภาคได้อย่างรวดเร็ว ผู้เชี่ยวชาญประเมินว่า จีนมีอิทธิพลทางเศรษฐกิจมากกว่าครึ่งในหลายประเทศอาเซียน อาทิ เมียนมาร์ ลาว และกัมพูชา 

        ดังนั้น อาเซียนจึงต้องเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และเดินเกมส์อย่างระมัดระวังในช่วงเปลี่ยนถ่ายนี้ ผมไม่อยากเห็นอาเซียนเป็นสนามประลองยุทธ์ของมหาอำนาจทั้งหลาย มิฉะนั้นแล้ว หญ้าแพรกอย่างประเทศในอาเซียนจะย่อยยับได้ง่ายๆ

        ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการอาเซียนเองก็ต้องเน้นถึงจุดแข็ง และไม่ลืมที่จะให้ความสำคัญกับการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของตนเองในระดับความเร็วเทียบเท่าจีนหรือผู้นำอื่น เพราะนั่นจะเป็นคำตอบสุดท้ายสำหรับความอยู่รอดของอาเซียนในเวทีโลก ยิ่งอาเซียนแข็งแกร่งก็จะยิ่งเย้ายวนให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนในภูมิภาค

        ในทางกลับกัน ไทยและอาเซียนควรคิดที่จะขยายการลงทุนในจีน ไม่เพียงแต่จีนมีตลาดที่ใหญ่และเติบโตอย่างมีเสถียรภาพ รวมทั้งยังจะเปลี่ยนมาใช้กลยุทธ์ “วงจรคู่” ที่ใช้ประโยชน์จากกำลังภายนอกและกำลังภายในไปพร้อมกัน ซึ่งแปลว่าจีนจะเติบโตจากภายในในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นในอนาคต 

        นอกจากนี้ จีนยังมีภาครัฐที่แข็งแกร่ง ภาคเอกชนที่แข็งขัน และภาคประชาชนที่เปิดรับเร็ว จึงมีคุณสมบัติพิเศษของส่วนผสมในการเป็นทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภครายใหญ่ของโลกในเวลาเดียวกัน 

อาเซียนจะทำอย่างไรดี เมื่อกลายเป็นสาวเนื้อหอม โดย ดร.ไพจิตร  วิบูลย์ธนสาร

        ท่ามกลางวิกฤติโควิด-19 ในปีที่ผ่านมา จีนได้พิสูจน์ให้โลกเห็นถึงขีดความสามารถและศักยภาพของห่วงโซ่อุปทานที่ “เหนียวแน่น” และ “อ่อนตัว” ไปพร้อมกัน

        สายการผลิตในจีนไม่เพียงกลับมาเป็นปกติได้อย่างรวดเร็วเท่านั้น แต่ยังสามารถปรับการผลิตไปตามสถานการณ์ความต้องการที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วได้อีกด้วย ส่งผลให้ภาคการผลิตกลายเป็นเครื่องยนต์สำคัญในการรักษาการจ้างงาน พลิกฟื้นเศรษฐกิจ และขยายการส่งออกของประเทศในปีที่ผ่านมา

        นอกจากนี้ อาเซียนยังควรระมัดระวังและเกาะติดพัฒนาการของความร่วมมือทางเศรษฐกิจในแต่ละกลุ่มประเทศที่จะเปลี่ยนแปลงเร็วขึ้น ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมในแต่ละช่วงเวลา การเอียงไปทางจีนในระดับที่สูงอย่างรวดเร็ว อาจทำให้อาเซียนพึ่งพาเศรษฐกิจจีนมากเกินพอดีจนยากจะถอนตัว ซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงทางเศรษฐกิจในระยะยาว

        ด้วยความใกล้ชิดทางภูมิศาสตร์ และขนาดเศรษฐกิจของจีนดังกล่าว อาเซียนจึงควรใส่ใจกับจีนมากขึ้น อาเซียนและไทยต้องเรียนลัด เชื่อมโยง และใช้ประโยชน์จากการเติบใหญ่ของจีนในหลากหลายมิติ ขณะเดียวกัน ก็ต้องเร่งพัฒนาและร่วมมือเพื่อสร้างความแข็งแกร่งภายในกลุ่ม และเชื่อมโยงกับภายนอกกลุ่มอย่างสมดุล

        หากทำเช่นนั้นได้แล้ว เราก็น่าจะเห็นอาเซียนเติบโตอย่างรวดเร็วในทศวรรษนี้ และเติบใหญ่เป็นภูมิภาคแห่งอนาคตได้อย่างต่อเนื่องในหลายทศวรรษข้างหน้า 

        ความฝันที่เราจะเห็นเอเซียก้าวขึ้นเป็นผู้นำโลกในศตวรรษนี้จึงไม่ไกลเกินฝัน ...  


เกาะติดข่าวที่นี่

website: www.TNNTHAILAND.com
facebook : TNNONLINE
facebook live : TNN Live
twitter : TNNONLINE
Line : @TNNONLINE
Youtube Official : TNNONLINE
Instagram : TNN_ONLINE
TIKTOK : @TNNONLINE

ข่าวแนะนำ