TNN online Meta ศึกรอบด้านขนาดนี้ โลกใหม่ของ Facebook จะรอดไหม?

TNN ONLINE

Tech

Meta ศึกรอบด้านขนาดนี้ โลกใหม่ของ Facebook จะรอดไหม?

Meta ศึกรอบด้านขนาดนี้ โลกใหม่ของ Facebook จะรอดไหม?

หลังจากที่บอกว่าจะรีแบรนด์ ในที่สุดก็ออกมาประกาศชื่อใหม่เสียที และชื่อนี้ยังบอกเราอีกด้วยว่า Facebook เอาจริงเรื่อง Metaverse ขนาดไหน แต่ท่ามกลางศึกรอบด้านขนาดนี้ โลกใหม่ของ Mark Zuckerberg จะรอดไหม

Facebook ประกาศเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น 'Meta' ซึ่งมาจากคำว่า 'Metaverse' โลกเสมือนจริงที่ Facebook กำลังพัฒนาอยู่ในตอนนี้ โดยการเปลี่ยนชื่อครั้งนี้เป็นเพียงการเปลี่ยนชื่อบริษัทเท่านั้น แต่ชื่อผลิตภัณฑ์อื่น ๆ เช่น Facebook, Instagram จะยังใช้ชื่อเดิม


Meta ศึกรอบด้านขนาดนี้ โลกใหม่ของ Facebook จะรอดไหม? ภาพจาก reuters

 


เหตุผลที่ออกมาเปลี่ยนชื่อ Mark Zuckerberg CEO ของบริษัท Meta กล่าวในไลฟ์สตรีมของบริษัทว่า ชื่อใหม่นี้จะช่วยสะท้อนให้เห็นภาพลักษณ์ของบริษัทว่าพวกเขาจะหันไปทุ่มเทกับการลงทุนใน metaverse มากกว่าบริการโซเชียลมีเดียอีกต่อไป หรืออย่างที่มีข่าวลือกันก่อนหน้านี้ว่าบริษัทกำลังจะเปลี่ยนจาก Social Media Company ไปเป็น Metaverse Company นั่นเอง


นอกจากนี้การที่บริษัทชื่อว่า Facebook ยังทำให้บริษัทดูเหมือนผูกติดอยู่กับแค่ Facebook อย่างเดียว ทั้ง ๆ ที่บริษัท Facebook มีผลิตภัณฑ์ในเครือเยอะแยะ เช่น Facebook, Instagram, Whatsapp ดังนั้นในอนาคตถ้า Facebook จะโฟกัสเรื่องใหม่ ก็สมควรตั้งชื่อให้รองรับกับบริการใหม่ ๆ ในอนาคตด้วย 


Meta ศึกรอบด้านขนาดนี้ โลกใหม่ของ Facebook จะรอดไหม? ภาพจาก reuters

 


สำหรับใครที่สงสัยว่า Metaverse (เมต้าเวิร์ส) คืออะไร ต้องขออธิบายก่อนว่าคอนเซ็ปต์ Metaverse ของ Meta เป็นเหมือนกับ “โลกเสมือนจริง” ที่ทุกคนสามารถเข้าไปทำกิจกรรมในโลกนั้นได้ โดยการเข้าสู่โลก Metaverse ก็จะต้องใช้งานผ่านอุปกรณ์ต่าง ๆ ส่วนกิจกรรมที่ทำก็เช่น ดูหนังฟังเพลง ขายของ ลองเสื้อ หรือจะเดินทางไปที่ไหน จะไปเจอใครก็ทำได้หมดไม่จำกัดสถานที่ แม้ตัวเราจริง ๆ จะนั่งอยู่ที่บ้านก็ตาม


โดยการเปิดประตูสู่โลก Metaverse  สามารถเข้าได้ผ่านหลากหลายช่องทาง ซึ่งแต่ละแบบก็จะได้ประสบการณ์ที่แตกต่างกันออกไป เช่น 

 

- เข้าผ่านแว่น VR (Virtual Reality) วิธีนี้ เราจะได้รับประสบการณ์แบบเต็มรูปแบบเป็น Fully Immerse

- หรือ จะเลือกแบบผสมผสาน คือ ใส่แว่น และ ใช้งานแบบ AR (Augmented Reality) ด้วยวิธีนี้เราจะได้รับประสบการณ์ระดับกลาง

- และการเข้าใช้งานผ่านคอมพิวเตอร์ สมาร์ตโฟน หรืออุปกรณ์อื่น ๆ ก็ได้ แต่ด้วยวิธีนี้จะไม่ฟินเท่ารูปแบบที่กล่าวมาก่อนหน้านี้


ส่วนแนวคิดของ “Meta” ที่นำเสนอออกมาก็คือ “Connection is evolving and so are we” หรือ การเชื่อมต่อกันกำลังพัฒนาและพวกเราก็เช่นกัน ดังนั้น บริษัทจึงเลือกพัฒนาตัวเองและไปโฟกัสที่การสร้างประสบการณ์เสมือนจริงรูปแบบใหม่ เพราะคำว่า Facebook ไม่ได้สะท้อนวิสัยทัศน์ของบริษัทอีกต่อไป และเป็นแค่ชื่อของ social media เพียงแค่แพลตฟอร์มเดียว


ส่วนชื่อผลิตภัณฑ์อื่น ๆ เช่น Facebook, Instagram , WhatsApp จะยังคงเป็นชื่อเดิม ขณะที่สัญลักษณ์ของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์จะเปลี่ยนเป็น "MVRS" ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคมเป็นต้นไป


ซึ่ง Facebook เองรวมถึงนักวิเคราะห์หลายคนเชื่อว่าต่อไป Metaverse นี่แหละที่จะเข้ามาแทนที่อินเตอร์เน็ตในปัจจุบัน เป็นพื้นที่ทำกินแห่งใหม่ที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ และจะกลายมาเป็นธุรกิจหลักของ Facebook ต่อไปด้วย Facebook ถึงได้เอาจริงเอาจังกับการสร้าง Metaverse อย่างเต็มที่ ทั้งทุ่มเงินลงทุน ทั้งทุ่มกำลังจ้างงาน อย่างเมื่อเร็ว ๆ นี้ที่ออกมาประกาศจ้างแรงงานชั้นดีของยุโรปเพิ่มอีก 10,000 ตำแหน่ง ก็เพื่อมาช่วยสร้าง Metaverse  นี่แหละ


แต่หนทางจะไปสู่ Metaverse ดูจะไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เพราะในทางเทคนิคแล้ว Facebook เองยังคาดว่าน่าจะต้องใช้เวลากว่า 10-15 ปีกว่าที่ Metaverse จะสร้างเสร็จสมบูรณ์ แถมตอนนี้บริษัทยังต้องเจออุปสรรคจากข่าวฉาวที่นับวันยิ่งผุดออกมาเรื่อย ๆ อีกด้วย


Meta ศึกรอบด้านขนาดนี้ โลกใหม่ของ Facebook จะรอดไหม? ภาพจาก reuters

 


นอกจากนี้ นักวิจารณ์บางคนบอกว่า การเปลี่ยนชื่อครั้งนี้อาจเป็นความพยายามของ Facebook ในการ "เบี่ยงประเด็น" เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่า การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้เกิดขึ้นท่ามกลางมรสุมจากข่าวฉาวที่ทางบริษัทต้องเผชิญอย่างหนัก และนับวัน ก็ยิ่งผุดออกมาเรื่อย ๆ


อย่างที่โดนไปล่าสุดก็คือการที่ Frances Haugen (ฟรานเซส เฮาเกน) อดีตพนักงานของ Facebook  ออกมาแฉบริษัท ด้วยการรวบรวมวิจัยและเอกสารภายในที่แสดงให้เห็นว่า บริษัทไม่ได้ใส่ใจต่อตัวผู้ใช้งานมากเท่ากับการคำนึงเรื่องผลกำไร รวมถึงข้อมูลปัญหาภายในเรื่องอื่น ๆ ส่งให้กับ Wall Street Journals  สื่อดังระดับโลกเอาไปเผยแพร่ จน Facebook ต้องโดนไต่สวนจากสภาคองเกรซกันจนถึงตอนนี้


และการออกมาแฉครั้งนี้เรียกได้ว่าสั่นสะเทือนยักษ์ใหญ่โซเชียลมีเดียเจ้านี้จริง ๆ เพราะหลังจากนั้นไม่นานบริษัทก็โดนขุดเรื่องฉาวภายในออกมารัว ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความหละหลวมในการควบคุมข้อมูลเท็จเกี่ยวกับวัคซีนโควิด-19 ไปจนถึงผลการวิจัยภายในที่ชี้ว่า Instagram ส่งผลเสียกับสุขภาพจิตของวัยรุ่นหญิง


แถมข่าวฉาวที่ทยอยออกมา ก็ดันเป็นช่วงเดียวกับที่ Facebook กำลังวางแผนระยะยาวในการรีแบรนด์ของตัวเองไปสู่การสร้าง Metaverse อีกด้วย ดังนั้นมรสุมลูกใหญ่ที่กำลังพัดกระหน่ำครั้งนี้ อาจจะทำให้ Facebook (Meta) ไปไม่ถึง Metaverse อย่างที่ตั้งใจไว้หรือเปล่า?


Meta ศึกรอบด้านขนาดนี้ โลกใหม่ของ Facebook จะรอดไหม? ภาพจาก reuters

 


ส่วนเพื่อนร่วมวงการเจ้าอื่น ๆ เช่น TikTok และ Snapchat ก็โดนสอบสวนด้วยเหมือนกัน ร้อนถึงตัวแทนของบริษัทต้องออกมาบอกว่าจะไม่ทำซ้ำรอย Facebook และยินดีเปิดเผยข้อมูลภายในอย่างโปร่งใสให้สภาคองเกรซได้ตรวจสอบด้วย


ส่วนเหตุผลว่าทำไม Facebook ดูจะโดนจับตามองมากที่สุด สื่อหลายสำนักคาดว่าเป็นเพราะอิทธิพลของ Facebook เองที่นับวันก็มีแต่จะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ 


โดย Facebook Report เปิดเผยรายได้รวมในไตรมาสสามของปีนี้อยู่ที่ประมาณ 29,010 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือคิดเป็นเงินไทยประมาณ 963,960 ล้านบาท และมียอดผู้ใช้งานรายเดือนที่ยังแอคทีฟอยู่ประมาณ 2,910 ล้านคน จึงไม่น่าแปลกใจที่จะโดนเพ่งเล็งจากรัฐฯ มากกว่าโซเชียลมีเดียเจ้าอื่น ๆ 


Meta ศึกรอบด้านขนาดนี้ โลกใหม่ของ Facebook จะรอดไหม? ภาพจาก reuters

 

แน่นอนว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งที่ Facebook ต้องหาทางแก้ต่อไป แต่หมากพิฆาตตัวต่อไปที่ Mark Zuckerberg เลือกเดิน ก็คือ การเดินหน้า ทรานส์ฟอร์มตัวเองด้วยการเปลี่ยนจากการเป็นแค่ Social Media Company ซึ่งปัจจุบันมีคู่แข่งเกิดใหม่มากมาย ไปเป็น Metaverse Company หรือ Metaverse-First ไม่ใช่ Facebook-First อย่างจริงจัง


นอกจากหมากพิฆาตตัวนี้ กลยุทธแก้แกมของ Facebook ยังมุ่งไปสู่การปรับโฟกัสกลุ่มเป้าหมายใหม่ เอาใจวัยรุ่นมากขึ้น เนื่องจากกลุ่มเป้าหมายใหม่นี้ คือกำลังสำคัญที่จะช่วยดัน Metaverse ให้เติบโตได้  นอกจากนี้ ยังช่วยทางบริษัท แก้ปัญหากลุ่มผู้ใช้งานวัยหนุ่มสาวที่กำลังลดลงเรื่อย ๆ บนแพลตฟอร์ม จนทำให้ Facebook ถูกมองว่าเป็นแพลตฟอร์มสำหรับ สว. หรือ สูงวัย อีกด้วย


ที่น่าสนใจ คือ เพื่อขยายขอบเขตของการติดต่อสื่อสารในโลกปัจจุบันผ่านโลก Meta ทางบริษัทยังประกาศ Action หรือสิ่งที่ Meta จะรับผิดชอบทั้งหมด 4 หัวข้อ ซึ่งแต่ละหัวข้อที่กำหนดมาล้วนแล้วแต่เป็นดราม่าที่ Facebook กำลังเผชิญ ได้แก่


Promoting Safety and Expression 

Protecting Privacy and Security 

Preparing for Elections 

Responding to COVID-19


หลายคนเลยมองว่า การออกมารีแบรนด์เป็น Meta เหมือนกับพยายามที่จะชดเชยความผิดพลาด ด้วยการสัญญาว่าจะไม่ทำผิดซ้ำในประเด็นเดิม


อย่างไรก็ต้องยอมรับว่า Metaverse ของมาร์กนับว่าเป็นไอเดียที่เจ๋งมาก เพราะจะเปลี่ยนโมเดลธุรกิจของ Facebook และชีวิตของผู้คนไปอย่างสิ้นเชิง แต่ก็น่าคิดว่ามนุษย์ในโลก Meta ของมาร์ก ที่สามารถเลือกในสิ่งที่อยากเห็น อยากทำ อยากเป็น ได้ทั้งหมดในโลกเสมือนจริง จะทำให้ Metaverse กลายเป็นกับดักที่ทำให้มนุษย์หลงอยู่กับความสวยงามและติดอยู่ในโลกนั้นแทนโลกแห่งความเป็นจริงก็เป็นได้ 



ขอบคุณข้อมูลจาก

reuters

reuters

theverge

theverge

cnbc

investor


ขอบคุณภาพจาก

reuters

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง