TNN online ส่องนโยบายรัฐบาลจีน จุดเปลี่ยนหนุนตลาดหุ้นฟื้นตัว

TNN ONLINE

TNN Exclusive

ส่องนโยบายรัฐบาลจีน จุดเปลี่ยนหนุนตลาดหุ้นฟื้นตัว

ส่องนโยบายรัฐบาลจีน จุดเปลี่ยนหนุนตลาดหุ้นฟื้นตัว

ตลาดหุ้นจีนถือเป็นอีกหนึ่งตลาดที่เผชิญความผันผวนสูง นอกจากรับแรงกดดันระดับมหภาคแล้วยังเผชิญปัจจัยลบภายในประเทศ แต่การดำเนินนโยบายที่ผ่อนคลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของประเทศจะมีอะไรบ้างนั้น หาคำตอบได้จาก ภาคภูมิ พีรยวัฒนา AFPTWealth manager ธนาคารทิสโก้


ไตรมาสแรกของปี 2022 ถือว่าเป็นอีกหนึ่งไตรมาสที่ตลาดหุ้นทั่วโลกเผชิญความท้าทายเป็นอย่างมาก สาเหตุหลักก็เนื่องมาจากความกังวลต่อการดำเนินนโยบายการเงินเข้มงวดของ Fed รวมถึงสถานการณ์ความไม่สงบระหว่างรัสเซียกับยูเครนที่ปะทุขึ้นในยุโรปอย่างต่อเนื่อง


ตลาดหุ้นจีนเองถือเป็นอีกหนึ่งตลาดที่เผชิญความผันผวนที่สูงมากเช่นเดียวกัน เพราะนอกจากได้รับแรงกดดันในระดับมหภาคแล้ว ยังได้รับแรงกดดันจากปัจจัยภายในประเทศด้วย ทั้งจากประเด็นความกังวลเรื่องเศรษฐกิจชะลอตัวจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 รอบใหม่ ความกังวลเรื่องการ Delist หุ้นจีนออกจากตลาดหุ้นสหรัฐฯ ตลอดจนมาตรการจัดระเบียบธุรกิจแพลตฟอร์มของรัฐบาลจีนที่มีมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปีที่แล้วภายใต้นโยบาย Common Prosperity 


อย่างไรก็ตาม ล่าสุดเราได้เริ่มเห็นท่าทีการดำเนินนโยบายหลายด้านของรัฐบาลจีนที่มีทิศทางผ่อนคลายลง ซึ่งเราเชื่อว่า “นโยบายของรัฐบาลจีน” จะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่มีผลอย่างมากต่อการฟื้นตัวของตลาดหุ้นจีนในระยะถัดไป


เริ่มจากการประชุม National People’s Congress เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2022 ที่ผ่านมา รัฐบาลจีนได้มีการประกาศเป้าหมายการเติบโตของ GDP ปี 2022 ไว้ที่ระดับ “ประมาณ 5.5%” ซึ่งถือเป็นระดับที่มากกว่าที่ตลาดคาด เพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว รัฐบาลจีนจึงมีแนวโน้มที่จะต้องหันมาดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจมากขึ้น 


โดยในด้านของนโยบายการคลัง รัฐบาลจีนได้มุ่งเน้นไปที่การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน การสนับสนุนธุรกิจพลังงานและการปรับลดภาษีประเภทต่างๆ นักวิเคราะห์คาดว่า เม็ดเงินจากมาตรการกระตุ้นทางการคลังของจีนในปีนี้จะมีมูลค่าที่สูงถึงระดับ 7.7% ของ GDP มากกว่าปี 2021 ที่ตัวเลขดังกล่าวอยู่ที่ระดับเพียง 5.2% ของ GDP เท่านั้น


ขณะที่ฟากฝั่งของนโยบายการเงิน ธนาคารกลางจีน (PBOC) ได้มีการดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปีที่แล้ว ทั้งการปรับลดอัตราดอกเบี้ยและการปรับลดอัตราการกันสำรองของธนาคารพาณิชย์ (RRR) ลง ในปีนี้นักวิเคราะห์ยังคงคาดการณ์ว่า PBOC มีแนวโน้มที่จะปรับลด RRR ลงอีก 0.5% รวมถึงปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก 0.1% เพื่อเป็นการเพิ่มสภาพคล่องในระบบและสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจ


ปัจจุบันจีนยังถือเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อค่อนข้างต่ำ สะท้อนจากดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนกุมภาพันธ์ ที่ยังอยู่ในระดับเพียง 0.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งถือเป็นระดับที่ต่ำกว่าเป้าหมายของ PBOC ที่ระดับ 3% ค่อนข้างมาก ทำให้รัฐบาลจีนยังมีช่องว่างในการกระตุ้นเศรษฐกิจสวนทางกับประเทศอื่นๆ โดยไม่จำเป็นต้องกังวลว่าจะเกิดภาวะเงินเฟ้อสูงเหมือนกับกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว อย่างเช่น สหรัฐฯ หรือยุโรป


นอกจากนโยบายด้านเศรษฐกิจที่กลับมามีทิศทางที่ผ่อนคลายแล้ว อีกหนึ่งจุดเปลี่ยนเชิงนโยบายสำคัญ ก็คือ การประชุม China’s State Council เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2022 ที่ผ่านมา ซึ่งทางการจีนได้ให้คำมั่นว่า พร้อมที่จะสนับสนุนให้บริษัทจีนไปจดทะเบียนซื้อขายหุ้นในตลาดต่างประเทศ โดยรัฐบาลจีนได้มีการเจรจากับทางสหรัฐฯ เพื่อกำหนดแผนความร่วมมือในประเด็นดังกล่าวแล้ว ด้วยความคืบหน้าที่เป็นไปในเชิงบวก ทำให้ความกังวลของนักลงทุนเรื่องการ Delist หุ้นจีนออกจากตลาดหุ้นสหรัฐฯ เริ่มผ่อนคลายลง


 นอกจากนี้ รัฐบาลจีนยังได้มีการส่งสัญญาณเพิ่มเติมอีกว่า การจัดระเบียบบริษัทในกลุ่ม Internet ใกล้ที่จะจบลงแล้ว พร้อมทั้งระบุว่ากฎระเบียบที่ควบคุมบริษัทเหล่านี้ควรจะมีมาตรฐานที่โปร่งใสและคาดการณ์ได้ ส่งผลให้ความเสี่ยงด้าน Regulation ที่กดดันตลาดหุ้นจีนมาโดยตลอดตั้งแต่ปีที่แล้ว เริ่มมีแนวโน้มที่จะเบาบางลงเช่นเดียวกัน


การปรับฐานของตลาดหุ้นจีน ซึ่งดำเนินมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ในปีที่แล้วจากหลายปัจจัย ได้ส่งผลให้ Valuation ของตลาดหุ้นจีนปรับตัวลดลงมาอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับช่วงก่อนเกิดวิกฤต COVID-19 แล้วในปัจจุบัน 


สะท้อนจากอัตราส่วนราคาปิดต่อกำไรสุทธิในช่วง 12 เดือนข้างหน้า (Forward PE) ของดัชนี CSI 300 ซึ่งซื้อขายอยู่ที่ระดับเพียง 12 เท่า (ข้อมูล ณ วันที่ 20 มีนาคม 2022) ใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยระยะยาว 10 ปีที่ระดับ 11.8 เท่า ทั้งนี้ นักวิเคราะห์ใน Bloomberg ยังคงประมาณการการเติบโตของกำไรต่อหุ้น (EPS Growth) ของหุ้นจีนในดัชนี CSI 300 ปี 2022 ไว้สูงถึงระดับ 19% 


ดังนั้น เรามองว่า การปรับฐานของตลาดหุ้นทั่วโลกในไตรมาส 1/2022 ที่ผ่านมานี้ ถือเป็นโอกาสที่ดีในการเข้าลงทุนในตลาดหุ้นจีน A-shares ซึ่งเป็นหุ้นกลุ่มที่อิงกับการบริโภคภายในประเทศและมักจะมีการเคลื่อนไหวที่ล้อไปกับนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลจีน เราเชื่อว่า นโยบายของรัฐบาลจีนที่เริ่มมีสัญญาณที่ผ่อนคลายลงในปีนี้ จะเป็นกุญแจสำคัญที่ปลดล็อกให้ตลาดหุ้นจีนพลิกกลับมาฟื้นตัวเป็นขาขึ้นได้ในระยะยาว      


    

   

ที่มา ธนาคารทิสโก้

ภาพประกอบ  ธนาคารทิสโก้


 

 

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง