TNN online คำแนะนำการใช้ Pulse Oximeter วัดออกซิเจนในเลือด หาภาวะ Happy Hypoxia ในผู้ป่วย COVID-19

TNN ONLINE

Tech

คำแนะนำการใช้ Pulse Oximeter วัดออกซิเจนในเลือด หาภาวะ Happy Hypoxia ในผู้ป่วย COVID-19

คำแนะนำการใช้ Pulse Oximeter วัดออกซิเจนในเลือด หาภาวะ Happy Hypoxia ในผู้ป่วย COVID-19

ผู้ป่วยโควิดที่ตรวจเจอเชื้อเป็นบวก แต่ยังไม่แสดงอาการและกักตัวอยู่บ้าน อาจใช้ Pulse Oximeter เฝ้าระวังภาวะขาดออกซิเจนที่อาจเกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัว

สถานการณ์การระบาดของโรค COVID-19 ในปัจจุบันยังถือว่าน่าเป็นห่วง และมีผู้ป่วยหลายรายที่มักไม่แสดงอาการในช่วงแรก ๆ จนกระทั่งร่างกายทรุดหนัก ปอดไม่สามารถแลกเปลี่ยนแก๊สออกซิเจนได้ จนอาจเป็นสาเหตุให้เสียชีวิตได้ในเวลาอันรวดเร็ว ดังนั้น Pulse Oximeter อุปกรณ์วัคค่าออกซิเจนในเลือดที่ปลายนิ้ว อาจช่วยให้คุณทราบถึงอาการที่รุนแรง และไปพบแพทย์ได้ทันเวลาได้


คำแนะนำการใช้ Pulse Oximeter วัดออกซิเจนในเลือด หาภาวะ Happy Hypoxia ในผู้ป่วย COVID-19 ที่มาของภาพ https://www.houstonmethodist.org/blog/articles/2020/aug/can-an-oximeter-help-detect-covid-19-at-home/

 


Hypoxia และ Hypoxemia


Hypoxia เป็นศัพท์ทางการแพทย์มีความหมายว่า ระดับออกซิเจนในเนื้อเยื่อของร่างกายต่ำ ในขณะที่คำว่า Hypoxemia หมายถึงระดับออกซิเจนในเลือดต่ำ ซึ่งโดยปกติแล้วเมื่อเกิดภาวะ Hypoxemia ก็มักจะมีภาวะ Hypoxia ตามมา (เพราะออกซิเจนในเลือดน้อยอยู่แล้ว เนื้อเยื่อก็คงได้รับไม่เพียงพอ) 


ค่าปกติของออกซิเจนในเลือดที่วัดด้วย Pulse Oximeter อุปกรณ์วัคค่าออกซิเจนในเลือดที่ปลายนิ้ว เรียกว่า SpO2 จะอยู่ที่ 95-100% หากต่ำกว่าค่านี้ (บางครั้งยึดที่ค่าต่ำกว่า 92%) แสดงว่ามีออกซิเจนจับกับเลือดแดงได้น้อยลง บ่งชี้ถึงภาวะ “Hypoxemia” และอาจประเมินเป็นภาวะ “Hypoxia” ได้ด้วยนั่นเอง



ภาวะ Happy Hypoxia ภัยเงียบที่มากับ COVID-19


ผู้ที่มีภาวะ Hypoxia ในช่วงแรกจะมีการหายใจเร็วและสั้น หัวใจเต้นเร็ว รู้สึกเหมือนหายใจไม่อิ่ม กระสับกระส่าย แต่เมื่อระดับออกซิเจนในเลือดลดลงเหลือราว 80-85% จะเริ่มส่งผลกระทบต่อการทำงานของสมอง มีอาการสับสนหรือซึม และหากต่ำลงอยู่ที่ 65% จะมีภาวะเขียว (Cyanosis) ริมฝีปาก และปลายมือปลายเท้าเป็นสีม่วงได้ สุดท้ายจะเข้าสู่ขั้นโคม่าไปจนถึงการเสียชีวิตได้เลยทีเดียว



ซึ่ง COVID-19 เป็นโรคติดเชื้อที่ปอดเป็นหลัก เมื่อปอดถูกทำลายแน่นอนว่าการแลกเปลี่ยนแก๊สออกซิเจนคงเป็นไปอย่างยากลำบาก สิ่งที่ตามมาคือออกซิเจนในเลือดต่ำ เกิดภาวะ Hypoxemia และ Hypoxia ตามมา ทว่า มีผู้ป่วย COVID-19 จำนวนไม่น้อย ที่ไม่ได้แสดงอาการตั้งแต่แรกเริ่ม แม้เริ่มเกิดภาวะ Hypoxia แล้ว ก็ยังไม่แสดงความผิดปกติใด ๆ ออกมา ในทางการแพทย์เราเรียกภาวะนี้ว่า Happy Hypoxia หรือ Silent Hypoxia หมายถึงผู้ป่วยที่มีภาวะ Hypoxia แต่ไม่แสดงอาการของการขาดออกซิเจน


ภาวะ Happy Hypoxia นี้ ส่งผลกระทบอย่างมากต่อผู้ป่วย COVID-19 เพราะกว่าจะถึงมือแพทย์ก็ทำเอาอาการทรุดหนักไปมากแล้ว (ประสบการณ์ของผู้เขียนเองเคยเจอผู้ป่วยที่มีออกซิเจนในเลือดต่ำราว 60% แต่แสดงอาการเพียงหายใจสั้น ๆ หายใจเร็วเท่านั้น) เพราะฉะนั้น หากสามารถตรวจพบภาวะ Hypoxia ได้ก่อนน่าจะเป็นผลดีต่อตัวผู้ป่วยมากกว่า อย่างน้อยจะได้ไปพบแพทย์ได้รวดเร็วขึ้น และรับยาต้านไวรัสเพื่อช่วยลดอาการที่รุนแรงได้



คำแนะนำจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ในการใช้งาน Pulse Oximeter สำหรับผู้ป่วยที่กักตัวอยู่บ้าน


เอกสารคำแนะนำนี้จัดทำขึ้นเมื่อเดือนเมษายนปี 2664 โดยองค์การอนามัยโลก ซึ่งให้คำแนะนำว่า ผู้ป่วย COVID-19 บางรายที่ตรวจพบเชื้อเป็นบวกแต่ยังไม่มีอาการหรือมีอาการเพียงเล็กน้อย อาจถูกคัดแยกให้กักตัวอยู่ภายในที่พักอาศัยของตนเอง และรักษาตัวตามอาการจนกว่าจะหาย ซึ่งในขณะที่กักตัวอยู่บ้านจะต้องมีการติดตามอาการอย่างใกล้ชิด หนึ่งในอุปกรณ์ที่นำมาใช้คือ Pulse Oximeter ที่สามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยาหรือร้านอุปกรณ์การแพทย์


Pulse Oximeter จะช่วยตรวจหาภาวะ Happy Hypoxia ในผู้ป่วยเหล่านี้ได้ดังที่กล่าวไว้ข้างต้นว่า บางครั้งแม้จะไม่มีอาการหรือมีอาการแสดงเพียงเล็กน้อย แต่ไม่ได้หมายความว่าผู้ป่วยไม่ได้มีออกซิเจนในเลือดต่ำ การเฝ้าระวังด้วยอุปกรณ์ที่สามารถหาซื้อได้ง่ายอย่าง Pulse Oximeter ก็น่าจะมีประโยชน์ต่อตัวผู้ป่วยเป็นอย่างมาก


อย่างไรก็ตาม คำแนะนำนี้จัดทำขึ้นในกรณีที่บุคคลนั้นจัดเป็น “ผู้ป่วย COVID-19” คือตรวจพบเชื้อผลเป็นบวก แต่ยังไม่มีอาการ หรือมีอาการเพียงเล็กน้อย แล้วทำการกักตัวอยู่ในที่พักอาศัยเท่านั้น ซึ่งหากใครเข้าข่ายผู้ป่วยกลุ่มนี้สามารถปรึกษาไปยังแพทย์ผู้ดูแลเพื่อจัดหาอุปกรณ์มาไว้ใช้ติดตามอาการที่บ้านได้เลย


แล้วในกรณีผู้ที่จัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อ เช่น มีบุคคลในบ้านติดเชื้อ หรือมีประวัติคลุกคลีกับผู้ป่วย หรือเดินทางไปยังพื้นที่เสี่ยง แต่เมื่อตรวจหาเชื้อด้วย Rapid Antigen Test (ชุดตรวจหาไวรัสก่อโรค COVID-19 แบบเร่งด่วน) ยังให้ผลเป็นลบ บุคคลเหล่านี้จะต้องทำการกักตัวอยู่ที่บ้านเป็นเวลา 14 วันก่อน เพื่อรอตรวจหาเชื้อซ้ำในช่วง 7-14 วันระหว่างการกักตัว ซึ่งหากพวกเขามีภาวะ Happy Hypoxia ขึ้นมาในระหว่างการกักตัว จุดนี้อาจเป็นข้อสังเกตว่าจริง ๆ แล้ว ผู้ที่กักตัวอยู่บ้านที่กักตัวรอตรวจหาเชื้อซ้ำ ควรจะมีเครื่อง Pulse Oximeter ไว้คอยติดตามอาการด้วยหรือไม่?



Pulse Oximeter มีหลักการทำงานอย่างไร?


สำหรับการทำงานของอุปกรณ์วัดระดับออกซิเจนในเลือดที่ปลายนิ้ว จะอาศัยการดูดกลืนคลื่นแสงที่แตกต่างกันของเม็ดเลือดแดง ซึ่ง Pulse Oximeter จะมีลำแสงอยู่ด้วยกัน 2 ชนิด คือแสงสีแดงช่วงคลื่นประมาณ 660 นาโนเมตร ถูกดืดกลืนโดยเม็ดเลือดแดงที่มีออกซิเจนสูง (Oxyhemoglobin) และแสงอินฟราเรดช่วงคลื่นประมาณ 940 นาโนเมตร ถูกดูดกลืนโดยเม็ดเลือดแดงที่มีออกซิเจนต่ำ (Deoxyhemoglobin)



นั่นแสดงว่าหากออกซิเจนในเลือดสูง แสงสีแดงจะถูกดืดกลืนไปมากและมีการสะท้อนกลับมาน้อย ในขณะที่แสงอินฟราเรดจะสะท้อนกลับออกไปยังเซนเซอร์วัดผลได้มากกว่า เซนเซอร์ก็จะนำแสงทั้ง 2 ช่วงคลื่นมาคิดเป็นสัดส่วนออกมาเป็นค่าร้อยละ ซึ่งเซนเซอร์วัดระดับออกซิเจนในเลือดของสมาร์ทวอชก็จะใช้หลักการเดียวกัน



คำแนะนำในการใช้งาน Pulse Oximeter เพื่อติดตามอาการของผู้ป่วย COVID-19 ที่กักตัวอยู่บ้าน



ในการใช้งานอุปกรณ์วัดวัดระดับออกซิเจนที่ปลายนิ้ว มีคำแนะนำในการใช้งาน ดังนี้


1. ทำความสะอาดมือและนิ้ว โดยจะต้องล้างน้ำยาทาเล็บหรือถอดเล็บที่ต่อออกเสียก่อน เพราะอาจบดบังการทำงานของอุปกรณ์ได้


2. เช็คการทำงานของ Pulse Oximeter ก่อนว่าสามารถใช้งานได้ปกติหรือไม่ เช่น แบตเตอรี่ไม่อ่อนเกินไป, ลำแสงที่ปล่อยออกมาจากเครื่องมีความเข้มปกติ หรือหน้าจอสามารถอ่านค่าได้ครบถ้วนและชัดเจน เป็นต้น


3. อุ่นฝ่ามือและนิ้วก่อนสวม Pulse Oximeter ก่อนเสมอ เพราะมือที่เย็นเกินไปจะมีเลือดมาเลี้ยงที่ปลายนิ้วน้อยกว่า การแปลผลอาจผิดพลาดได้


4. สวมอุปกรณ์เข้าที่นิ้วให้กระชับ (ส่วนใหญ่นิยมสวมเข้าที่นิ้วชี้) แล้ววางมือลงบนพื้นราบให้มืออยู่นิ่ง จากนั้นรอประมาณ 1 นาที จนเครื่องอ่านค่าชีพจรและระดับออกซิเจนเสร็จ


5. สามารถประเมินได้ 2-3 ครั้งต่อวัน โดยบันทึกทั้งค่าชีพจรและระดับออกซิเจน เพื่อดูค่าสูงสุดและต่ำสุดที่เปลี่ยนแปลงไป


การแปลผลสามารถปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร เพื่อให้ผู้ใช้สามารถติดตามผลได้อย่างถูกต้อง ส่วนคำแนะนำของ WHO นั้น มีดังนี้


1. SpOมากกว่า 94% และยังไม่มีอาการของการขาดออกซิเจน (แน่นหน้าอก, หายใจเร็ว, หายใจไม่อิ่ม, รู้สึกสับสนมึนงง) - ถือว่ายังอยู่ในระดับปกติ สามารถดำเนินการติดตามอาการต่อได้ที่บ้าน


2. SpOน้อยกว่าหรือเท่ากับ 94% - ผู้ป่วยควรได้รับการติดตามเพิ่มเติมที่โรงพยาบาล เพื่อป้องกันอาการที่อาจแย่ลง


3. SpOน้อยกว่าหรือเท่ากับ 90% - ผู้ป่วยควรได้รับการส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลโดยเร็ว (ฉุกเฉิน) เพราะบ่งบอกถึงการทำงานที่แย่ลงของปอด อาจส่งผลต่ออวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายได้ด้วย


ทั้งนี้ อาจมีบุคคลบางกลุ่มที่มีระดับออกซิเจนในเลือดต่ำอยู่แล้ว เช่น ผู้ป่วยโรคทางเดินอุดกั้นเรื้อรัง (COPD) ซึ่งอาจมีระดับออกซิเจนต่ำกว่า 95% ได้ ควรแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบก่อนเพื่อบันทึกระดับออกซิเจนในเลือดไว้เป็นค่าเริ่มต้น และป้องกันการแปลผลที่คลาดเคลื่อนได้


และนี่คือแนวทางเบื้องต้นในการนำอุปกรณ์วัดระดับออกซิเจนในเลือดที่ปลายนิ้วไปใช้งานในผู้ป่วย COVID-19 ถึงกระนั้นก็อย่าลืมปรึกษาแพทย์ก่อนหาซื้ออุปกรณ์มาใช้ด้วย เพื่อความปลอดภัยในการใช้งาน และป้องกันการแปลผลที่คลาดเคลื่อน หวังว่าทุกท่านจะปลอดภัยจากโรค COVID-19 แล้วเราจะผ่านมันไปด้วยกัน


ขอขอบคุณข้อมูลจาก 1, 2, 34

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง