TNN ดอกเบี้ยเงินกู้ 10 แบงก์ อัปเดตเดือนเมษายน 2567 เช็กเลย!

TNN

TNN Exclusive

ดอกเบี้ยเงินกู้ 10 แบงก์ อัปเดตเดือนเมษายน 2567 เช็กเลย!

ดอกเบี้ยเงินกู้ 10 แบงก์ อัปเดตเดือนเมษายน 2567 เช็กเลย!

เช็กอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ เดือนเมษายน 2567 ทางเลือกช่วยบริหารสภาพคล่องยามฉุกเฉิน มีแบงก์ไหนให้อัตราต่ำ น่าสนใจบ้าง เช็กเลย!

ดอกเบี้ยเงินกู้เดือนเมษายน 2567


ด้วยสภาพเศรษฐกิจปัจจุบันหลายคนอาจจะยังต้องพึ่งพาการขอสินเชื่อหรือกู้เงินเพื่อมาบริหารสภาพคล่องในครอบครัว การทำธุรกิจ   ซึ่งการขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินที่อยู่ในระบบ จะช่วยเพิ่มความอุ่นใจในเรื่องของอัตราดอกเบี้ยที่เป็นมาตรฐาน มั่นใจได้ว่าจะไม่มีดรามาเจ้าหนี้ตามทวงหนี้แน่นอน 


โดยอัตรา ดอกเบี้ยเงินกู้ มักอยู่ในลักษณะร้อยละต่อปี ซึ่งผู้ให้กู้ เช่น ธนาคาร หรือบริษัทเรียกเก็บจากผู้กู้เพื่อเป็นผลตอบแทนจากการให้กู้ อัตราดอกเบี้ยเงินกู้มีหลายประเภท หลายอัตรา โดยทั่วไปขึ้นอยู่กับประเภทของเงินกู้หรือสินเชื่อ ซึ่งในที่นี้ผู้ให้กู้หมายถึง สถาบันการเงิน และผู้ประกอบธุรกิจการเงินที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน หรือ Non-bank


MLR MOR และ MRR คืออะไร


ถ้าคนที่ยังไม่เคยศึกษาเรื่องการขอสินเชื่อ อาจจะไม่คุ้นเคยกับดอกเบี้ยสองตัวนี้เท่าไหร่ โดยปกติแล้วอัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารพาณิชย์ใช้อ้างอิงในการเรียกเก็บ ดอกเบี้ยเงินกู้ จากลูกค้า ซึ่งจะมีลักษณะเป็นดอกเบี้ยลอยตัว เช่น

1. MLR (Minimum Loan Rate) 

หมายถึง อัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารพาณิชย์เรียกเก็บจากลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี เช่น มีประวัติการเงินที่ดี มีหลักทรัพย์ค้ำประกันอย่างเพียงพอ โดยส่วนใหญ่ใช้กับเงินกู้ระยะยาวที่มีกำหนดระยะเวลาที่แน่นอน เช่น สินเชื่อเพื่อการประกอบธุรกิจ

2. MOR (Minimum Overdraft Rate) 

หมายถึง อัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารพาณิชย์เรียกเก็บจากลูกค้ารายใหญ่ชั้นดีประเภทวงเงินเบิกเกินบัญชี

3. MRR (Minimum Retail Rate) 

หมายถึง อัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารพาณิชย์เรียกเก็บจากลูกค้ารายย่อยชั้นดี เช่น สินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อที่อยู่อาศัย 


ดอกเบี้ยเงินกู้ 10 แบงก์ อัปเดตเดือนเมษายน 2567 เช็กเลย!  ภาพประกอบจาก : AFP


ดอกเบี้ยเงินกู้ ที่พบบ่อย ๆ จะมี 2 ประเภทคือ  ดอกเบี้ยเงินกู้แบบคงที่และแบบลอยตัว  ซึ่งจะมีความแตกต่างกัน ได้แก่ 

  • อัตราดอกเบี้ยเงินกู้แบบคงที่ (Fixed Rate)

คือ อัตราดอกเบี้ยที่กำหนดไว้เป็นตัวเลขเฉพาะ ไม่ขึ้นหรือลงตามต้นทุนของสถาบันการเงิน คงที่ตลอดอายุสัญญาเงินกู้หรือในช่วงเวลาที่กำหนด เช่น กำหนดให้ชำระดอกเบี้ยร้อยละ 7 ต่อปี เป็นเวลา 4 ปี

  • อัตราดอกเบี้ยเงินกู้แบบลอยตัว (Floating Rate)

คือ อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่เปลี่ยนแปลงไปตามต้นทุนของสถาบันการเงิน ซึ่งสถาบันการเงินจะประกาศออกมาเป็นคราวๆ ไป เช่น อัตราดอกเบี้ยอ้างอิงของธนาคารพาณิชย์ต่างๆ เช่น MLR MOR MRR

