‘โรงเรียนมีแต่ครูผู้หญิง’ เสียงสะท้อนการอยู่เวรลำพัง ในวันที่ไม่มีภารโรง
‘โรงเรียนมีแต่ครูผู้หญิง’ เสียงสะท้อนจากครูจังหวัดอุทัยธานี กับการอยู่เวรลำพัง ในวันที่โรงเรียนไร้นักการภารโรง
จากกรณีที่มีครูสาวถูกชายบุกเข้าไปทำร้ายร่างกายจนบาดเจ็บหนัก ขณะที่เข้าเวรประจำการอยู่ที่โรงเรียนแห่งหนึ่ง ในจังหวัดเชียงราย ในช่วงวันหยุดราชการ คือวันที่ 20 มกราคม ที่ผ่านมา เหตุการณ์ดังกล่าว ส่งผลให้ครูผู้หญิงในแต่ละโรงเรียนเริ่มกังวลถึงความปลอดภัยทั้งในชีวิต, ทรัพย์สินของตัวเองและของราชการ หวั่นเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวซ้ำรอยขึ้นอีกในสถานศึกษาพื้นที่อื่น ๆ เพราะปัจจุบัน แต่ละโรงเรียนนั้นไม่มีนักการภารโรงอยู่ประจำการ เนื่องจากทุกโรงเรียนถูกปลดตำแหน่งดังกล่าวลง
ที่โรงเรียนบ้านห้วยไผ่ขุย โรงเรียนระดับชั้นประถมศึกษา ในเขตพื้นที่ ตำบลหนองนางนวล อำเภอหนองฉาง จังหวัดอุทัยธานี ซึ่งเป็นในโรงเรียนแห่งในจังหวัดอุทัยธานีที่มีครูเป็นผู้หญิงล้วน และต้องเดินทางมาเข้าเวรประจำการเฝ้าที่โรงเรียนด้วยเช่นกัน
ทาง นางปัทมนันท์ อิสริยภานันท์ ครูชำนาญการพิเศษ รักษาการผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านห้วยไผ่ขุย เผยว่า เรื่องของการอยู่เวรประจำโรงเรียนนั้น เป็นเรื่องที่เราจะต้องดูแลทรัพย์สินทางราชการตามปกติอยู่แล้ว แต่ถ้าเกิดว่าได้มีนักการภารโรงได้คืนมาช่วยรับหน้าที่ตรงนี้แทน ก็จะรู้สึกปลอดภัยมากขึ้น ครูผู้หญิงก็จะรู้สึกอุ่นใจและปลอดภัยมาก เพราะที่โรงเรียนของเรานั้น เป็นโรงเรียนขนาดเล็ก เรามีครูน้อย ก็จะมีแค่ครู 1 คนใน 1 ครั้ง ที่ทำการเข้าเวรอยู่ที่โรงเรียนตั้งแต่เช้าจนถึงเย็น
ปัจจุบัน ที่โรงเรียนนั้นไม่มีนักการภารโรง เนื่องจากนักการภารโรงคนเก่านั้นได้เสียชีวิตลง และตำแหน่งนักการนั้นก็ได้ถูกเรียกคืนไป จึงทำให้ครูที่โรงเรียนนั้นต้องอยู่เวรกันทั้งกลางวัน และกลางคืน ยอมรับว่ารู้สึกกลัวเหมือนกัน เพราะที่โรงเรียนนั้นจะเงียบมาก ซึ่งหากเกิดเหตุอะไรขึ้นที่โรงเรียนจริงๆถึงจะร้องขอความช่วยเหลือไปก็ยังไม่แน่ใจว่าจะมีใครได้ยินหรือไม่ เพราะว่าพื้นที่โรงเรียนนั้นค่อนข้างกว้าง และจะมีครูมาอยู่เวรที่โรงเรียนแค่ 1 คนเท่านั้น ซึ่งหลังจากที่ได้มีการประกาศคืนตำแหน่งนักการภารโรงให้แต่ละโรงเรียนออกมา
ทางโรงเรียนก็มีความหวังว่าจะได้ตำแหน่งดังกล่าวนี้กลับคืนมาด้วยเหมือนกัน เพราะจะสามารถเข้ามาช่วยแบ่งเบาภาระที่โรงเรียนได้หลายอย่าง เพราะอย่างที่โรงเรียนบ้านห้วยไผ่นั้นก็มีทั้งรถรับส่งนักเรียน ซึ่งปัจจุบันก็เป็นคุณครู ที่ทำการขับรถรับส่งนักเรียนกันเอง
รวมทั้งการดูแลอาคารสถานที่และรักษาทรัพย์สินของโรงเรียน ถ้าหากว่ามีนักการภารโรงเข้ามาช่วยดูแลตรงส่วนนี้ ก็จะสามารถช่วยดูแลได้ทั้งกลางวันและกลางคืน ซึ่งจะได้ทั้งในเรื่องของความปลอดภัยและการรักษาความสะอาด เพราะที่โรงเรียนของเรานั้นมีแต่ครูผู้หญิง ซึ่งหากมีนักการภารโรงเข้ามา อยู่ช่วยก็จะทำให้คุณครูทุกคนที่นี่ได้รู้สึก อุ่นใจและปลอดภัย เพราะอย่างน้อยก็มีผู้ชายที่เป็นนักการภารโรง สัก 1 คน มาคอยช่วยดูแลความปลอดภัยให้กับทั้งครูนักเรียนและโรงเรียน
จากปัญหาดังกล่าวหลังเกิดเหตุการณ์ 'ครูเวรถูกทำร้าย' ร้อยตรีธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) ระบุว่า กระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) ทราบถึงภาระและความกังวลใจของคุณครูทั่วประเทศที่ต้องปฏิบัติหน้าที่เวรรักษาการณ์ ไม่ว่าจะเป็นเวรกลางวันหรือเวรกลางคืน ซึ่งเป็นไปตาม มติคณะรัฐมนตรี พ.ศ. 2542 ที่กำหนดให้สถานที่ราชการทุกแห่งต้องจัดให้มีเวรรักษาการณ์ เพื่อดูแลและป้องกันความเสียหายอันจะบังเกิดแก่สถานที่ราชการ จึงได้กำหนดนโยบายลดภาระครู เพื่อให้คุณครูได้ทุ่มเทเวลาเพื่อการเรียนการสอนอย่างเต็มที่ และได้สั่งการ สพฐ. ให้เสนอขอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติคืนอัตรานักการภารโรงกว่า 14,000 ตำแหน่ง เพื่อให้ทุกโรงเรียนมีนักการภารโรงประจำ ซึ่ง สพฐ. ได้จัดทำคำขอต่อครม. เรียบร้อยแล้ว ตั้งแต่กลางเดือนที่ผ่านมา
ในระหว่างที่รอ ครม. พิจารณาอนุมัติคืนตำแหน่งนักการภารโรง ซึ่งจะสามารถช่วยทำหน้าที่ดูแลรักษาความปลอดภัยให้แก่โรงเรียนได้อีกแรงหนึ่ง ขอสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและโรงเรียนประสานความร่วมมือกับหน่วยงานปกครองในพื้นที่หรือผู้นำชุมชน ช่วยจัดเวรยามดูแลความปลอดภัยในโรงเรียนและช่วยเฝ้าระวังกรณีชุมชนมีบุคคลผู้เสี่ยงมีพฤติกรรมรุนแรง
สพฐ. ส่วนกลางได้มีหนังสือส่งถึงกระทรวงมหาดไทยให้สนับสนุนการทำงานของโรงเรียนก่อนหน้านี้แล้ว นอกจากนี้ สพฐ. จะได้เร่งแต่งตั้งคณะทำงานศึกษาแนวทางการจัดเวรยามและการรักษาความปลอดภัยของสถานศึกษาที่เหมาะกับบริบทความเปลี่ยนแปลงของโลกยุคปัจจุบัน รวมถึงสนับสนุนการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการเสริมสร้างความปลอดภัย เพื่อให้โรงเรียนเป็นสถานที่แห่งการเรียนรู้ ที่สร้างความสุขและความอุ่นใจให้แก่ครู นักเรียนทุกคน
สำหรับความเคลื่อนไหวของเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ต่อเรื่องดังกล่าว ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 23 มกราคม 2567 ถึงกรณีเหตุการณ์รุนแรงที่เกิดขึ้นกับครูในการอยู่เวรว่า ครม. ได้พิจารณายกเว้นมติ ครม. เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2542 ซึ่งผ่านมากว่า 20 ปีแล้ว ซึ่งปัจจุบันมีการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีและสภาพแวดล้อมได้เปลี่ยนไป โดยให้มีการยกเลิก ยกเว้นให้มีมาตรการในการรักษาความปลอดภัยให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องจะรับไปพิจารณา
ทั้งนี้ ได้มีการสั่งการให้กระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน สำนักงานตำรวจแห่งชาติดูแลความปลอดภัยของพี่น้องประชาชนทั่วทั้งประเทศ ในเรื่อง public safety ให้มีการเร่งจัดหางานเพื่อไม่ให้เกิดความรุนแรงของกลุ่มวัยรุ่นที่เริ่มมีพฤติกรรมที่เป็นภัยต่อสังคมอีกด้วย
ข้อมูลจาก: ผู้สื่อข่าวภูมิภาคจังหวัดอุทัยธานี
ภาพจาก: ผู้สื่อข่าวภูมิภาคจังหวัดอุทัยธานี
ข่าวแนะนำ