TNN online ให้ AI ช่วยคัดเลือกพนักงานมีความเสี่ยงทั้ง ‘ลำเอียง’ และ ‘เหยียดเชื้อชาติ’

TNN ONLINE

Tech

ให้ AI ช่วยคัดเลือกพนักงานมีความเสี่ยงทั้ง ‘ลำเอียง’ และ ‘เหยียดเชื้อชาติ’

ให้ AI ช่วยคัดเลือกพนักงานมีความเสี่ยงทั้ง ‘ลำเอียง’ และ ‘เหยียดเชื้อชาติ’

หลายบริษัทในต่างประเทศเริ่มใช้ AI ช่วยคัดเลือกใบสมัครพนักงาน ซึ่งพบปัญหาว่าแม้กระทั่ง AI ก็อาจจะมีความลำเอียงและเหยียดชาติพันธุ์อยู่เหมือนกัน

ตั้งแต่ที่มีการเลิกจ้างจากช่วงสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 เมื่อเวลาผ่านไป แต่ละบริษัททั่วโลกก็ได้ทยอยกลับมารับสมัครพนักงานใหม่อีกครั้ง สิ่งหนึ่งที่จะเกิดขึ้นแน่นอนก็คือใบสมัครจำนวนนับไม่ถ้วนที่จะถูกส่งมาพิจารณาเมื่อเปิดรับสมัครงานใหม่หลังจากหยุดนาน ปัญหานี้เองทำให้ในหลาย ๆ ที่โดยเฉพาะบริษัทในต่างประเทศเริ่มหันมาใช้เทคโนโลยี AI (artificial intelligence) เข้ามาช่วยในการคัดกรองใบสมัคร เพื่อลดระยะเวลาและแรงงานคนในการคัดเลือกมากขึ้น

ให้ AI ช่วยคัดเลือกพนักงานมีความเสี่ยงทั้ง ‘ลำเอียง’ และ ‘เหยียดเชื้อชาติ’
ที่มาของภาพ https://cdn.pixabay.com/photo/2015/07/17/22/43/student-849822__480.jpg

แต่จากข้อมูลของสื่อไอทีอังกฤษอย่าง WIRED พบว่า AI เองก็อาจจะมีแนวคิดที่เลือกปฏิบัติต่อผู้สมัครแต่ละคนไม่เท่ากันเช่นกัน โดย Frida Polli อดีตนักวิชาการด้านประสาทวิทยาของมหาวิทยาลัยฮาร์เวิร์ดและเอ็มไอทีกล่าวว่า วิทยาการเอไอเรียนรู้ข้อมูลเหมือนกับ “เด็กทารก” กล่าวคือมันจะเรียนรู้จากสิ่งที่มนุษย์รอบข้างป้อนข้อมูลให้ ดังนั้นถ้าข้อมูลนั้นมีความลำเอียงไปทางใดทางหนึ่ง ก็เป็นไปได้ที่จะส่งผลต่อการจดจำและนำไปใช้ของ AI เช่นกัน เธอยังเชื่ออีกว่าบริษัททั้งหลายที่ป้อนข้อมูลให้ AI เรียนรู้นั้นไม่ได้มีการตรวจสอบข้อมูลก่อน และข้อมูลที่ไม่เป็นกลางทั้งหลาย ก็จะส่งผลให้เกิดอัลกอริทึมแบบลำเอียงเช่นกัน

ให้ AI ช่วยคัดเลือกพนักงานมีความเสี่ยงทั้ง ‘ลำเอียง’ และ ‘เหยียดเชื้อชาติ’
ที่มาของภาพ https://cdn.pixabay.com/photo/2020/03/30/09/15/corona-4983590_1280.jpg

และในช่วงสถานการณ์วิกฤต COVID-19 นี้เองที่ส่งผลให้คนหลายสิบล้านคนทั่วโลกตกงาน จากข้อมูลของ BBC พบว่าจำนวนเงินชดเชยกรณี ‘Out-of-work’ ในอังกฤษถูกเบิกไปมากกว่า 2.7 ล้านปอนด์ และคาดการณ์ว่าจาก 45%  ของกรณีนี้มีสาเหตุมาจากการที่ผู้คนสูญเสียงานประจำไปจากสถานการณ์ COVID-19 และในเดือนตุลาคมนี้ที่การสนับสนุนและการชดเชยกรณีเลิกจ้างสิ้นสุดลง บริษัทต่าง ๆ ก็น่าจะต้องเจอกับสึนามิใบสมัครงานที่จะถาโถมเข้ามาอย่างไม่ต้องสงสัย

นั่นจึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้หลายบริษัทสนใจที่จะนำเทคโนโลยี AI เข้ามาช่วยลดทอนงานของฝ่าย HR ลง แต่ก็ไม่สามารถรับประกันได้ว่า AI จะไม่ทำงานผิดพลาดโดยการคัดเลือกที่ลำเอียง เช่นในกรณีที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2018 ที่อเมซอนต้องรีบหยุดการใช้โปรแกรมคัดเลือกใบสมัครไป เพราะตัวโปรแกรมดันอ้างอิงจากข้อมูลเก่า ๆ ของแนวทางการรับสมัครพนักงานที่ผ่านมาของอเมซอน ผลคือทำให้ตัวเลือกพนักงานหญิงไม่เป็นที่นิยมในการคัดเลือกในครั้งนั้น

ให้ AI ช่วยคัดเลือกพนักงานมีความเสี่ยงทั้ง ‘ลำเอียง’ และ ‘เหยียดเชื้อชาติ’
ที่มาของภาพ https://cdn.pixabay.com/photo/2018/03/03/20/02/laptop-3196481_1280.jpg

นอกจากนั้น AI อาจจะสับสนเมื่อเจอกับ “ช่องว่าง” ของเวลาทำงานที่หายไปเพราะ COVID-19 ในใบสมัครงานของเราและอาจส่งผลต่อการคัดกรองใบสมัครได้ นอกจากนี้ยังมีกรณีเช่นคำหรือคียเวิร์ดบางอย่างที่ส่งผลต่อเรื่องเพศหรือเชื้อชาติของลูกจ้าง เช่น ถ้าใบสมัครมีกิจกรรมยามว่าง หรือกีฬา หรือแม้กระทั่ง Soft Skills บางอย่างที่เอไอตัดสินว่าไม่เหมาะกับองค์กร ก็อาจจะถูกคัดใบสมัครทิ้งได้ง่าย ๆ เช่นกัน ทำนองเดียวกันกับประสบการณ์ที่เกิดขึ้นในอังกฤษของ Saurav Dutt นักเขียนชาวอินเดียผู้เติบโตในอังกฤษ และนักวิเคราะห์ทางการเมือง ได้ให้ข้อมูลกับ WIRED ไว้ว่าในบางครั้งถ้าชื่อของคุณดูยิ่งดูแปลกหรืออ่านยากมากเท่าไหร่ คุณก็อาจจะโดนเหมารวมไปแล้วว่าภาษาอังกฤษของคุณไม่ดี ซึ่งเป็นเหตุที่ทำให้เขาต้องเปลี่ยนชื่อให้ดูตะวันตกมากขึ้น รวมถึงการพยายามตัดความเป็น ‘อินเดีย’ ออกไป เช่น การระบุภาษาที่ใช้เป็นเยอรมันหรือฝรั่งเศสแทนภาษาฮินดี ก็เป็นหนึ่งในสิ่งที่เขาเชื่อว่าสามารถทำให้ได้รับการคัดเลือกที่ง่ายขึ้นเช่นกัน ดังนั้นถ้ากระบวนการคัดเลือกและค่านิยมเหล่านี้ถูกมนุษย์ป้อนให้คอมพิวเตอร์จดจำ มันก็จะทำหน้าที่คัดเลือกข้อมูลอย่างไม่เป็นธรรมตามที่มันได้เรียนรู้มา

สุดท้ายแล้วถึงแม้ว่าบริษัทต่าง ๆ อาจจะยังไม่ได้มีการนำเอา AI เข้ามาช่วยในการคัดเลือกพนักงานร้อยเปอร์เซ็น แต่ก็ได้มีการเตือนไปยังบริษัททั้งหลายว่าอย่าพึ่งรีบร้อนไปนัก เพราะกระบวนการเรียนรู้และพัฒนาของ AI นั้นค่อนข้างซับซ้อนและต้องการการตรวจสอบเพื่อการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง อย่างที่ Ivana Bartoletti ผู้อำนวยการฝ่ายเทคนิคความปลอดภัยของ Deloitte ได้กล่าวไว้ว่าระบบการตัดสินอัตโนมัติเหล่านี้สามารถทำคนสูญเสียงานได้ง่าย ๆ และเธอยังกังวลว่าแม้แต่ระบบการปกป้องข้อมูลกลาง หรือ General Data Protection Regulation (GDPR) ก็ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้

ดังนั้นถึงแม้บริษัทต่างๆ จะใช้หรือไม่ใช้ AI ช่วยคัดเลือก ก็ควรจะต้องตรวจดูว่ากระบวนการรับสมัครพนักงานของเราโปร่งใสและเป็นกลางหรือไม่ เพื่อที่วันใดจะป้อนข้อมูลให้เทคโนโลยีเหล่านี้ช่วยเหลือ จะได้ไม่เป็นการตัดโอกาสดี ๆ ของหลายคนทิ้งไปเพราะความผิดพลาดอันน่าเสียดายนี้เอง

ขอบคุณข้อมูลจาก
เกาะติดข่าวที่นี่
website: www.TNNThailand.com
facebook : TNNThailand
facebook live : TNN Live
twitter : @TNNThailand
Line : @TNNONLINE
Youtube Official : TNNThailand
Instagram : @tnn_online
TIKTOK : @tnnonline

ข่าวแนะนำ