นโยบาย “เศรษฐา 1” แก้วิกฤต-ฟื้นเศรษฐกิจ
“ครม.เศรษฐา 1” เริ่มทำงานทันที ภายหลังเข้าเฝ้าฯถวายสัตย์ปฏิญาณ เมื่อ 5 ก.ย. พร้อมน้อมรับพระราชดำรัส “ในหลวง” มาเป็นแนวทางปฏิบัติงาน ยืนยัน รัฐบาลชุดนี้เป็น “รัฐบาลของประชาชน” จะทำงานแบบ “ลืมความเหน็ดเหนื่อย” จะลงพื้นที่เก็บข้อมูล นำปัญหามาพิจารณา เพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาให้ประชาชน นี่คือสิ่งที่นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทย “เศรษฐา ทวีสิน” ให้คำมั่นสัญญาไว้ และรัฐบาลจะสร้างโอกาสความเท่าเทียมกัน เพื่อเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ “ประเทศที่มีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน”
บรรยากาศครม.ใหม่ที่มากหน้าหลายตาทั้งหน้าเก่า-หน้าใหม่ จาก 6 พรรคร่วมรัฐบาลที่ได้รับการแต่งตั้งทั้งก่อนและหลังเข้าถวายสัตย์ฯ เต็มไปด้วยความชื่นมื่น ความมุ่งมั่นอย่างเต็มเปี่ยมในการทำงาน และที่เรียกเสียงฮือฮาไม่น้อยกับรถหรู “Lexus LM 350h Executive 4” มูลค่ากว่า 7.5 ล้านบาท นายกรัฐมนตรี บอกว่า ลูกสาวเป็นคนซื้อรถคันนี้ให้ซึ่งจะใช้เป็นรถประจำตำแหน่งนายกรัฐมนตรี (สร.1) และที่ไม่พลาดกับสายมูที่ส่องไปเห็นของขลังในรถก็พบทั้ง “พระสมเด็จเนื้อผงจากวัดบวรฯ” และ “สายสิญจน์-ลูกประคำครูบาบุญชุ่ม”
การประชุมครม.นัดพิเศษ 6 ก.ย. ได้เห็นชอบร่างแถลงนโยบายต่อรัฐสภา 11-12 ก.ย.นี้ โดยจะใช้เวลาพิจารณารวม 30 ชั่วโมง กรอบเวลา ครม. สส.ฝ่ายรัฐบาล และสว. ได้ฝ่ายละ 5 ชั่วโมง ส่วนสส.ฝ่ายค้านได้ 14 ชม. และประธานรัฐสภาอีก 1 ชม.
หลังขั้นตอนการอภิปรายเสร็จสิ้น จะประชุมครม.นัดแรกอย่างเป็นทางการ 13 ก.ย. ซึ่งจะทำให้ “ครม.เศรษฐา 1” มีอำนาจเต็มในการบริหารจัดการและสามารถอนุมัติงบประมาณดำเนินการในโครงการต่างๆ ได้ โดยเฉพาะเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ที่ ก.พ.ปีหน้า (2567) จะดำเนินการได้แน่นอน เพื่อให้ทันใช้ในช่วงสงกรานต์ และใช้จ่ายผ่านบล็อกเชน ส่วนรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย แม้จะไม่ได้บรรจุไว้ในนโยบายหลักที่จะแถลง แต่จะดำเนินการภายใน 2 ปีแน่นอน ซึ่ง รมว.คมนาคม สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ออกมายืนยันด้วยตัวเอง
การจัดทำนโยบายของรัฐบาลเพื่อเตรียมแถลงต่อรัฐสภาได้จัดทำเสร็จสิ้นแล้ว เหลือเพียงขั้นตอนการพิมพ์ออกมาเป็นรูปเล่มจากทั้งหมด 55 หน้า ซึ่งสามารถแบ่งเป็น “1 กระตุ้น 4 เร่ง 3 สร้าง” เรื่องเร่งด่วน 4 ด้าน คือ เร่งแก้ปัญหาหนี้สินภาคเกษตร ธุรกิจ และประชาชน เร่งปรับลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน เร่งผลักดันการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว และเร่งแก้ปัญหาความขัดแย้งในเรื่องรธน. ส่วน 3 สร้าง คือ การสร้างรายได้ สร้างโอกาส และสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี ส่วน 1 กระตุ้น ก็คือ การเติมเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ที่มีการระบุในร่างแถลงนโยบายต่อรัฐบาล ว่า “จะเป็นตัวจุดชนวน จะกระตุกเศรษฐกิจประเทศให้ตื่นขึ้นมาอีกครั้ง เราจะส่งเงินเข้าไปในระบบเศรษฐกิจอย่างทั่วถึง และกระจายไปยังทุกพื้นที่ให้หมุนเวียนในเศรษฐกิจระบบฐานราก” ท้ายที่สุดแล้วประเทศไทยภายใต้การนำของ “นายกรัฐมนตรีเศรษฐา” จะสามารถนำนโยบายมาปฏิบัติได้จริงหรือไม่ จะทำให้ความคาดหวังของประชาชนที่หวังให้รัฐบาลเข้ามาแก้วิกฤต-ฟื้นเศรษฐกิจ กลายเป็นความจริงได้ไหม เวลาเท่านั้นที่จะเป็นเครื่องพิสูจน์
ขอบคุณ: เฟซบุ๊ก ไทยคู่ฟ้า
ขอบคุณ:เฟซบุ๊ก เศรษฐา ทวีสิน-Srettha Thavisin