กางแผน "จราจรน้ำ" ป้องเมืองสุโขทัย
กางแผน "จราจรน้ำ" ป้องเมืองสุโขทัย กระทบแล้ว 9 อำเภอ ชาวบ้านเดือดร้อน 1,365 ครัวเรือน
กางแผนจราจรน้ำป้องเมืองสุโขทัย
สถานการณ์น้ำที่จังหวัดสุโขทัย เป็นผลจากฝนที่ตกหนักในพื้นที่จังหวัดแพร่ ทำให้ปริมาณน้ำในลำน้ำยมเพิ่มสูงขึ้น ก่อนจะไหลลงสู่จังหวัดสุโขทัย โดยมีพื้นที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยแล้ว 9 อำเภอ ชาวบ้านเดือดร้อน 1,365 ครัวเรือน พื้นที่การเกษตรถูกน้ำท่วมขังกว่า 62,000 ไร่ เป็นผลจากฝนตกหนักทำให้แม่น้ำยมเอ่อล้น และไหลแรงกัดเซาะผิวดินใต้ถนนจนเป็นโพรง
มวลน้ำจำนวนมากที่จ่อเข้าสู่พื้นที่เศรษฐกิจของเมืองสุโขทัย ทำให้นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แสดงความเป็นห่วง และ เข้าไปติดตามสถานการณ์น้ำที่กรมชลประทาน อย่างใกล้ชิด เมื่อช่วงค่ำวานนี้ ( 1 ต.ค. )
จากการตรวจสอบโดยทีมข่าว TNN ONLINE พบว่ามวลน้ำจากอำเภอวังชิ้น จังหวัดแพร่ ที่ไหลลงแม่น้ำยม มีปริมาณน้ำผ่านประตูระบายน้ำหาดสะพานจันทร์ ใน อ.สวรรคโลก จ.สุโขทัย อยู่ที่ราว 1,300 ลบ.ม. ต่อวินาที
ขณะที่ปริมาณน้ำที่ตัวเมืองสุโขทัยรับได้ คือ 510 ลบ.ม.ต่อวินาที กรมชลประทานจึงต้องเร่งจัดจราจรน้ำเพื่อป้องกันไม่ให้น้ำทะลักเข้าสู่เขตเศรษฐกิจของเมืองสุโขทัย
ดร.ธเนศร์ สมบูรณ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา กรมชลประทาน อธิบายการจัดจราจรน้ำ เพื่อรักษาระดับน้ำในแม่น้ำยม โดยการจัดจราจรน้ำจะผันออกไปทาง ประตูระบายน้ำหกบาท เพื่อระบายลงสู่แม่น้ำยมสายเก่า และคลองยม-น่านในปริมาณ 450 ลบ.ม. ต่อวินาที ก่อนจะปล่อยน้ำลงสู่พื้นที่ลุ่มต่ำบางระกำที่สามารถรับน้ำได้ประมาณ 400 ล้านลูกบาศก์เมตร (ล้าน ลบ.ม.ส่วนอีกทางจะผันเข้าสู่ประตูระบายน้ำบ้านหาดสะพานจันทร์ ในปริมาณ 840 ลบ.ม. ต่อ วินาที
จากนั้นจะมีการบริหารจัดการโดยใช้คลองต่างๆแบ่งยอดน้ำที่จะไหลผ่านอำเภอเมืองสุโขทัย โดยคาดว่าแผนการจัดจราจรน้ำจะช่วยลดระดับน้ำที่ไหลลงแม่น้ำยมผ่าน อำเภอศรีสำโรง ลงสู่ตัวเมืองสุโขทัย โดยประมาณการปริมาณน้ำไหลผ่าน สถานี Y4 อำเภอเมืองสุโขทัย 447 ลบ.ม. ต่อ วินาที
ทั้งนี้ประเมินว่าระดับน้ำสูงสุดที่ไหลผ่านตัวเมืองสุโขทัย คือ ในช่วง 1-2 วันนี้ ซึ่งในขณะนี้พบว่าระดับน้ำยังปริ่มคันกั้นน้ำ ถ้าหากไม่มีฝนมาเติมอีกคาดว่าพื้นที่เขตเมืองสุโขทัยจะไม่ได้รับผลกระทบ ส่วนอีกเรื่องทีต้องเฝ้าระวัง คือ ความแข็แรงของพนังกั้นน้ำ โดยเฉพาะจุดที่เป็นฟันหลอ หรือ เป็นแนวคันดิน ต้องเฝ้าระวังไม่ให้ชำรุด หรือ เสียหาย เพื่อไม่ให้น้ำทะลักเข้าสู่พื้นที่
โดยผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา กรมชลประทาน เชื่อว่าหากผ่านคืนนี้ ( 2 ต.ค. )ไปได้น่าจะไม่ต้องกังวล เพราะระดับน้ำจะค่อยๆลดลง
ส่วนสถานการณ์น้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยา ปริมาณน้ำที่จังหวัดนครสวรรค์ (สถานี C.2) ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องมีน้ำไหลผ่านประมาณ 1,500 ลบ.ม.ต่อวินาที เพราะปริมาณน้ำในแม่น้ำปิงและแม่น้ำน่านเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ต้องมีการจัดจราจรน้ำในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาตอนล่าง โดยมีการตัดน้ำออกทางคลองฝั่งตะวันตก และ ฝั่งตะวันออกเหนือเขื่อนเจ้าพระยา ส่งผลให้มีปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาอยู่ที่ 1,049 ลบ.ม. ต่อ วินาที
ดร.ธเนศร์ ยอมรับว่าการระบายน้ำดังกล่าวจะส่งผลต่อพื้นที่ลุ่มต่ำในจังหวัดท้ายน้ำ โดยเฉพาะในชุมชนริมคลองโผงเผง และ คลองบางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งได้มีการแจ้งเตือนให้เฝ้าระวังระดับน้ำที่จะเพิ่มสูงขึ้นกว่าในปัจจุบันอีกราว 1 เมตร ขณะเดียวกันยืนยันว่าการเร่งระบายน้ำจะไม่กระทบต่อตัวเมือง ปทุมธานี นนทบุรี และ กรุงเทพมหานครแน่นอน
ภาพ : TNNOnline