TNN online สินเชื่อแบงก์ยังโต สะท้อนอะไรต่อเศรษฐกิจไทยปีนี้?

TNN ONLINE

TNN Exclusive

สินเชื่อแบงก์ยังโต สะท้อนอะไรต่อเศรษฐกิจไทยปีนี้?

สินเชื่อแบงก์ยังโต สะท้อนอะไรต่อเศรษฐกิจไทยปีนี้?

ภาพรวมสินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ในไตรมาส 2 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 5% ยังคงแข็งแกร่ง แต่ในหลายสถาบันการเงินยังคงห่วงการเพิ่มขึ้นของ NPL ในระยะต่อจากนี้จะกระทบการเติบโตของเศรษฐกิจ


        เมื่อวานนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เปิดเผยผลการดำเนินงานของธนาคารพาณิชย์ไตรมาส 2/2563  โดยพบว่าสินเชื่อแบงก์ยังแข็งแรง  และยังคาดว่าทั้งปีโต 5% 

        โดยนายธาริฑธิ์ ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายตรวจสอบและวิเคราะห์ความเสี่ยงสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เปิดเผยว่า การเติบโตของสินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ในไตรมาส 2 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 5% เทียบจากช่วงเดียวกันปีก่อน และเพิ่มขึ้นจากไตรมาสแรกที่เติบโต 4.1% จากการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อเยียวยาและประคองธุรกิจจากวิกฤติโควิด-19

สินเชื่อแบงก์ยังโต สะท้อนอะไรต่อเศรษฐกิจไทยปีนี้?

        แต่ที่ยังน่าเป็นห่วง ก็ยังคงเป็นหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล)ในไตรมาส 2 ปี 63 ของระบบธนาคารพาณิชย์เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าจาก 3.04% มาอยู่ที่ 3.09% ต่อสินเชื่อรวม มียอดคงค้างของเอ็นพีแอลสูงเกิน 5.09 แสนล้านบาท  จากธุรกิจสายการบินขนาดใหญ่แห่งหนึ่งตกชั้นเป็นเอ็นพีแอล ซึ่งเอ็นพีแอลในครั้งนี้ที่เกิดวิกฤติโควิด-19 ไม่ได้เพิ่มสูงมากมาจากมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้เชิงป้องกัน เพื่อชะลอการตกชั้นของคุณภาพหนี้ได้บ้าง ซึ่งแบงก์ชาติคาดว่าเอ็นพีแอลสิ้นปีเพิ่มขึ้นบ้างแต่อาจไม่ได้มากนัก

        สอดคล้องกับทางด้าน นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทย (TMB) ที่มองแนวโน้มหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ในช่วงครึ่งปีหลังนี้  จะยังมีโอกาสเพิ่มขึ้นต่อเนื่องไปถึงปี 64 เนื่องจากปัจจุบันยังอยู่ในช่วงของมาตรการพักชำระหนี้ ทำให้ยังไม่เห็นถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจริง แต่หลังจากที่สิ้นสุดมาตรการแล้วจะเริ่มเห็นแนวโน้มของ NPL ที่จะมีโอกาสทยอยเพิ่มขึ้น เพราะยังมีลูกค้าและภาคธุรกิจบางกลุ่มที่ยังไม่ฟื้นกลับมาได้ และลูกค้าบางรายยังตกงานอยู่ ทำให้ NPL ในช่วงครึ่งปีหลังจะเพิ่มขึ้นจากไตรมาส 2/63 ที่ 2.3% ซึ่งธนาคารทหารไทยตั้งเป้าควบคุม NPL ให้ไม่เกิน 3% ในสิ้นปีนี้  

        "ลูกค้าบางรายออาจจะยังไม่ฟื้นหรือยังไม่งานทำ ทำให้ธนาคารต้องเตรียมตัวช่วยเหลือลูกค้า และเตรียมแพ็คเกจที่เหมาะสมให้กับลูกค้าแต่ละราย หลังจากหมดมาตรการช่วยเหลือไปแล้ว เพราะขาออกของแต่ละคนจะแตกต่างตามสถานการณ์ของลูกค้า ทำให้เราต้องเตรียมตัวล่วงหน้า เพราะหากหนี้เสียเกิดขึ้นมาก ก็กระทบกับทุนของธนาคาร และส่งผลมาให้ธนาคารไม่สามารถเดินหน้าธุรกิจรายได้ใหม่ๆเข้ามาได้"นายปิติ กล่าว

สินเชื่อแบงก์ยังโต สะท้อนอะไรต่อเศรษฐกิจไทยปีนี้?

        ด้านนายอภินันท์ เกลียวปฏินนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) มองว่า ในช่วงที่เหลือของปี63 ด้วยสถานการณ์ที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง ประกอบกับมาตรการที่ผ่อนคลายให้แก่ลูกหนี้จะทยอยหมดลง น่าจะส่งผลต่อสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ขยับเพิ่มมาที่ประมาณ 3.9% จากครึ่งปีแรกที่ 3.4% Credit Cost เพิ่มขึ้นเล็กน้อยที่ระดับ 2.5% จากครึ่งปีแรกที่ 2.32%  แต่ธนาคารยังคงอัตราการเติบโตของสินเชื่่อปีนี้ที่ระดับ 7-9% จากครึ่งปีแรกที่เติบโตได้ 5%  

        "ยอดคงค้างสินเชื่อที่เพิ่มขึ้นในครึ่งปีแรกนั้น เป็นผลมาจากการพักชำระหนี้ของลูกหนี้ที่เข้าโครงการทำให้ค่างวดที่ต้องหักออกไปยังคงอยู่ แต่หากหักส่วนดังกล่าวยอดคงค้างโตเป็น 0% เพราะสินเชื่อใหม่หดตัวลง ซึ่งเป้าหมายสินเชื่อเติบโตทั้งปีดังกล่าวก็มีส่วนจากกรณีดังกล่าวด้วย แต่ก็อาจจะมีส่วนเพิ่มขึ้นบ้างจากลูกหนี้รายใหญ่ที่กลับมาใช้สินเชื่อแบงก์เพราะระดมทุนจากตราสารหนี้ได้ยาก"นายอภินันท์ กล่าว 

สินเชื่อแบงก์ยังโต สะท้อนอะไรต่อเศรษฐกิจไทยปีนี้?

        ธนาคารเกียรตินาคินภัทร ยังประเมินจีดีพีไทยปีนี้ที่ -9% แต่หากเป็นกรณีเลวร้าย เช่น มีการระบาดของโควิด-19 ระลอก 2 ทำให้การส่งออก การท่องเที่ยวกลับมาชะงักไปอีกก็อาจจะทำให้หดตัวเพิ่มขึ้น -12 ถึง -15% ซึ่งในช่วงครึ่งปีหลัง 3 เรื่องที่ต้องลุ้นหรือคอยจับตา คือ

    1.สถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 

    2.เศรษฐกิจไทยอาจจะยังโตต่ำกว่าศักยภาพไปอีกสักระยะหนึ่ง เพราะเศรษฐกิจไทยพึ่งพิงการท่องเที่ยวจากต่างชาติค่อนข้างมาก และการใช้จ่ายจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ

    และ 3.การอัดฉีดของภาครัฐ เนื่องจากสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีของไทยเองอาจจะเพิ่มจากร้อยละ 41 ในปี 2562 ไปถึงร้อยละ 60 ในปีหน้า ซึ่งอาจจะเป็นข้อจำกัดในการดำเนินนโยบายในอนาคต

        นอกจากนี้ อีก 2 ปัจจัยเสี่ยงที่ควรต้องระวัง คือ ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับจีนที่ทวีความรุนแรงขึ้น และการเลือกตั้งสหรัฐฯ ที่อาจจะนำไปสู่ความไม่แน่นอนด้านนโยบาย และอาจมีผลต่อนโยบายเศรษฐกิจไทย เช่น การตัดสินใจเข้าร่วม CPTPP (Comprehensive and Progressive Trans-pacific Partnership) หรือความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิกของไทย


ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

  เช็กด่วน!มาตรการพักหนี้แต่ละแบงก์สิ้นสุดเมื่อไหร่?

  เปิดสถานะกองทุน ประกันสังคม มีพอจ่ายเยียวยาคนตกงานไหม?

  เศรษฐกิจโงหัวไม่ขึ้น!!หากโควิด-19 ระบาดหนักอีกรอบ

  เปิดโครงสร้าง ศบค.เศรษฐกิจ ทำไมพ่วง “ไพรินทร์”เสริมทัพ?




เกาะติดข่าวที่นี่

website: www.TNNTHAILAND.com
facebook : TNNONLINE
facebook live : TNN Live
twitter : TNNONLINE
Line : @TNNONLINE
Youtube Official : TNNONLINE
Instagram : TNN_ONLINE
TIKTOK : @TNNONLINE

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง