TNN online เมื่ออินทรีย์ร่อน มังกรรำ ... อาเซียนก็เนื้อหอมยิ่ง โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

TNN ONLINE

TNN Exclusive

เมื่ออินทรีย์ร่อน มังกรรำ ... อาเซียนก็เนื้อหอมยิ่ง โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

เมื่ออินทรีย์ร่อน มังกรรำ ... อาเซียนก็เนื้อหอมยิ่ง โดย ดร.ไพจิตร  วิบูลย์ธนสาร

เมื่ออินทรีย์ร่อน มังกรรำ ... อาเซียนก็เนื้อหอมยิ่ง โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน

เมื่ออินทรีย์ร่อน มังกรรำ ... อาเซียนก็เนื้อหอมยิ่ง

        จีนส่งรัฐมนตรีต่างประเทศเยือนอาเซียนรอบ 2 ในช่วงเวลาเพียงไม่กี่เดือนแฝงไว้ซึ่งนัยยะสำคัญหลายประการ จีนกำลังส่งสัญญาณอะไรบอกอาเซียนกันหรือ?

        ข่าวที่หวัง อี้ รมต. ต่างประเทศของจีนเดินสายเยือน 4 ประเทศในอาเซียน อันได้แก่ เมียนมาร์ อินโดนีเซีย บรูไน และฟิลิปปินส์ในช่วงวันที่ 11-16 มกราคม ที่ผ่านมา คงสร้างความประหลาดใจและทำให้ผู้อ่านคิดต่อได้ว่าจีนกำลังส่งสัญญาณพิเศษถึงอาเซียนอยู่เป็นแน่แท้ 

        ประการแรก นี่เป็นโอกาสครบรอบ 30 ปีของการสถาปนาความสัมพันธ์อาเซียน-จีน ย้อนกลับไปเมื่อราว 3 ทศวรรษก่อน ความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียน-จีนได้ก่อตัวขึ้นเมื่อเฉียน ฉีเซิน รมต. ต่างประเทศจีนในยุคนั้น ได้เข้าร่วมพิธีเปิดการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนครั้งที่ 24 ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ในฐานะแขกพิเศษของมาเลเซีย 

        นับแต่นั้นมา ความสัมพันธ์จีน-อาเซียนได้พัฒนาขึ้นในหลายด้านอย่างต่อเนื่อง จีนมีจุดยืนและนโยบายที่ชัดเจนในการพัฒนาความร่วมมืออย่างสร้างสรรค์กับอาเซียน ดังจะเห็นได้ว่า หลายกรอบความร่วมมือในภูมิภาคที่จีนมีส่วนร่วมล้วนมีอาเซียนเป็นพันธมิตรหลักเสมอ 

        เฉพาะในปี 2020 ผู้บริหารระดับสูงของจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งประธานาธิบดีสี จิ้นผิง และนายกรัฐมนตรีหลี่ เค่อเฉียง ยังได้กระชับความสัมพันธ์กับอาเซียนผ่านหลายเวทีในหลายรูปแบบ อาทิ การทูตระหว่างประเทศ การประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก กรอบความร่วมมือลุ่มแม่น้ำโขง และ RCEP 

เมื่ออินทรีย์ร่อน มังกรรำ ... อาเซียนก็เนื้อหอมยิ่ง โดย ดร.ไพจิตร  วิบูลย์ธนสาร

        ในคำกล่าวของท่านผู้นำจีนในงาน China ASEAN Expo ในปีที่ผ่านมาที่นครหนานหนิง มณฑลกวางสีระบุว่า “ความร่วมมือระหว่างอาเซียน-จีนถือเป็นความร่วมมือที่ประสบความสำเร็จและมีชีวิตชีวามากที่สุดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ... นับเป็นแบบอย่างความสำเร็จของความร่วมมือระดับโลก”

        ยิ่งถ้านับรวมที่หวัง อี้เดินทางเยือนกันพูชา มาเลเซีย ลาว สิงคโปร์ และไทยเมื่อไม่กี่เดือนก่อนหน้านี้ ก็ถือว่าท่านได้สร้างสถิติของการเดินทางเยือน 9 ใน 10 ประเทศสมาชิกอาเซียนในเวลาเพียงราว 3 เดือน 

        ยิ่งพอทราบว่า รมต. ต่างประเทศจีนก็เพิ่งเดินสายไปเยือน 5 ประเทศในแอฟริกาเมื่อต้นปีนี้ ซึ่งทำให้จีนสร้างประวัติศาสตร์ในการส่ง รมต. ต่างประเทศจีนเยือนแอฟริกาเป็นทวีปแรกของทุกปีอย่างเป็นทางการต่อเนื่องเป็นปีที่ 31 ติดต่อกันแล้ว สมญานาม “มือประสานสิบทิศ” ก็นับว่าสมดังคำร่ำลือจริงๆ

        เหล่านี้ยังสะท้อนว่า ตลอดเวลาหลายปีที่ผ่านมา จีนได้แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการเชื่อมโยงกับทุกประเทศทั่วโลกอย่างสมานฉันท์ ดังนั้น การมาเยือนอาเซียนครั้งล่าสุดจึงถือเป็นการบ่งบอกถึงหลายสิ่งที่ซ่อนอยู่ในความสัมพันธ์จีน-อาเซียนที่ชัดเจนยิ่ง

        ประการที่ 2 จีนและอาเซียนนับว่ามีผลประโยชน์ทางการเมือง เศรษฐกิจ และด้านอื่นๆ ระหว่างกันที่สูงยิ่ง อาเซียนสำคัญกับจีนมากเช่นนั้นจริงหรือ?

        ในเชิงยุทธศาสตร์ จีนพยายามเปิดแนวการเชื่อมโยงในทุกทิศทุกทาง ซึ่งหนึ่งในนั้น ได้แก่พื้นที่ทางตอนใต้ เพราะจีนต้องการเปิดเส้นทางลงทะเลทางตอนใต้ ขณะเดียวกันอาเซียนก็เป็นเส้นทางขนส่งสินค้าทางทะเลระหว่างประเทศที่สำคัญ 

        จีนยังมีมุมมองเชิงบวกต่อการพัฒนาความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน จีนตระหนักดีว่า ตราบใดที่ประเทศเพื่อนบ้านยังมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ไม่ดี จีนจะไม่สามารถแข็งแกร่งเติบใหญ่ได้เพียงผู้เดียวอย่างราบรื่น เสมือนบ้านเศรษฐีใหญ่ที่รายรอบด้วยบ้านเรือนของคนยากคนจน ยังไงก็ดูไม่งาม 

        ดังนั้น เราจึงเห็นกฎหมายจีนที่เปิดช่องโอกาสให้รัฐบาลสามารถกำหนดสิทธิประโยชน์ให้แก่ประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ การเรียกเก็บอากรนำเข้าสินค้าของประเทศเพื่อนบ้านในอัตราที่ต่ำกว่าอัตรา MFN ภายใต้กรอบ WTO หรือแม้กระทั่ง FTA เสียด้วยซ้ำ

        ยิ่งหากเราพิจารณาถึงความใกล้ชิดในทางภูมิศาสตร์ ซึ่งเป็นความได้เปรียบด้านลอจิสติกส์ระหว่างกัน และโอกาสทางเศรษฐกิจที่ซ่อนอยู่ด้วยแล้ว เราก็ยิ่งเข้าใจได้ดีว่า จีนจะไม่มีทางทอดทิ้งอาเซียนอย่างเด็ดขาด 

        ในช่วงราว 20 ปีที่ผ่านมา จีนดำเนินนโยบาย Go Global Policy หรือที่ผมชอบเรียกว่า “นโยบายบุกโลก” ที่ต้องการผลักธุรกิจที่มีความพร้อมออกไปลงทุนในต่างประเทศ และนโยบาย Belt and Road Initiative ที่ท่านสี จิ้นผิงผลักดันอยู่ โดยมีอาเซียนเป็นหนึ่งจุดยุทธศาสตร์สำคัญอันดับแรกเสมอ

        ในด้านการค้า จีนเป็นตลาดนำเข้าสินค้าที่ใหญ่สุดในโลก โดยเป็นตลาดอันดับหนึ่งของอาเซียนในช่วงกว่า 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งทำให้ผู้บริโภคจีนมีทางเลือกและได้รับประโยชน์จากการแข่งขันที่สูงขึ้นตามไปด้วย 

        ขณะที่อาเซียนก็เป็นตลาดสำคัญของจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งปีที่ผ่านมา อาเซียนสร้างปรากฏการณ์ในการเป็นตลาดที่ใหญ่สุดของจีน แถมจีนยังได้เปรียบดุลการค้ากับเกือบทุกประเทศในอาเซียนอีกด้วย 

        ในด้านการลงทุน เราก็เห็นตัวเลขการลงทุนของจีนในอาเซียนที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จีนจะขยายการลงทุนในต่างประเทศต่อไป โดยคาดว่าจะอยู่ที่ราว 150,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อปี ยิ่งหากเราเอาผนวกตัวเลขการลงทุนของฮ่องกงเข้าไปด้วย ก็จะเห็นมูลค่าการลงทุนอีกมหาศาล อาเซียนจะเป็นพื้นที่รองรับการลงทุนสำคัญของจีนในอนาคต

เมื่ออินทรีย์ร่อน มังกรรำ ... อาเซียนก็เนื้อหอมยิ่ง โดย ดร.ไพจิตร  วิบูลย์ธนสาร

        ผู้ประกอบการบางคนอาจสงสัยว่า จีนอยู่ใกล้เราขนาดนี้ แล้วทำไมต้องมาลงทุนในอาเซียน ผมขอเรียนว่า ในเชิงภูมิศาสตร์ จีนเป็นประเทศที่มีขนาดใหญ่ การมีฐานการผลิตในตอนเหนือของจีนมิได้รับประกันความได้เปรียบในภูมิภาคอื่นของตลาดจีน ไทยเราก็มีความได้เปรียบในด้านลอจิสติกส์ในพื้นที่ตอนกลางหรือตอนใต้ของจีน เป็นต้น

        ขณะเดียวกัน อุตสาหกรรมจำนวนมากของจีนก็ต้องการขยายการลงทุนเพื่อแสวงประโยชน์ได้ในด้านปัจจัยการผลิตและการตลาด และยังช่วยกระจายความเสี่ยงทางธุรกิจ 

        สำหรับอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงาน/ทรัพยากรธรรมชาติเข้มข้นของจีนสามารถใช้ประโยชน์จากอาเซียนได้มาก เพราะหลายประเทศในอาเซียนมีปัจจัยการผลิตเหล่านี้อยู่มาก โดยเฉพาะเมียนมาร์ ลาว กัมพูชา และเวียตนาม 

        แรงงานราคาถูกในอาเซียนมีสภาพคล้ายกับพื้นที่ซีกตะวันออกของจีนเคยมีในช่วง 20-30 ปีก่อน อาเซียนจึงเหมาะแก่การเป็นแหล่งรองรับฐานการผลิตดั้งเดิมในจีน แถมยังสามารถเคลื่อนย้ายปัจจัยการผลิตได้เสรีมากขึ้น ภายใต้กรอบ AEC

        ขณะที่อุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีเข้มข้น หรือแม้กระทั่งธุรกิจบริการก็สามารถใช้ความสามารถในการแข่งขันที่ดีในการใช้ประโยชน์จากแรงงานฝีมือ และตลาด 600 ล้านคนในอาเซียนที่กำลังขยายตัวในอัตราที่สูง ทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ 

        ในช่วงหลายปีหลังนี้ เราเห็นร้านอาหารที่คนจีนมาเปิดในไทยจำนวนมาก ร้านเหล่านี้อาจสร้างอุปสงค์ ซึ่งนำไปสู่การส่งออกวัตถุดิบอาหารและเครื่องดื่มบางอย่างจากจีน รวมทั้งการเผยแพร่วัฒนธรรมจีน ทศวรรษนี้อาจเป็นการฟื้นตัวของความนิยมในอาหารจีนและการใช้ตะเกียบในภูมิภาค

        นอกจากนี้ อาเซียนยังจะเป็นลูกค้าใหญ่ในระยะยาวสำหรับโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกที่จีนพร้อมขายบริการวิศวกรรมก่อสร้างและเทคโนโลยีได้ 

        ยิ่งหากเราพิจารณาถึงแรงกดดันจาก Trade War จีน-สหรัฐฯ และมาตรการกีดกันที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต จีนก็ต้องการกระจายความเสี่ยงด้วยการเข้ามาค้าขายและลงทุนในอาเซียนมากขึ้น

        ดังนั้น อาเซียนจึงเป็นหนึ่งในพื้นที่ยุทธศาสตร์ที่จีนให้ความสำคัญ ผมเชื่อมั่นว่า จีนจะไม่เพียงต้องการเพิ่มระดับความร่วมมือกับอาเซียนในเชิงปริมาณ แต่ยังหมายรวมถึงในเชิงคุณภาพที่สูงขึ้นด้วย พัฒนาการของกรอบความร่วมมือจาก FTA อาเซียน-จีนไปสู่ RCEP จะเป็นเวทีที่สำคัญในอนาคต

        ประการที่ 3 หากมองลึกลงไปถึงประเด็นหารือระหว่างจีนกับประเทศในอาเซียนเหล่านั้นด้วยแล้ว ก็แน่นอนว่า จีนต้องการยกระดับความสัมพันธ์ที่ดำเนินมา 30 ปีให้แนบแน่นยิ่งขึ้น ดังจะเห็นได้จากการตอกย้ำถึงข้อเรียกร้องของจีนที่อยากให้ทั้งสองฝ่ายเดินหน้าความร่วมมือในเชิงลึกมากขึ้น ขณะเดียวกัน จีนก็ต้องการสานต่อการดำเนินโครงการตามนโยบาย BRI ให้เกิดเป็นรูปธรรม

        นอกจากนี้ การเยือนในรอบนี้ยังมีวาระพิเศษอันเนื่องจากวิกฤติโควิด-19 จึงอาจถือว่าเป็นการกระชับความสัมพันธ์ทางการทูตผ่านวัคซีนโควิด-19 หรืออาจเรียกว่าเป็นวาระ “เส้นทางสายไหมด้านสุขภาพ” (Health Silk Road) เลยก็ว่าได้

        ในการเยือนเมียนมาร์ จีนต้องการสานต่อการดำเนินโครงการภายใต้ BRI อาทิ ระเบียงเศรษฐกิจจีน-เมียนมาร์ ท่าเรือน้ำลึกจ้าวผิ่ว เมืองใหม่ย่างกุ้ง และเขตความร่วมมือทางเศรษฐกิจชายแดนจีน-เมียนมาร์ นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังลงนามในบันทึกความเข้าใจเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการก่อสร้างเส้นทางรถไฟเชื่อมมัณฑะเลย์ ซึ่งเป็นเมืองเศรษฐกิจอันดับ 2 ของเมียนมาร์กับเมืองจ้าวผิ่วในรัฐยะไข่

        จีนยังตกลงที่จะเร่งช่วยเหลือเรื่องวัคซีนและการต่อสู้เชื้อโควิด-19 เพื่อให้การจะเป็นประเทศผู้ประสานงานของอาเซียนใน 3 ปีข้างหน้า ดำเนินไปอย่างราบรื่น 

        การเยือนอินโดนีเซียก็เต็มไปด้วยสีสันเช่นกัน ทั้งสองฝ่ายได้หารือถึงการเดินหน้าโครงการก่อสร้างเส้นทางรถไฟความเร็วสูงจาการ์ต้า-บันดุง และ “สองประเทศ, สวน (อุตสาหกรรม) แฝด” (Twin Parks) รวมทั้งระเบียงเศรษฐกิจครบวงจรประจำภูมิภาค 

        ขณะที่การหารือกับบรูไนมุ่งเน้นไปที่การเปิดช่องทางด่วนพิเศษในการเคลื่อนย้ายปัจจัยการผลิต อาทิ คน และสินค้า และการสร้างเสถียรภาพห่วงโซ่อุปทานระหว่างกัน การสานต่อหลายโครงการ อาทิ โรงกลั่นน้ำมันและปิโตรเคมี และระเบียงเศรษฐกิจกวางสี-บรูไน 

เมื่ออินทรีย์ร่อน มังกรรำ ... อาเซียนก็เนื้อหอมยิ่ง โดย ดร.ไพจิตร  วิบูลย์ธนสาร

มาถึงตรงนี้ทำให้ผมอดจินตนาการต่อไม่ได้ว่า ในอนาคตอันใกล้จะเห็นคนจีนเกลื่อนบรูไนเป็นแน่ ...

        นอกจากนี้ จีนยังตอบตกลงฟิลิปปินส์ที่จะร่วมมือในการแก้ไขวิกฤติโควิด-19 อย่างเต็มกำลัง โดยจีนยินดีบริจาควัคซีน 500,000 โดส การช่วยพลิกฟื้นเศรษฐกิจ และการสานต่อโครงการภายใต้โปรแกรม “Build Build Build” 

        รวมทั้งอนุมัติเงินกู้ 500 ล้านหยวนเพื่อช่วยพลิกฟื้นเศรษฐกิจ ปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน และชีวิตความเป็นอยู่ และโครงการศึกษาความเป็นไปได้ในโครงการที่ตกลงกัน 

        ประการสุดท้าย ประเทศในอาเซียนเกือบทั้งหมดเป็นเพื่อนบ้านที่มีพรมแดนทางบกและหรือทางทะเลกับจีน ซึ่งมีปัญหากรณีพิพาทหมู่เกาะทะเลจีนใต้ค้างคากันอยู่

        แน่นอนว่า จีนไม่อยากให้ปัจจัยเชิงลบเหล่านี้ทำให้การสานสัมพันธ์ระหว่างกันหยุดชะงักลง 

        หากเปรียบเป็นระยะทาง ตลอดช่วงเวลาของความสัมพันธ์อาเซียน-จีนที่ผ่านมาก็ยังเป็นเพียงก้าวแรกเท่านั้น อาเซียนและจีนควรจับมือเดินทางไกลร่วมกัน เพราะทั้งสองฝ่ายมีหนทางที่สวยงามและทอดยาวรออยู่ข้างหน้า 

        ปัจจัยเชิงบวกที่เต็มไปด้วยประโยชน์และศักยภาพทางเศรษฐกิจดังกล่าวข้างต้นจะช่วยลดปัจจัยเชิงลบระหว่างจีนและอาเซียนในด้านอื่นที่มีอยู่ อาทิ กรณีพิพาทเรื่องหมู่เกาะทะเลในจีนใต้ บ่อยครั้งที่เราเห็นโอกาสมหาศาลจากความร่วมมือที่รออยู่ ก็อาจพักประเด็นความขัดแย้งไว้ก่อน

        ยิ่งหากพิจารณาในเรื่องจังหวะเวลาที่โจ ไบเดนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี ซึ่งมีแนวโน้มสูงที่จะตามมาด้วยการฟื้นคืนชีพของนโยบาย “ปักหมุดเอเชีย” (Pivot to Asia) ที่เคยใช้ในสมัยประธานาธิบดีบารัก โอบามา อีกครั้ง 

เสียงยังไม่ทันขาดคำ เราก็เห็นสหรัฐฯ เริ่มปรับหมากเข้ามาแทรกแซงในพื้นที่ในทันที ... 

        ในหลายวันที่ผ่านมา เราเห็นการเคลื่อนเรือรบของสหรัฐฯ มาป้วนเปี้ยนแถวหมู่เกาะทะเลจีนใต้ การเชิญหัวหน้าสำนักงานเศรษฐกิจของไต้หวันในพิธีสาบานตนของประธานาธิบดีโจ ไบเดนอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และการออกคำเตือนจากรัฐบาลสหรัฐฯ เกี่ยวกับการปฏิบัติของรัฐบาลจีนที่มีต่อซินเจียง และไต้หวัน ซึ่งล้วนถือเป็นประเด็นที่อ่อนไหวต่อความรู้สึกยิ่ง

        นอกจากนี้ รัฐบาลสหรัฐฯ ยังประกาศว่าจะกลับมากระชับความสัมพันธ์กับอาเซียนอีกครั้ง เหล่านี้สะท้อนว่า การเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับอาเซียนเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งยวดสำหรับจีน 

        อาเซียนในทศวรรษที่ 2020 เป็นสาวงามที่กำลังเนื้อหอมยิ่ง ...


เกาะติดข่าวที่นี่

website: www.TNNTHAILAND.com
facebook : TNNONLINE
facebook live : TNN Live
twitter : TNNONLINE
Line : @TNNONLINE
Youtube Official : TNNONLINE
Instagram : TNN_ONLINE
TIKTOK : @TNNONLINE

ข่าวแนะนำ