TNN “เดนมาร์ก” ยึดหัวหาดแบดมินตันแม้เอเชียเป็นเจ้าวงการได้อย่างไร? | Exclusive

TNN

TNN Exclusive

“เดนมาร์ก” ยึดหัวหาดแบดมินตันแม้เอเชียเป็นเจ้าวงการได้อย่างไร? | Exclusive

“เดนมาร์ก” ยึดหัวหาดแบดมินตันแม้เอเชียเป็นเจ้าวงการได้อย่างไร? | Exclusive

กรณีล่าสุดที่ “วิกเตอร์ เอ็กเซลเซน (Viktor Axelsen)” คว้าเหรียญทองประเภทชายเดี่ยวแบบไล่เก็บนักกีฬาชาวเอเชียไปหลายต่อหลายคน ทำให้เกิดความสนใจว่า “เดนมาร์ก” ดีอย่างไร จึงเทียบรัศมีความเก่งกาจของกีฬาแบดมินตันจากเอเชียได้ เพราะหากกล่าวถึงกีฬา “แบดมินตัน” เรามักจะนึกถึงนักกีฬาจาก “ทวีปเอเชีย” เป็นหลัก ไม่ว่าจะหญิงหรือชาย เพราะต่างก็ครองหัวตารางแรงกิ้งหรือได้แชมป์ระดับเมเจอร์ทั้งสิ้น

หากกล่าวถึงกีฬา “แบดมินตัน” เรามักจะนึกถึงนักกีฬาจาก “ทวีปเอเชีย” เป็นหลัก ไม่ว่าจะหญิงหรือชาย เพราะต่างก็ครองหัวตารางแรงกิ้งหรือได้แชมป์ระดับเมเจอร์ทั้งสิ้น 


ไม่ว่าจะเป็นจีนที่มีทั้ง ชี อู่ ฉวี มือ 1 ของโลกประเภทชาย หรือ เฉิน อู่ เฟย มือ 1 ของโลกประเภทหญิง ณ ปัจจุบัน มาเลเซียที่เคยมี ลี ชอง เหว่ย หรือกระทั่งประเทศไทย ที่มี เมย์ - รัชนก อินทนนท์ อดีตมือ 1 ของโลก และล่าสุด “วิว - กุลวุฒิ วิทิตศานต์” เจ้าของเหรียญเงินโอลิมปิกชายเดี่ยว และเป็นเหรียญรางวัลแรกของสมาคมแบดมินตันของไทย 


กระนั้น จากกรณีล่าสุดที่ “วิกเตอร์ เอ็กเซลเซน (Viktor Axelsen)” คว้าเหรียญทองประเภทชายเดี่ยวแบบไล่เก็บนักกีฬาชาวเอเชียไปหลายต่อหลายคน ทำให้เกิดความสนใจว่า “เดนมาร์ก” ดีอย่างไร จึงเทียบรัศมีความเก่งกาจของกีฬาแบดมินตันจากเอเชียได้


รู้หรือไม่ว่า จากประวัติศาสตร์จะพบว่า เดนมาร์กนั้น เคยเก่งกว่าเอเชียเสียด้วยซ้ำในยุค 1950 - 1970 


ท้องถิ่นแข็งแกร่ง


เดนมาร์กก็เหมือนกับประเทศในยุโรปทั่วไป ที่รัฐบาลส่งเสริมกีฬาแบบกระจายไปยังทุกพื้นที่ เพื่อให้เกิดสุขอนามัยที่แข็งแรงของประชาชน โดยเฉพาะเยาวชน รัฐบาลจะเน้นหนักเป็นพิเศษ ทั้งการให้เงินสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานทางกีฬา หรือการให้ทุนการศึกษาหากทำผลงานได้ดี ส่วนที่ว่าเอาเงินมาจากไหน ก็มาจากภาษีของผู้ปกครองพวกเขาในระดับเกิน 50% ของเงินเดือนทั้งนั้น


เมื่อเป็นเช่นนี้ ทำให้ตามท้องถิ่นต่าง ๆ มีสโมสรกีฬาเกิดขึ้นมามากมาย ซึ่งสโมสรนั้น ๆ ไม่ได้มุ่งเน้นกีฬาใดกีฬาหนึ่ง อาทิ สโมสรโคเปนเฮเกน (Kjøbenhavns) เราอาจจะคุ้นหูว่าเป็นสโมสรฟุตบอลระดับยุโรป แต่จริง ๆ ก็มีกีฬาแบดมินตัน ว่ายน้ำ และเปตองร่วมด้วย


เมื่อสโมสรแข็งแกร่งในระดับท้องถิ่น หมายความว่า เยาวชนและผู้ปกครองต่างล้วนสนับสนุน หากบุตรหลานอยากเป็นนักกีฬา และเป็นการการันตีว่า อุปกรณ์ฝึกซ้อมและสนามแข่งขันจะมีคุณภาพ ไม่ได้ฝึกซ้อมแบบคลุกดินคลุกฝุ่นข้างถนนแบบตามมีตามเกิด


อีกทั้ง ยังเป็นการการันตีให้รัฐบาลได้ว่า แม้ประเทศจะมีประชากรไม่มากเพียงประมาณ 6 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นเยาวชนเกือบ 1 ล้านคน การเลือกเป็นนักกีฬาจะไม่ทำให้สูญเสียแรงงานในตลาดแบบสูญเปล่า เพราะถือว่าทุ่มพัฒนาแบบถูกทางจริง ๆ


แต่เมื่อสโมสรท้องถิ่นมีมากเข้า สิ่งที่เป็นปัญหาก็คือ เราจะควบคุมคุณภาพให้เป็นมาตรฐานได้อย่างไร ? เพราะรัฐบาลใช่ว่าจะดูแลได้ทั่วถึง และอาจทำให้ทรัพยากรมนุษย์อันมีค่าสูญเปล่า ดังนั้น “Badminton Denmark” จึงเกิดขึ้นในปี 1930


องค์กรนี้ จัดตั้งในรูปแบบของสหภาพสโมสร ซึ่งเป็นบอร์ดบริหารร่วมกันพัฒนาแนวทางการเล่น การฝึกซ้อม รูปแบบการแข่งขัน หรือกระทั่งการเลือกส่งนักกีฬาไปแข่งขัน เพื่อให้เกิดการรวมเป็นเนื้อเดียวกัน (Integration) เป็น Master Plan เพื่อให้รู้จุดประสงค์ว่าแต่ละสโมสรควรจะทำอย่างไร ไม่แตกแถวง่าย ๆ 


มีที่ทางให้ปล่อยของ


เท่านั้นยังไม่พอ เมื่อมีสหภาพสโมสรแล้ว หากมุ่งเน้นส่งแต่รายการใหญ่ คือ “ออล อิงแลนด์ โอเพน” ที่อังกฤษ  ซึ่งถือได้ว่าเป็น “การชิงแชมป์โลก”  ก็ต้องผ่านด่านสุดหินจากประเทศเจ้าภาพ รวมถึงนักกีฬาจากเอเชีย 


ดังนั้น ทางออกที่จะทำให้นักแบดมินตันเดนมาร์กได้มีสนามให้ทดสอบฝีมือ จึงเป็นการตั้งทัวร์นาเมนต์ขึ้นมาเอง ในปี 1936 โดยใช้ชื่อว่า “เดนมาร์ก โอเพน” ซึ่งถือว่าเป็นรายการเมเจอร์แบดมินตันเก่าแก่ลำดับที่ 2 ของโลก


ช่วงแรก ๆ มีแต่นักกีฬาเดนมาร์กลงแข่งขันกันเอง คว้าแชมป์กันเอง แต่พอทัวร์นาเมนต์ได้รับความนิยม ก็ทำให้มีบรรดานักกีฬาที่มีชื่อเสียงเข้ามาร่วมการแข่งขันด้วย


ตรงนี้ ถือเป็นข้อดีอีกอย่างหนึ่งในการพัฒนาแบดมินตันในประเทศเดนมาร์ก เพราะถึงแม้จะฝึกซ้อมหนักหนาสาหัสเพียงใด แต่การไม่มี “คู่เทียบ” ก็เท่ากับว่าเราไม่รู้ว่าที่ซ้อมมานั้นทรงประสิทธิภาพหรือไม่ กลับกัน หากมีนักกีฬาเก่ง ๆ เข้ามาแข่งขันให้เรารับชมถึงบ้าน เราจะได้เห็นแนวทางที่ทำให้เขาประสบความสำเร็จแบบที่ไม่ต้องบินตามไปรับชมให้เมื่อย


เดนมาร์กใช้วิธีการเช่นนี้ในการ “ถอดบทเรียน” เพื่อทำให้ตนแข็งแกร่งขึ้น ประกอบกับการมีสโมสรท้องถิ่นที่เข้มแข็ง ทำให้เดนมาร์กนั้นรุดหน้ากว่ายุโรปด้วยกันเอง 


สูงสุดและสูงสุดอีกครั้ง


ความพยายามของเดนมาร์กในช่วงยุค 1930 - 1940 ในการพัฒนาวงการแบดมินตัน ส่งผลดีอย่างมาก ก่อนที่จะเว้นว่างไปในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และกลับมาอีกครั้งแบบยิ่งใหญ่อีกครั้ง


เทจ แมดเซน เป็นนักฬาแบดมินตันประเภทชายเดี่ยวคนแรกที่คว้าแชมป์ ออล อิงแลนด์ โอเพน มาครองได้ ในปี 1939 ทั้ง ๆ ที่เขาไม่ได้เป็นมือวาง หรือเป็นที่รู้จักมาก่อน นับเป็นผู้จุดประกายให้เดนมาร์กกล้าที่จะฝันให้ไกลไปให้ถึงมากยิ่งขึ้น 9 ปีต่อมา (1948) เดนมาร์กชิงกันเองในประเภทนี้ และเป็นยอร์น สการ์รับ คว้าแชมป์ไปได้ (ด้วยการชนะเพื่อนร่วมชาตินาม พอล โฮล์ม)


หลังจากนั้น มาเลเซียและอินโดนีเซียพุ่งขึ้นมาอย่างแรง (มาเลเซียในยุคของ ชอง เหว่ เพิ้ง และ หว่อง เพิ้ง ซุน ส่วนอินโดนีเซียในยุคของ รูดี้ ฮาร์โตโน) แต่ในยุค 1960 เดนมาร์กก็ถือกำเนิด “เออร์แลนด์ คอปส์” ปีศาจลูกขนไก่ที่ขึ้นถึงมือ 1 ของโลกมาแล้ว โดยเจ้าตัวชนะเลิศ ออล อิงแลนด์ โอเพน ไปถึง 7 สมัย 


ที่สำคัญ ชาวไทยจดจำเขาได้ดีในฐานะผู้ยัดเยียดความปราชัยให้แก่ “ศาสตราจารย์เจริญ วรรธนะสิน” ถึงสองครั้งสองครา (1960 - 1962) ทำให้ประเทศไทยฝังใจกับเมเจอร์นี้


หลังจากนั้น เดนมาร์กก็คงสถานะในวงการลูกขนไก่อย่างดีมาตลอด สร้างนักแบดมินตันเจ้าของสมญา “มิสเตอร์แบดมินตัน” นามว่า “มอร์เทน ฟอร์สท” แต่เขาคว้าแชมป์ ออล อิงแลนด์ โอเพน ไปเพียง 4 ครั้ง (1982 1984 1986 1987) และไม่เคยคว้าแชมป์ World Badminton Championships แม้แต่ครั้งเดียว (รายการแข่งขันใหม่ที่ยกสถานะชิงแชมป์โลกแทนออล อิงแลนด์ โอเพน) เพียงแต่ผลงานโดยรวมของเขาสม่ำเสมอ ทำให้ครองตำแหน่งมืออันดับ T0p 3 ของโลกได้ยาวนานกว่า 12 ปี


ก่อนที่ในปี 2024 นี้ วิกเตอร์ เอ็กเซลเซน จะขีดเขียนตำนานของตนเอง ด้วยการคว้าเหรียญทองด้วยชัยชนะเหนือ วิว กุลวุฒิ ไปได้สำเร็จ และเมื่อพิจารณาจากสถิติ เดนมาร์กได้ทั้งหมด 3 เหรียญทองจากกีฬาแบดมินตันในโอลิมปิก ซึ่งเอ็กเซลเซนคว้าไปแล้ว 2 (2020 และ 2024) ส่วนอีกสมัยมาจาก พอล-เอริค ฮอเยอร์ ลาร์เซน (Poul-Erik Høyer Larsen) เมื่อปี 1996 


จึงอาจเรียกได้ว่า เอ็กเซลเซน คือระดับตำนานอย่างไม่เคอะเขิน และทำให้เดนมาร์กยังคงต่อกรกับชาติเอเชียในวงการแบดมินตันไปได้ตราบนานเท่านาน


Exclusive by วิศรุต หล่าสกุล [Hayden Whiz]


แหล่งอ้างอิง


ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง