TNN online รู้จัก Rapid Antigen Test ชุดตรวจโควิดแบบเร่งด่วน รู้ผลเร็วภายใน 15 นาที

TNN ONLINE

Tech

รู้จัก Rapid Antigen Test ชุดตรวจโควิดแบบเร่งด่วน รู้ผลเร็วภายใน 15 นาที

รู้จัก Rapid Antigen Test ชุดตรวจโควิดแบบเร่งด่วน รู้ผลเร็วภายใน 15 นาที

การตรวจหาโรคโควิด-19 มีหลายวิธี หนึ่งในวิธีที่รวดเร็วและค่อนข้างแม่นยำ คือการตรวจด้วย Rapid Antigen Test

เนื่องจากช่วงนี้สถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ในประเทศไทยมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้น หนึ่งในกระบวนการที่นำพาไปสู่การรักษาโรค คือการตรวจพบเชื้อในเวลาอันสั้น ชุดตรวจโรค COVID-19 แบบที่สามารถให้ผลลัพธ์อย่างรวดเร็วจึงมีบทบาทมากขึ้นในเวลานี้



กระทรวงสาธารณสุขได้เสนอ 5 มาตรการให้ทางศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) นำชุดตรวจโรค COVID-19 แบบเร่งด่วนมาใช้ในสถานพยาบาลหรือรถให้บริการตรวจตามพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อให้แพทย์ พยาบาล และผู้ป่วยสามารถทราบผลการติดเชื้อได้อย่างรวดเร็ว เพื่อดำเนินการรักษาและป้องกันโรคได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ



ชุดตรวจ COVID-19 มีกี่ประเภท?


ชุดตรวจที่มีอยู่ในปัจจุบันแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่


1.Serological - ตรวจหาแอนติบอดีต่อไวรัสในร่างกาย


ชุดตรวจประเภทนี้จะเป็นการตรวจหาสารภูมิคุ้มกันหรือแอนติบอดี (Antibody) ชนิด IgM และ IgG ต่อไวรัส SARS-CoV-2 ที่เป็นตัวการก่อโรค COVID-19 จากเลือดของผู้ป่วย

อย่างไรก็ตามการตรวจด้วยวิธีนี้ "ไม่สามารถใช้ในการวินิจฉัยโรคได้" เนื่องจากมีรายงานผลตรวจที่ให้ผลบวกลวง (False positive) หรือผลลบลวง (False negative) สูง นอกจากนี้การที่ตรวจเจอแอนติบอดีในร่างกาย บ่งบอกได้แค่ว่าอาจจะติดเชื้ออยู่ในขณะนี้หรือเคยติดเชื้อมาก่อนหน้านี้ (ปัจจุบันไม่มีเชื้อแล้ว) และไม่สามารถบ่งบอกได้ว่าภูมิคุ้มกันเหล่านี้เป็นภูมิคุ้มกันที่อยู่ได้ตลอดไปอีกด้วย


มีรายงานว่าชุดตรวจหาแอนติบอดีบางชิ้นไม่จำเพาะต่อไวรัส SARS-CoV-2 มากนัก อาจผลให้บวกกับเชื้อโคโรนาไวรัสก่อนโรคอื่น ๆ ก็เป็นได้ ดังนั้นชุดตรวจชนิดนี้ไม่สามารถใช้วินิจฉัยโรคได้


นอกจากนี้ข้อมูลของกระทรวงสาธาณสุขเผยว่า ชุดตรวจหาแอนติบอดีในร่างกายหรือ Rapid Antibody Test จะตรวจพบภูมิคุ้มกันต่อเชื้อในช่วง 5-14 วันหลังรับเชื้อเข้าไป (เพราะต้องรอให้ร่างกายสร้างแอนติบอดีต่อไวรัส) จนกระทั่งหายไปป่วย หรือกรณีที่เคยรับวัคซีนมาแล้วก็จะได้ผลเป็นบวกเช่นเดียวกัน ดังนั้น จะเห็นได้ว่าการนำมาใช้เพื่อตรวจหาโรคยังไม่เหมาะสมนัก


2.Antigen - ตรวจหาโปรตีนของไวรัสในร่างกาย


ชุดตรวจชนิดนี้จะเป็นการตรวจหาโปรตีนที่จำเพาะต่อไวรัส SARS-CoV-2 โดยเก็บตัวอย่างสารคัดหลั่งจากโพรงจมูกหรือช่องปาก ซึ่งชุดตรวจชนิดนี้มีราคาไม่แพง แต่ความไวต่อการตรวจพบเชื้อจะน้อยกว่าการตรวจด้วย RT-PCR และมีโอกาสให้ผลลบลวงด้วย



ซึ่งแนวทางในการตรวจหาเชื้อจากกระทรวงสาธารณสุขเผยว่า กาตรวจหาแอนติเจนจากชุดตรวจ Rapid Antigen Test จะพบเชื้อได้ใน 3-5 วันหลังรับเชื้อเข้าไป หากตรวจแล้วพบเชื้อ ผู้ป่วยจะต้องได้รับการยืนยันอีกครั้งด้วยกระบวนการ RT-PCR แต่ในกรณีที่ตรวจไม่พบเชื้อใน 3-5 วันแรก ผู้ป่วยจะต้องกักตัวอย่างน้อย 14 วันเพื่อรอตรวจด้วย Rapid Antigen Test ซ้ำอีกครั้ง หากยังตรวจไม่พบเชื้อก็แสดงว่าไม่พบเชื้อจริง


แสดงให้เห็นว่าชุดตรวจแอนติเจนสามารถใช้บ่งบอกถึงการติดเชื้อได้ แต่ยังไม่นับว่าเป็นมาตรฐานกลางหรือ Gold Standard ที่ใช้ในการวินิจฉัยได้อย่างชัดเจน


3.Molecular - ตรวจหาสารพันธุกรรมของไวรัส ด้วยวิธีการ Reverse Transcriptase-Polymerase Chain Reaction (RT-PCR)


ปัจจุบันวิธีการตรวจที่เป็นมาตรฐานและนิยมใช้ในการวินิจฉัยโรค คือการตรวจหาสารพันธุกรรมของไวรัสในร่างกาย โดยการเก็บตัวอย่างจากสารคัดหลั่งในโพรงจมูกหรือช่องปาก จากนั้นจึงนำสารตัวอย่างไปผ่านกระบวนการเพื่อคัดแยกสารพันธุกรรมไวรัส


แม้จะมีสารพันธุกรรมอยู่น้อยนิด การตรวจด้วย RT-PCR มีโอกาสที่จะตรวจจับเชื้อได้สูงกว่า 2 วิธีข้างต้น การให้ผลบวกจึงค่อนข้างชี้ชัดได้ว่าบุคคลนั้นติดโรค COVID-19 และโอกาสเกิดผลลบลวงยังน้อยกว่าด้วย อย่างไรก็ตาม กรณีที่ได้ผลลบ แต่ประวัติและการตรวจร่างกายอื่น ๆ ของบุคคลนั้น จัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่จะติดเชื้อจริง ๆ สามารถกักตัวผู้ป่วยไว้ก่อน แล้วตรวจซ้ำในภายหลังได้ เพราะในช่วงแรกของการติดเชื้อมีโอกาสที่จะตรวจไม่พบเชื้อได้เช่นกัน


อย่างไรก็ตาม วิธีการตรวจแบบ RT-PCR นั้น จำเป็นต้องใช้เครื่องตรวจที่จำเพาะ จึงสามารถทำได้เฉพาะในสถานพยาบาลที่มีความพร้อม อีกทั้งยังมีค่าใช้จ่ายที่สูงกว่าการตรวจทั้ง 2 ประเภทข้างต้น



จุดเด่นและจุดด้อยของชุดตรวจ Rapid Antigen Test


จากข้อมูลข้างต้นจะเห็นได้ว่า ชุดตรวจโรค COVID-19 แบบเร่งด่วน ชนิด Rapid Antigen Test มีโอกาสตรวจพบเชื้อได้ตั้งแต่ช่วง 3-5 วันแรกหลังการติดเชื้อ จึงนำมาใช้คัดกรองผู้ป่วยในเบื้องต้นได้และช่วยให้แพทย์สามารถแยกผู้ติดเชื้อได้ในเวลาอันรวดเร็ว


หากเปรียบเทียบกันแล้ว ชุดตรวจ Rapid Antigen Test จะใช้เวลาในการรอผลราว 10-30 นาทีเท่านั้น ในขณะที่การตรวจด้วยกระบวนการ RT-PCR จะใช้เวลานาน 24-48 ชั่วโมงจึงจะทราบผล ทำให้กระทรวงสาธารณสุขออกมาตรการในการนำชุดตรวจชนิดนี้มาใช้ในสถานพยาบาลมากขึ้น


ทั้งนี้ เนื่องจากการเกิดผลลบลวงของการตรวจด้วย Rapid Antigen Test สามารถเกิดขึ้นได้ง่ายกว่า ในกรณีของการติดเชื้อในวันแรก ๆ เนื่องจากมีปริมาณเชื้อในร่างกายน้อย ความไวในการตรวจพบเชื้อและความแม่นยำของชุดตรวจชนิดนี้จึงด้อยกว่าการตรวจหาเชื้อไวรัสด้วยกระบวนการ RT-PCR นั่นเอง 

รู้จัก Rapid Antigen Test ชุดตรวจโควิดแบบเร่งด่วน รู้ผลเร็วภายใน 15 นาที ที่มาของภาพ FDA Thai

 



จะเข้ารับการตรวจโรค COVID-19 ด้วยชุดตรวจ Rapid Antigen Test ได้อย่างไร


ปัจจุบันชุดตรวจ Rapid Antigen Test ในประเทศไทย มีการขึ้นทะเบียนเพื่อใช้โดยผู้ประกอบวิชาชีพทางการแพทย์ (Professional Use) ทั้งสิ้น 24 ผลิตภัณฑ์ ซึ่งสถานบริการที่จะได้รับชุดตรวจจากสาธารณสุข ได้แก่


– สถานพยาบาลของรัฐ

– โรงพยาบาลทั่วไป

– โรงพยาบาลเฉพาะทางคลินิกเวชกรรม

– คลินิกเฉพาะทางด้านเวชกรรม

– คลินิกเทคนิคการแพทย์ หรือสหคลินิก


นั่นหมายความว่าคุณจะยังไม่สามารถหาซื้อชุดตรวจได้เองตามร้านขายยาหรือร้านขายอุปกรณ์การแทพย์ทั่วไป เพราะการใช้งานชุดตรวจเหล่านี้ควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ เพื่อดำเนินการตรวจด้วยวิธีการ RT-PCR ฉะนั้นการจำหน่ายหรือครอบครองชุดตรวจ COVID-19 โดยไม่ใช่สถานพยาบาลดังที่กล่าวไว้ข้างต้น ถือว่าเข้าข่ายการกระทำที่ผิดกฎหมาย 


อย่างไรก็ตาม ในสหราชอาณาจักรประชาชนสามารถหาซื้อชุดตรวจโรค COVID-19 ส่วนบุคคลทั่วไป (Home Use) มาใช้เองที่บ้านได้ ซึ่งคาดว่าในประเทศไทยคงจะมีการผลิตออกมาวางจำหน่ายให้สามารถหาซื้อเองได้ เพื่อลดความแออัดในสถานพยาบาล และลดระยะเวลาเข้ารับการตรวจให้กระชับมากขึ้น


กรณีที่ต้องการตรวจโรค COVID-19 โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยง เช่น เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยง หรือมีบุคคลในครอบครัวติดเชื้อ สามารถติดต่อไปยังสายด่วน 1668 เพื่อขอคำแนะนำ หรือสอบถามไปยังสถานพยาบาลใกล้บ้านทั้งภาครัฐและเอกชน โดยการตรวจด้วย Rapid Antigen Test นั้นจะมีราคาราว 1000-1500 บาท (ซึ่งมีราคาถูกกว่าการตรวจ RT-PCR ถึงครึ่งหนึ่งเลยทีเดียว)

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง