การฝึกแบบ “วิถีเกาหลี” ของ “โค้ชเช” ชัชชัย เช พาเทควันโดไทยไปไกลระดับโลก | Exclusive
สิ่งหนึ่งที่ “โค้ชเช” นำมาฝังเข้าไปใน DNA ของนักกีฬาเทควันโดสัญชาติไทย คงหนีไม่พ้นการปลูกฝังระเบียบวินัยในรูปแบบ “วิถีเกาหลี (Korean Way)” เพราะธรรมชาติของคนเกาหลีจะเคร่งครัดวินัยในทุกเรื่องเพราะได้รับการฝึกฝนอบรม และปลูกฝังให้เป็นผู้รักษาวินัยอย่างเคร่งครัดจนกลายเป็นอุปนิสัย
นับเป็นประวัติศาสตร์ครั้งยิ่งใหญ่ของวงการกีฬาและเทควันโดของไทย กับการผงาดคว้าเหรียญทองของ “เทนนิส - พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ” ถือเป็นการคว้าเหรียญทองโอลิมปิกในการแข่งขันเทควันโดหญิง ประเภท 49 กิโลกรัมเป็นครั้งที่สองติดต่อกัน สร้างตำนานเป็นคนไทยคนแรกที่ครอง 2 เหรียญทองโอลิมปิก และ เป็นนักกีฬาไทยคนเดียวที่สามารถคว้าเหรียญในการแข่งขันโอลิมปิก 3 ครั้งติดต่อกัน
แต่ผู้ที่ต้องยกเครดิตให้ไม่น้อยไปกว่ากัน นั่นคือ “ชัชชัย เช” หรือ “โค้ชเช” เพราะนับตั้งแต่ “โค้ชเช”เข้ามาเป็นโค้ชให้นักกีฬาทีมชาติไทย ก็สามารถพาทัพนักกีฬาเทคควันโดไทยโกยเหรียญรางวัลจากโอลิมปิกมาได้อย่างต่อเนื่อง เรียกได้ว่าพลิกฟื้นกีฬาชนิดนี้ให้ประเทศไทยสามารถยืนหนึ่งได้ในวงการเทควันโดระดับโลกได้อย่างเต็มภาคภูมิ
สิ่งหนึ่งที่ “โค้ชเช” นำมาฝังเข้าไปใน DNA ของนักกีฬาเทควันโดสัญชาติไทย คงหนีไม่พ้นการปลูกฝังระเบียบวินัยในรูปแบบ “วิถีเกาหลี (Korean Way)” เพราะธรรมชาติของคนเกาหลีจะเคร่งครัดวินัยในทุกเรื่องเพราะได้รับการฝึกฝนอบรม และปลูกฝังให้เป็นผู้รักษาวินัยอย่างเคร่งครัดจนกลายเป็นอุปนิสัย
วิถีเกาหลีสามองค์ประกอบ
ในแต่ละประเทศย่อมมีวิถีที่แตกต่างกัน แต่สำหรับโลกตะวันออก วิถีเกาหลีถือได้ว่าประเทศไทยมีความคุ้นชินไม่น้อย เพราะในช่วงประมาณ 10 ปีที่ผ่านมาวัฒนธรรมเกาหลีได้แทรกซึม และ กล่อมเกลาคนไทยผ่านสื่อบันเทิงต่างๆ ทั้งภาพยนตร์ ซีรีย์ และ ความคลั่งไคล้ในศิลปิน K-POP
นายเสกสรร อานันทศิริเกียรติ ผู้อำนวยการฝ่ายประชาสัมพันธ์ สมาคมไทยคดีศึกษาแห่งสาธารณรัฐเกาหลี (Korean Association of Thai Studies : KATS) และนักวิจัยแห่งศูนย์ศึกษาการต่างประเทศ (International Studies Center : ISC) ชี้ให้เห็นว่า “วิถีเกาหลี” จำเป็นต้องมีองค์ประกอบสำคัญ 3 ประการ ดังนี้
ประการแรก นั่นคือ “การทำให้เสร็จ ทำให้สุด” หมายถึง การที่ทำอะไรจะต้องทำให้เต็มที่ภายในระยะเวลาอันสั้น และผลงานจะต้องออกมาดีที่สุด แม้การทำงานเพื่อผลลัพธ์ที่ดีเลิศ หรือ ความสมบูรณ์แบบต้องใช้เวลามากกว่าปกติ
แต่วิถีเกาหลีต้องยึดหลัก “งานดี ใช้เวลาน้อย ทำเต็มที่” เป็นมาตรฐานในการลงมือทำทุกสิ่ง ซึ่งหากไม่สามารถที่จะบรรลุเป้าหมาย ก็เท่ากับว่า “ขาดวิถีเกาหลี” โดยคนเกาหลีให้ความสำคัญกับหลักการนี้จนเกิดความกดดัน และ ภาวะเครียด นำไปสู่สถิติการเกิดอัตนิวิบาตกรรมที่สูงเป็นอันดับ 1 ของโลก
ประการที่สอง นั่นคือ “ความมีวินัยและมุมานะ” หมายถึง การจะทำบางสิ่งให้ออกมาดีด้วยระยะเวลาอันสั้น หากขาดสิ่งที่มากำกับนิสัยและพฤติกรรมของเราอย่างเคร่งครัด โดยวินัยนั้น สามารถสร้างได้โดยมี “ผู้บังคับให้ทำ” ในกีฬาก็คือโค้ช หากอยากมีวินัยก็จะต้องเชื่อฟังโค้ชอย่างเคร่งครัด ส่วนมุมานะนั้นเป็นเรื่องส่วนบุคคล เพราะหากจิตใจไม่เอาอะไรเลย ต่อให้บังคับแทบตายก็ขาดวินัยได้เรื่อย ๆ
โดยโค้ชเกาหลีขึ้นชื่อเรื่องความเข้มงวด และ การลงโทษที่หนักหน่วงเพื่อควบคุมวินัยของนักกีฬามากกว่าโค้ชชาวไทยทั่วไป ซึ่ง “โค้ชเช” สามารถยืนหยัดในหลักการ และ สร้างการยอมรับจากนักกีฬาได้เป็นอย่างดี โดยเรื่องนี้ เล็ก - ชนาธิป ซ้อนขำ เจ้าของเหรียญเงินโอลิมปิก 2012 ประเภทหญิง 49 กิโลกรัม ได้กล่าวว่า
“จากเด็กต่างจังหวัดคนหนึ่ง ฝีมือก็ไม่ดีสักเท่าไหร่ เมื่อเปรียบเทียบกับเด็กที่มาคัดด้วยกันตอนนั้นเราเองฝีมือก็ไม่เก่ง แต่ “โค้ชเช” กลับให้โอกาส ซึ่งน้อยคนจะได้รับคือการเป็นตัวแทนทีมชาติไทย หลังจากนั้นเราเองก็ได้รับการฝึกสอนและพัฒนาขึ้นมาเรื่อยๆ … ตลอดระยะการทำงานของโค้ช สร้างผลงานต่าง ๆ มากมายให้กับประเทศไทย ในขณะที่เขาเป็นคนเกาหลี”
หรือ วิว - เยาวภา บุรพลชัย เจ้าของเหรียญทองแดงโอลิมปิก 2004 ประเภทหญิง 49 กิโลกรัม ก็ได้กล่าวว่า
“เมื่อก่อนพวกรุ่นพี่ๆ ที่เคยทำผิดล้วนโดนหนักกว่านี้มาแล้วทั้งนั้น แต่ทุกคนก็รับได้ เนื่องจากเข้าใจว่าตัวโค้ชเชมีความตั้งใจเต็มที่ที่จะให้นักกีฬาประสบความสำเร็จ”
การนำ “วิถีเกาหลี” เข้ามปลูกฝังให้กับนักกีฬาไทย ส่งผลให้นักกีฬามีผลงานที่ทรงประสิทธิภาพในการแข่งขัน จนสามารถคว้าเหรียญรางวัลจากโอลิมปิกกลับประเทศได้อย่างต่อเนื่อง หรือก็คือ โค้ชเชให้การสร้างวินัยมาแล้ว ส่วนความมุมานะเป็นเรื่องที่นักกีฬาต้องตอบตนเองให้ได้ว่าอยากทำตามหรือไม่
ประการสุดท้าย นั่นคือ "กินร้อนแก้ร้อน กินเย็นแก้เย็น" หมายถึง เมื่อมีการทำให้เสร็จ ทำให้สุด ด้วยวินัยและมุมานะ แต่หากยังไม่สัมฤทธิ์ผล ก็จะต้องพยายามฝืนทำไปจนกว่าจะเห็นผล แม้ว่าสิ่งนั้นจะต้องผ่านความยากลำบากจากการฝึกฝนร่างกาย และ จิตใจ อย่างเข้มข้น
เรื่องนี้ สะท้อนออกมาจาก การให้สัมภาษณ์ของ เทนนิส - พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ กับ ThaiPBS ที่กล่าวว่า "ครั้งนี้จะเป็นการต่อสู้ครั้งสุดท้ายของหนู … หนูยอมเสียสละทั้งร่างกาย … จนมันพังไปหมดแล้วโอลิมปิกครั้งนี้จะเป็นครั้งสุดท้ายที่หนูจะยอมแลก" ซึ่งตีความได้ว่า เทนนิสยอมแลกแม้กระทั่งขีดจำกัดของตนเอง แม้ปากจะบอกว่าไม่ไหว แต่เพื่อทำตามวิถีที่ “โค้ชเช” อบรบสั่งสอน ก็จำเป็นต้องแลก
เหมาะสมกับทุกกีฬาในไทยหรือไม่ ?
สำหรับ “วิถีเกาหลี” ซึ่งส่งผลดีอย่างประเมินค่าไม่ได้ต่อการทำให้เทควันโดไทยโดดเด่นเป็นสง่าในเวทีโลกได้ แต่คำถามที่ตามมา นั่นคือ ในวงการกีฬาประเภทอื่น ๆ หรือวงการอื่น ๆ นอกเหนือจากกีฬาของไทยจะสอดรับกับวิถีเกาหลีเช่นนี้หรือไม่ ?
ตรงนี้ นายเสกสรร ได้อธิบายว่า “ยากมาก ๆ” นั่นเพราะ “การฝึก หรือ อบรมในแบบไทยคือต้องซื้อใจก่อน ต้องมีการหลอกล่อ หรือ ใช้ทักษะโน้มน้าว ไม่สามารถบังคับ หรือ สั่งการได้อย่างเด็ดขาด เพระมีความเสี่ยงที่นักกีฬาจะต่อต้าน หรือ อาจล้มเลิก และ ลาออกจากการเป็นนักกีฬา ซึ่งตรงข้ามกับเกาหลีที่ต้องยอมทำตามคำสั่งโค้ชแบบไม่มีเงื่อนไข
แต่หากต้องการความสำเร็จแบบ “วิถีเกาหลี” คือต้องหาสมดุล หรือ นำมาปรับให้เข้ากับอุปนิสัยของคนไทย ยกตัวอย่างคนไทยอาจจะชอบการเก็บขยะของญี่ปุ่น คือลักษณะแบบนี้อาจจะน่ารักกว่ามากในสายตาคนไทย แต่เกาหลีไม่เป็นแบบนี้ คุณเก็บเพื่ออะไร ไม่ใช่หน้าที่ ตรงนี้น่าสนใจว่าท้ายที่สุดจะปฏิบัติอย่างไร ผมไม่เห็นหนทางแบบรับมาทั้งหมดจริง ๆ”
และเมื่อนำไปเทียบเคียงกับวงการกีฬาอื่น ๆ ก็จะพบว่า แทบจะไม่มีโค้ชชาวเกาหลีใด ๆ เลยที่ประสบความสำเร็จได้แบบ “โค้ชเช” แม้กระทั่งทุนเกาหลีที่เข้ามายังประเทศไทย ก็ไม่อาจที่จะเทียบเทียม “ทุนญี่ปุ่น” ที่มาพร้อมกับ “วิถีญี่ปุ่น” ได้
แม้การนำ “วิถีเกาหลี” มาใช้ในบริบทแบบไทยอาจเป็นเรื่องยาก แต่หากโฟกัสเฉพาะข้อดีก็ต้องยอมรับว่าการนำ “วิถีเกาหลี” มาปรับใช้อาจเพิ่มความได้เปรียบให้กับนักกีฬาไทยได้มากขึ้น เห็นได้ชัดจาก บทสัมภาษณ์ของ “ปิยะพงษ์ ผิวอ่อน” สุดยอดนักฟุตบอลระดับตำนานของทีมชาติไทย ที่เคยพูดไว้ในรายการเจาะใจ ที่เขาแสดงให้เห็นว่า การที่บินข้ามน้ำข้ามทะเลไปค้าแข้งยัง “ลีกเกาหลี” ทำให้เขามีวินัยมากขึ้น เป็นเพราะสิ่งแวดล้อมรอบตัวต่างมุ่งไปในทิศทางเดียวกันทั้งหมด แม้ในอดีต “ปิยะพงษ์” จะมีกรอบความคิดว่าไม่จำเป็นต้องซ้อมก็ฝีมือเหนือกว่านักฟุตบอลคนอื่น แต่เมื่ออยู่ในสังคมเกาหลีก็ต้องปรับตัว และ เคยชินกับการมีวินัย เคร่งครัด ซ้อมหนัก เพราะการแข่งขันสูง หากวินัยหย่อนยานเท่ากับว่าจะไม่มีที่ยืนแม้แต่ม้านั่งสำรองจนในที่สุด “วิถีเกาหลี” ได้เปลี่ยนให้ศูนย์หน้าอย่างปิยะพงษ์กลายเป็นเพชฌฆาตในกรอบเขตโทษที่สมบูรณ์แบบมากยิ่งขึ้น
จากที่ยกตัวอย่างมาอาจจะมองได้ว่าการนำ “วิถีเกาหลี” เข้ามาเป็นแนวทางในการสร้างวินัยให้นักกีฬาในบริบทสังคมไทยอาจไม่ใช่เรื่องง่าย แต่หากต้องการผลลัพธ์ที่ทรงประสิทธิภาพ เพื่อนำพานักกีฬาไทยให้ไปสู่ระดับโลกอย่างต่อเนื่องให้ได้อย่าง “โค้ชเช” ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า “วิถีเกาหลี” น่าจะเป็นหนึ่งในแนวทางที่น่าสนใจไม่น้อยเลยทีเดียว
Exclusive by วิศรุต หล่าสกุล [Hayden Whiz]
แหล่งอ้างอิง