 

เทียบอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของ 10 ธนาคาร ประจำเดือนเมษายน 2567


 สถาบันการเงิน ดอกเบี้ย MORดอกเบี้ย MLRดอกเบี้ย MRR

กรุงเทพ    

   7.5500    
7.1000
7.3000
กรุงไทย7.5200
7.0500
7.5700
กสิกรไทย7.5900
7.2700
7.3000
ไทยพาณิชย์    7.5750
    7.0500   
7.3000
กรุงศรีอยุธยา7.5750
7.2800
7.4000
ทหารไทยธนชาต  7.8500
7.7250
 7.8300
ยูโอบี  8.3500
 8.25008.8000
ซีไอเอ็มบี ไทย  8.7500
8.3500
9.2500
แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์
8.4500
8.0750
8.8000
ทิสโก้
8.1000
8.1000
8.1500

อ้างอิงข้อมูลจาก : ธนาคารแห่งประเทศไทย   อัปเดต ณ วันที่ 1 เมษายน 2567

หมายเหตุ เป็นข้อมูลล่าสุดที่ ธปท.ได้รับจากธนาคารพาณิชย์ ณ เวลาประมาณ 09.00  น.

 


ทำไมอัตราดอกเบี้ยอ้างอิง เช่น MLR ของแต่ละธนาคารไม่เท่ากัน


การที่แต่ละธนาคารมีอัตราดอกเบี้ยไม่เท่ากัน ก็เพราะต้นทุนของธนาคารแต่ละแห่งไม่เท่ากัน ซึ่งเกี่ยวข้องกับหลายปัจจัยต่างๆ  เช่น อัตราดอกเบี้ยเงินฝาก สภาพคล่อง อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงที่ธนาคารต้องดำรง ซึ่งอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงจะมีการเปลี่ยนแปลงขึ้นลงในแต่ละช่วงเวลา  นอกจากนี้ ในทางปฏิบัติธนาคารก็มักจะใช้ MLR กับทั้งลูกค้ารายใหญ่และรายย่อย


ทำไมอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงมีบวกหรือลบต่อท้ายด้วย เช่น MLR + X% และทำไม X% ของลูกค้าแต่ละรายจึงไม่เท่ากัน


กรณีนี้เกิดขึ้นหากผู้กู้มีความเสี่ยงสูง เช่น ฐานะทางการเงินไม่ค่อยมั่นคง ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ธนาคารจะคิดดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น (X%) จากอัตราอ้างอิง เพื่อชดเชยความเสี่ยงของลูกค้าแต่ละรายที่อาจแตกต่างกันไป หรือหากผู้กู้มีความเสี่ยงต่ำ ธนาคารอาจคิดดอกเบี้ยที่ถูกกว่าอัตราอ้างอิงก็ได้ เช่น MLR + X% ซึ่ง X% ของลูกค้าแต่ละรายจึงไม่จำเป็นต้องเท่ากัน และยังขึ้นกับดุลพินิจ หลักเกณฑ์ และวิธีการพิจารณาสินเชื่อที่แตกต่างกันไปของธนาคารแต่ละแห่ง ดังนั้น เราจึงจำเป็นต้องศึกษาข้อมูล และสอบถามธนาคารที่เราสนใจหลาย ๆ แห่ง เพื่อนำมาพิจารณาเปรียบเทียบกันดู ว่าธนาคารแห่งไหนมีเงื่อนไขที่ดีและเหมาะสมตอบโจทย์กับเรามากที่สุด


การพิจารณาเลือกขอสินเชื่อ นอกจากอัตรา ดอกเบี้ยเงินกู้ ควรตัดสินใจจากปัจจัยอื่นๆประกอบด้วย โดยควรศึกษาข้อมูลให้มากๆหลายๆแบงก์เพื่อเปรียบเทียบให้เห็นข้อแตกต่าง ที่สำคัญเน้นเรื่องของจุดประสงค์ในการกู้ของตนเองว่ากู้เพื่ออะไร  ระยะเวลาในการผ่อนชำระและดอกเบี้ย อัตราค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายอื่นๆที่เราต้องจ่าย  รวมถึงความสามารถในการชำระเงินกู้ และความคุ้มค่าที่จะได้รับกลับมาเมื่อเราต้องเป็นหนี้ ที่สำคัญต้องมีวินัยในการชำระเพื่อไม่ให้กลายเป็นหนี้เสียในอนาคต




อ้างอิงข้อมูลจาก : ธนาคารแห่งประเทศไทย , ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย   

ภาพจาก : AFP 



ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง