TNN online ชี้ช่องกรองหุ้น 6 ประเภทสไตล์ Peter Lynch

TNN ONLINE

TNN Exclusive

ชี้ช่องกรองหุ้น 6 ประเภทสไตล์ Peter Lynch

ชี้ช่องกรองหุ้น 6 ประเภทสไตล์ Peter Lynch

ผ่ากลยุทธ์ลงทุนสไตล์ Peter Lynch อย่าเสียเวลาจับจังหวะ เร่งปั้นพอร์ตสมดุล ฝ่าความผันผวนทำอย่างไรไม่ให้ติดดอยยาวนาน โดย ตราวุทธิ์ เหลืองสมบูรณ์ CEO Jitta Wealth

ยามตลาดหุ้นผันผวนแรง นักลงทุนส่วนใหญ่ที่เห็นพอร์ตตัวเองออกอาการเป๋ ก็เกิดความรู้สึกหัวใจว้าวุ่น นั่งไม่ติด นอนไม่หลับ เพราะส่องหุ้นรายวันเกินเหตุ ตัวผมก็มักจะได้รับคำถามต่างๆ จากเพื่อนนักลงทุนมาเยอะมากว่า ช่วงตลาดร่วงแรงตัวแดงเต็มพอร์ต ควรทำอย่างไรดี? หุ้นตัวนี้ขาดทุนแล้วจะขายทิ้ง หรือ cut loss ตอนนี้เลยดีไหม? มีบางคนเหมือนกันที่มั่นอกมั่นใจว่า ซื้อหุ้นปัจจัยพื้นฐานดี ธุรกิจมีอนาคต แล้วทำไมหุ้นยังลง? เกิดคำถามคาใจกันมากมาย


สภาพเช่นนี้ ล้วนเป็นสัญญาณของการลงทุนหุ้นไม่ประสบความสำเร็จทั้งนั้น และยังบ่งบอกด้วยว่า คุณไม่ได้มีการวางแผนการลงทุนเป็นแน่แท้ แต่มักซื้อหุ้นตามกระแสมากกว่าลงทุนอย่างมีหลักการ จึงไม่มีแผนสำรองรับมือยามสถานการณ์พลิกผัน หรือเตรียมแผนตัดขาดทุน (Stop Loss) บางคนซื้อหุ้นกระจุกแต่ธุรกิจกลุ่มเดียวกันมากเกินไป ทำให้ไม่มีการกระจายความเสี่ยง ทั้งๆ ที่การกระจายลงทุน ถือเป็นหลักการลงทุนที่สำคัญข้อหนึ่งทีเดียว นอกเหนือจากจะยึดกฏเลือกลงทุนหุ้นที่สตรองเป็นหลัก


สุดท้ายมาจบตรงที่ขอให้ผม ‘ช่วยแนะนำหุ้นที่ทนทานต่อสภาพความผันผวนให้หน่อย’ หรือ ‘บอกจังหวะเข้าซื้อหรือขายหน่อย’ บ้างก็ให้แนะหุ้นปันผล แต่ก็คาใจว่าช่วยลดความเสี่ยงได้จริงไหม  


แต่เชื่อมั้ย สิ่งที่ผมตอบซ้ำๆ กับเพื่อนนักลงทุนเหมือนกัน คือ ‘นิ่ง สงบ สยบความผันผวน’ ครับ เพราะในตลาดหุ้น คนที่เคาะซื้อๆ ขายๆ บ่อยๆ สุดท้ายแล้วคือเสียเงินให้กับคนใจเย็นหมดครับ ในสถานการณ์แบบนี้ Jitta ไม่แนะนำให้จับจังหวะตลาดเพื่อขายทำกำไรหรือ cut loss เพราะไม่มีใครทราบแน่นอนว่า 

ตลาดหุ้นจะตกไปถึงไหนและจะเด้งกลับขึ้นมาเมื่อไหร่?


‘Peter Lynch’ นักลงทุนผู้ยิ่งใหญ่ ได้กล่าวไว้ว่า “A stock-market decline is as routine as a January blizzard in Colorado” ตลาดหุ้นตกก็เหมือนพายุหิมะเดือนมกราคม มันเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นประจำอยู่แล้ว ตลาดหุ้นมีขึ้นย่อมต้องมีลงได้เป็นธรรมดา ตราบใดที่ยังลงทุน ย่อมหลีกหนีวัฏจักรเหล่านี้ไม่พ้น แต่ถ้าคุณเข้าใจสัจธรรมข้อนี้เป็นอย่างดี คุณก็จะไม่ตัดสินใจวู่วาม


ที่สำคัญคือ ไม่มีใครคาดการณ์ตัวเลขต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจ ดอกเบี้ย แนวโน้มตลาดหุ้นได้แม่นยำ 100% Peter Lynch ถือคติที่ว่า จะลงทุนให้ได้ผลตอบแทนดี ต้องไม่ใส่ใจกับปัจจัยภายนอกมากเกิน และควรหันมามองปัจจัยพื้นฐานของธุรกิจเป็นหลักดีกว่า และจะขายหุ้นทำกำไรเมื่อปัจจัยพื้นฐานของบริษัทเปลี่ยนแปลงเท่านั้น 


สำหรับ Peter Lynch ได้รับการยอมรับในฝีมือการลงทุนจากปู่ Warren Buffett อย่างยิ่ง และเขายังเป็นแม่แบบการลงทุนแบบ Growth Investing ซึ่งจะทำงานได้ดีในภาวะเศรษฐกิจที่กำลังเติบโต สอดรับกับสถานการณ์ปัจจุบัน ที่ภายหลังโควิด หลายๆประเทศทยอยฟื้นตัวกันแล้วตามวัฏจักรเศรษฐกิจ 


เส้นทางนักลงทุนระดับโลก ‘Peter Lynch’ ในฐานะผู้จัดการกองทุนขนาดใหญ่ในสหรัฐฯ ที่ชื่อว่า Fidelity Magellan บริหารพอร์ตมูลค่าหลายแสนล้านบาท ผ่านการลงทุนหุ้นมากมายหลายพันหลักทรัพย์ ที่สำคัญเขาได้พิสูจน์ฝีไม้ลายมือการลงทุนของตนเองมาอย่างยาวนานนับ 10-20 ปีขึ้นไป ด้วยความสามารถ

ในการสร้างผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปีได้ค่อนข้างสูงอย่างต่อเนื่องและชนะตลาดได้อย่างสบายๆ 


ซึ่งผลตอบแทนที่ผู้คนจดจำตลอด 13 ปีของเขาคือ สร้างผลตอบแทนสูงถึง 28 เท่า ซึ่งการรักษาผลตอบแทนเหล่านี้ ย่อมหมายถึงฝีมือการจัดพอร์ตให้บาลานซ์ผลตอบแทนและความเสี่ยง ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ทำกันได้ง่ายๆ 


-วิธีกรองหุ้น 6 ประเภทสไตล์ Peter Lynch  

 

จากการบ่มเพาะประสบการณ์วิถีนักลงทุนมืออาชีพของ Peter Lynch ทำให้เขาสามารถสกัดวิธีการกรองหุ้นที่ได้รับการยอมรับจากนักลงทุนทั่วโลก และได้รับความนิยมจากนักลงทุน นำมาใช้กรองหุ้นในแต่ละสไตล์กันเป็นวงกว้าง โดยเขาได้แบ่งหุ้นออกเป็น 6 ประเภทให้เลือกจัดสรรการลงทุนในพอร์ต ดังนี้


1. หุ้นเติบโตช้า (Slower Growers) มักเป็นหุ้นขนาดใหญ่ ธุรกิจเติบโตช้า รายได้คงที่หรือเพิ่มขึ้นต่ำกว่าการเติบโตของเศรษฐกิจประเทศ ราคาหุ้น หรือ Capital Gain จะไม่ได้มีการเปลี่ยนเเปลงสูง แต่ข้อดีของหุ้นกลุ่มนี้ คือ ‘จ่ายเงินปันผล’ ซึ่งบางครั้งสูงถึง 7-10% เพราะฉะนั้นหุ้นเติบโตช้า เหมาะกับนักลงทุน

ที่ไม่ได้หวังกำไรจากผลต่างของราคา หรือเป็นคนที่รับความเสี่ยงได้ไม่สูงมากนัก ส่วนข้อควรระวังของหุ้นเติบโตช้า คือ ถ้าบริษัทอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมที่กำลังถดถอย บริษัทก็อาจจะหนีไม่พ้นเข้าสู่ขาลงด้วยเช่นกันครับ


2. หุ้นแข็งแกร่ง (Starwarts) เป็นหุ้นใหญ่ที่มีปัจจัยพื้นฐานแข็งแกร่ง มักเป็นบริษัทใหญ่ที่มีชื่อเสียงและเติบโตตามภาวะเศรษฐกิจ มีความทนทานต่อภาวะเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดี จึงมีกำไรเติบโตสม่ำเสมอระดับ 10% แม้จะไม่หวือหวามากนัก แต่ก็เป็นกิจการที่เป็นที่รู้จักและยอมรับในสายตาของคนทั่วไป หุ้นกลุ่มนี้จัดได้ว่าเป็นหุ้นที่มีความเสี่ยงไม่สูงมากนัก เพราะถึงแม้จะเกิดวิกฤตเศรษฐกิจขึ้น แต่หุ้นกลุ่มนี้ก็สามารถฟื้นกลับมาได้เร็ว  โดยมีข้อควรระวังคือ ในบางครั้งอาจจะเกิดความเข้าใจผิด สับสนกับหุ้นวัฎจักรได้ ดังนั้นปัจจัยหลักที่มีผลต่อธุรกิจ ไม่ควรมีแนวโน้นการเปลี่ยนแปลงราคาขึ้นลงง่ายจนเกินไป เช่น ราคาน้ำมัน ปิโตรเคมี ถ่านหิน เป็นต้น



3. หุ้นเติบโต (Growth) เป็นบริษัทที่มีความสามารถในการกำหนดการเติบโตของกำไรสูงเฉลี่ย 20% ต่อปี หุ้นกลุ่มนี้อาจจะไม่ใช่หุ้นขนาดใหญ่ แต่ว่ามีปัจจัยพื้นฐานดี มีศักยภาพในการเติบโตปีละอย่างต่ำ 15-20% ที่สำคัญ ยังสามารถเติบโตได้อีกเรื่อยๆ บางครั้งให้ผลตอบแทนถึง 100-200% ในเวลาเพียงไม่กี่ปี!

 

แต่การเติบโตนี้ จะต้องมาจากยอดขายและกำไรเป็นหลักด้วย ซึ่งเกิดจากเพิ่มส่วนแบ่งการตลาด (Market Share) ให้สูงขึ้นได้รวดเร็ว และต้องไม่ใช่มาจากการซื้อขายทรัพย์สินของบริษัทที่เรียกกันว่า ‘กำไรพิเศษ’ ด้วย ซึ่งข้อดีหุ้นประเภทนี้คือ สามารถถือหุ้นเหล่านี้ไปได้เรื่อยๆ ตราบเท่าที่บริษัทยังมีศักยภาพในการทำกำไรในระดับสูง ผมข้อย้ำข้อระวัง คือ การเติบโตนั้นจะต้องไม่ใช่ซื้อกิจการหรือจำเป็นต้องลงทุนที่มากเกินไป เพราะฉะนั้นจะต้องวิเคราะห์ให้ดีๆ


4. หุ้นวัฏจักร (Cyclical) บริษัทที่มีสินค้ากว่าพันรายการ ยอดขายขึ้นลงตามราคาสินค้าอ้างอิง หุ้นกลุ่มนี้มักมีการเติบโตขึ้นลงตามปัจจัยที่มีผลต่อกิจการ โดยส่วนใหญ่มักเป็นหุ้นที่เกี่ยวข้องกับราคาน้ำมัน ปิโตรเคมี ถ่านหิน สินค้าโภคภัณฑ์ สินค้าเกษตร อสังหาริมทรัพย์ ซึ่งหุ้นส่วนใหญ่ในไทย เช่น กลุ่มน้ำมัน 

ช่วงที่ราคาน้ำมันขึ้นสูงๆ ก็จะกอบโกยรายได้และกำไรมหาศาล แต่พอราคาน้ำมันตก ตัวเลขก็จะร่วงลงตามตลาดได้เหมือนกัน เพราะฉะนั้น ข้อควรระวัง คือ คนที่จะเล่นหุ้นวัฏจักร ควรมีความเข้าใจในกลไกราคา รวมถึงปัจจัยที่มีผลต่อกิจการนั้นๆ เป็นอย่างดี


5. หุ้นฟื้นตัว (Turnaround) ลักษณะคือเป็นบริษัทที่พลิกฟื้นจากที่เคยขาดทุนมาก่อน และสามารถกลับมามีสัญญาณเติบโตใหม่ได้อีกครั้ง หุ้นในกลุ่มนี้มักเป็นธุรกิจที่เคยประสบปัญหาขาดทุนหนักจนเกือบล้มละลาย ไม่ว่าจะเกิดจากขายของขาดทุน หรือเอาเงินไปลงทุนแล้วเจ๊ง บริษัทขาดสภาพคล่อง 


แต่จุดเด่นของบริษัทกลุ่มนี้เวลาเข้าสู่การปรับโครงสร้างหนี้ เช่น ชำระหนี้จนเกือบหมด หรือมีการปรับเปลี่ยนนโยบายต่างๆ ของกิจการ จนกลับมาสร้างกำไรได้สำเร็จ ก็จะสร้างผลตอบแทนให้คุณได้มหาศาล แต่ถึงกระนั้น บริษัทลักษณะนี้ก็มีโอกาสล้มละลายได้ทุกเมื่อ จึงถือเป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูงซึ่งนักลงทุนต้องระวังก่อนตัดสินใจลงทุน


6. หุ้นสินทรัพย์มาก (Asset Play) เป็นบริษัทที่กิจการถือสินทรัพย์ซ่อนมูลค่าอยู่มาก โดยที่ยังไม่รับรู้รายได้ที่แท้จริง ไม่ว่าจะเป็นอสังหาริมทรัพย์หรือหุ้นในกิจการอื่นๆ อีกทอดหนึ่ง มักจะอยู่ในรูปบริษัทโฮลดิ้งส์ (Holding Company) อย่าง Berkshire Hathaway ของคุณปู่ Warren Buffett ที่ถือหุ้นของธุรกิจหลากหลายประเภท


 ซึ่งเวลาที่คุณลงทุนในบริษัทที่ซื้อหุ้นของกิจการที่มีศักยภาพทำกำไรอย่างต่อเนื่อง หรือซื้ออสังหาริมทรัพย์ที่ทำเลดีมีมูลค่าเพิ่มขึ้นสูง จะส่งผลให้มูลค่าของบริษัทที่ลงทุนไปก็จะเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน ทำให้คุณมีโอกาสทำกำไรจากส่วนต่างราคาหุ้นเมื่อตลาดรับรู้มูลค่าที่แท้จริงของบริษัท


แต่ข้อควรระวังของหุ้นบริษัทที่มีสินทรัพย์มากคือ ไม่มีใครคาดได้ล่วงหน้าว่า ตลาดจะรับรู้ข่าวว่า บริษัทกลุ่มนี้ถือครองทรัพย์สินที่มีมูลค่ามากอยู่อีกนานเท่าไหร่ โดยเฉพาะกลุ่มที่ถือครองอสังหาริมทรัพย์ ราคาหุ้นอาจจะไม่ปรับขึ้นเป็นระยะเวลานานก็ได้


-ต่อยอดเทคนิคลงทุนจาก Peter Lynch


จากที่ผมบอกไว้ตอนต้นว่า Peter Lynch ลงทุนในหุ้น 6 ประเภทนี้เพื่อสร้างสมดุลให้กับพอร์ต และจัดการความเสี่ยงให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม แต่ยังให้ผลตอบแทนดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ดังนั้น แพลตฟอร์ม Jitta.com ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มวิเคราะห์หุ้นโดยไม่คิดค่าบริการใดๆ จึงได้นำหลักการลงทุนที่เน้นว่าเป็นสิ่งที่เราจับต้องและคาดการณ์ได้ชัวร์ๆ มากกว่า ซึ่งก็คือผลประกอบการที่บริษัททำได้ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน บริษัทที่ดี กิจการจะเติบโตขึ้น มีกำไรมากขึ้นและราคาหุ้นจะขึ้นตามด้วย เมื่อตลาดหุ้นหายตกใจ พอร์ตคุณก็จะกลับมาเติบโตต่อเนื่อง


ซึ่งการจัดอันดับ Jitta Ranking ให้คุณนำไปใช้ประกอบการลงทุน เราก็ใช้เทคโนโลยีวิเคราะห์หุ้นคุณค่า (VI) โดยดูผลการดำเนินงานที่ผ่านมาของธุรกิจ แทนการทำนายอนาคต เมื่อคุณซื้อหุ้นตาม Jitta Ranking Top 10, 20 หรือ 30 หุ้นที่อยู่ในมือคุณก็จะเป็นธุรกิจที่แข็งแกร่ง สามารถฝ่าฟันวิกฤตต่างๆได้ดีกว่าหุ้นอื่นๆ และอุ่นใจได้ว่า เวลาผ่านไป พอร์ตของคุณน่าจะเติบโตและสร้างกำไรที่ดีให้เรื่อยๆ 


แต่หากใครที่ยังรู้สึกว่าเวลาเห็นตลาดหุ้นตกแล้วไม่สบายใจ ผมแนะนำให้ทำแบบนี้ครับ


1. เข้าใจวัฏจักรตลาดหุ้นว่ามีขึ้นและมีลง ซึ่งไม่มีใครคาดการณ์ได้อยู่แล้ว ว่าจะขึ้นหรือลงแค่ไหน แต่เมื่อตลาดกลับมาปกติ เงินจะไหลเข้าหุ้นที่แข็งแรงดี มากกว่าหุ้นที่อ่อนแอ  และราคาหุ้นที่ดีก็จะกลับขึ้นมาสูงกว่าเดิม เมื่อลงทุนระยะยาว พอร์ตจะมีผลกำไรจากหุ้นดีๆ ครับ


2. ทบทวนดูหุ้นในพอร์ตของตัวเองว่าเป็นหุ้นที่ดี มีรายได้ กำไรสม่ำเสมอหรือเปล่า ซึ่งถ้าลงทุนในธุรกิจที่ดีไปเรื่อยๆ ผลตอบแทนจะสูงกว่าการฝากเงินและการซื้อๆ ขายๆ หุ้นระยะสั้นแน่นอน ที่สำคัญ หุ้นที่ดีจะไม่ต้องกังวลกับความผันผวนของตลาดเลยครับ


3. มองภาพใหญ่ของการลงทุนและหลักการลงทุนมากขึ้น ในช่วงที่หุ้นตก แทนที่คุณจะมองราคาขึ้นๆ ลงๆ รายวัน ก็เปลี่ยนมาเป็นการมองโอกาสลงทุนหุ้นดีราคาถูกกว่าเดิม ก็ได้นะครับ ถ้าคุณมีเงินพร้อมลงทุนเพิ่ม ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนและเพิ่มผลตอบแทนในอนาคตได้ 


ผมเชื่อว่า ถ้าคุณลงทุนด้วยหลักการที่ถูกต้องอยู่ และพอร์ตได้บาลานซ์ความเสี่ยง มีความแข็งแกร่ง ทนทานสภาวะตลาดหุ้นผันผวนได้ ก็ไม่มีอะไรน่ากังวล เพราะอีกไม่นานความผันผวนนี้ก็จะผ่านไป และจะมีเหตุการณ์ใหม่ๆ เข้ามาที่พร้อมจะทำให้คุณตื่นเต้น คึกคักและหดหู่สลับวนไปตามกฎธรรมชาติ แต่สุดท้าย พอร์ตของคุณก็ยังเพิ่มมูลค่าทบต้นไปเรื่อยๆ ในระยะยาว สภาพจิตใจก็จะแข็งแรงมีความสุขกับการลงทุนนะครับ




ที่มา  บลจ.จิตตะเวลธ์  

ภาพประกอบ  บลจ.จิตตะเวลธ์  


ข่าวแนะนำ