บริษัท แม็กซ์ สเปซ (Max Space) พัฒนาโมดูลสถานีอวกาศแบบพองตัวได้พร้อมเปิดตัวปี 2026
บริษัท Max Space พัฒนาโมดูลสถานีอวกาศแบบพองตัวได้ เพิ่มระบบความปลอดภัยและพื้นที่ขยายใหญ่มากขึ้น บริษัทมีแผนเปิดตัวสถานีอวกาศดังกล่าวในปี 2026
ปัจจุบันปฏิเสธไม่ได้ว่าประเทศมหาอำนาจด้านเทคโนโลยีหลายแห่งกำลังให้ความสำคัญกับการก่อสร้างสถานีอวกาศอวกาศ เพื่อใช้เป็นสถานที่ศึกษาการใช้ชีวิตบนอวกาศ เช่นเดียวกับบริษัท แม็กซ์ สเปซ (Max Space) สตาร์ตอัปด้านเทคโนโลยีอวกาศในสหรัฐอเมริกาที่หยิบเอาแนวคิดสถานีอวกาศแบบพองตัวได้ในยุค 90 มาปัดฝุ่นใหม่ โดยเพิ่มระบบความปลอดภัยและพื้นที่ขยายใหญ่มากขึ้น บริษัทมีแผนเปิดตัวสถานีอวกาศดังกล่าวในปี 2026
บริษัทสตาร์ตอัปแม็กซ์ สเปซ (Max Space) แห่งนี้ก่อตั้งโดยแอรอน เค็มเมอร์ (Aaron Kemmer) อดีตพนักงานของบริษัท เมด อิน สเปซ (Made in Space) และแม็กซิม เดอ ยอง (Maxim de Jong) วิศวกรด้านเทคโนโลยีอวกาศที่มีประสบการณ์อยู่ในทีมงานสร้างโมดูลให้กับสถานีอวกาศนานาชาติ ISS บริษัทมีเป้าหมายพัฒนาที่อยู่อาศัยแบบขยายได้แบบอเนกประสงค์ มีประสิทธิภาพและกว้างกว่าโมมูลสถานีอวกาศทั่วไป โดยใช้ต้นทุนราคาถูกกว่าและน้ำหนักเบา โครงสร้างเหล็กหรือวัสดุที่มีความแข็งจะถูกแทนที่ด้วยโครงสร้างคล้ายลูกโป่งพองตัวได้มีความแข็งแรงทนทานต่ออันตรายต่าง ๆ บนอวกาศ
สถานะของการพัฒนาโมดูลสถานีอวกาศแบบพองตัวได้ของบริษัทแม็กซ์ สเปซ (Max Space) ปัจจุบันบริษัทประสบความสำเร็จในการสร้างโมดูลต้นแบบลักษณะคล้ายลูกโป่งที่ประกอบด้วยเส้นใยที่แข็งแรงจำนวน 96 เส้น ซึ่งแต่ละเส้นรับน้ำหนักได้ 17,000 ปอนด์ สามารถป้องกันความร้อน รังสีและไมโครเมทิออไรต์ หรืออุกกาบาตขนาดเล็กบนอวกาศ โดยใช้การเชื่อมต่อที่แข็งแรง แต่ก็สามารถรองรับการเพิ่มช่องว่างอื่น ๆ เช่น ประตูทางเข้าและหน้าต่างของโมดูลที่จะถูกเพิ่มลงไปในอนาคต
สำหรับกระบวนการทำงานของโมดูลสถานีอวกาศแบบพองตัวได้ของบริษัทแม็กซ์ สเปซ (Max Space) ใช้รูปแบบการส่งขึ้นสู่อวกาศด้วยจรวด โดยโครงสร้างคล้ายลูกโป่งจะถูกพับเก็บเอาไว้ ก่อนจะพองตัวบนอวกาศโดยใช้แรงดันอากาศ พื้นที่ภายในโมดูลรองรับกิจกรรมต่าง ๆ ของนักบินอวกาศ ทั้งรูปแบบห้องวิจัยและกิจกรรมอื่น ๆ ขึ้นอยู่กับรูปแบบภารกิจ
นอกจากแผนการพัฒนาโมดูลสถานีอวกาศแบบพองตัวได้ บริษัทยังมีแผนการระยะยาวเกี่ยวกับการพัฒนาโมดูลสำหรับใช้เป็นฐานบนดวงจันทร์ โดยมีจุดเด่นในด้านของการก่อสร้างที่ทำได้อย่างรวดเร็วบนพื้นผิวดวงจันทร์ ซึ่งใช้เทคโนโลยีที่คล้ายการพองตัวของโมดูลสถานีอวกาศแบบพองตัวได้ บริษัทยังไม่เปิดเผยรายละเอียดของแผนการดังกล่าวออกมามากนัก และคาดว่าต้องใช้การพัฒนาอีกหลายปี
ก่อนหน้านี้แนวคิดโมดูลสถานีอวกาศแบบพองตัวถูกนำเสนอผ่านโครงการ TransHab ของนาซาในช่วงยุค 90 แม้ลักษณะภายนอกดูคล้ายลูกโป่งขนาดใหญ่ แต่โครงสร้างภายในนั้นมีความแข็งแรงด้วยเส้นใหญ่และถูกถักทอขึ้นด้วยความละเอียดคล้ายตะกร้า รองรับการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิที่สุดขั้วบนอวกาศ และแรงกดดันมหาศาล แต่เนื่องจากข้อจำกัดในด้านเทคโนโลยีในช่วงยุค 90 ทำให้โครงการ TransHab ก็ไม่ได้คืบหน้ามากนัก
ปัจจุบันนอกจากบริษัทแม็กซ์ สเปซ (Max Space) ยังมีบริษัทอื่น ๆ ในสหรัฐอเมริกากำลังพัฒนาเทคโนโลยีโมดูลสถานีอวกาศแบบพองตัวได้ เช่น บริษัท Sierra Nevada, Bigelow Aerospace และ Lockheed Martin โดยเฉพาะบริษัท Bigelow Aerospace ที่มีความก้าวหน้ามากที่สุด ด้วยการพัฒนาโมดูลแบบพองตัว BEAM ส่งไปติดตั้งเข้ากับสถานีอวกาศนานาชาติ ISS ในช่วงปี 2016 ที่ผ่านมา
ที่มาของข้อมูล Techcrunch
ข่าวแนะนำ
-
จีนเร่งพัฒนาจรวดขนส่งไปดวงจันทร์
- 20/6/67