TNN เรือเฟอร์รี่โดยสารพลังงานไฮโดรเจน เตรียมให้บริการในสหรัฐฯ

TNN

Tech

เรือเฟอร์รี่โดยสารพลังงานไฮโดรเจน เตรียมให้บริการในสหรัฐฯ

เรือเฟอร์รี่โดยสารพลังงานไฮโดรเจน เตรียมให้บริการในสหรัฐฯ

สหรัฐฯ เตรียมใช้เรือคาตามารัน MV Sea Change ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฮโดรเจน และสามารถรองรับผู้โดยสารได้มากถึง 75 คน เพื่อช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนของการขนส่งทางเรือให้น้อยลงยิ่งกว่าเดิม

สหรัฐอเมริกาเตรียมนำเรือเฟอร์รี่โดยสารเชิงพาณิชย์ที่ใช้พลังงานไฮโดรเจนลำแรกของโลก เปิดให้บริการครั้งแรกบนอ่าวซานฟรานซิสโก โดยเป็นส่วนหนึ่งของโครงการริเริ่มด้านความยั่งยืน ซึ่งช่วยลดการพึ่งพาเรือที่ใช้น้ำมันดีเซล และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ดียิ่งขึ้น


เรือเฟอร์รี่โดยสารพลังงานไฮโดรเจน เตรียมให้บริการในสหรัฐฯ ภาพจาก Switch

เรือลำนี้มีชื่อว่า เอ็มวี ซี เชนจ์ (MV Sea Change) เป็นเรือแบบคาตามารัน (Catamaran) ความยาวประมาณ 70 ฟุต หรือราว 21 เมตร และสามารถรองรับผู้โดยสารได้มากถึง 75 คน ตัวเรือสามารถแล่นได้ในระยะทางประมาณ 300 ไมล์ทะเล หรือราว 555 กิโลเมตร และใช้งานได้ประมาณ 16 ชั่วโมง ก่อนจะต้องเติมเชื้อเพลิงใหม่ 


จุดเด่นของเรือลำนี้ คือการใช้พลังงานไฟฟ้าจากไฮโดรเจน ซึ่งจะผลิตกระแสไฟฟ้าโดยการรวมออกซิเจนและไฮโดรเจนในปฏิกิริยาเคมีไฟฟ้า และปล่อยน้ำออกมาแทนควันพิษ ทำให้ตัวเรือช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและมลพิษได้อย่างมาก เมื่อเปรียบเทียบกับเรือเฟอร์รีที่ขับเคลื่อนด้วยดีเซล 


สำหรับโครงการเรือลำนี้ ได้รับการสนับสนุนทางการเงินและบริหารจัดการโดยบริษัทการลงทุน สวิตช์ มาริไทม์ (SWITCH Maritime) ซึ่งทางผู้พัฒนาระบุว่า การใช้เทคโนโลยีนี้ จะสามารถช่วยลดการปล่อยมลพิษของอุตสาหกรรมการขนส่ง ซึ่งก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกร้อยละ 3 ของโลก 


จิม วันเดอร์แมน (Jim Wunderman) ประธานหน่วยงานขนส่งเหตุฉุกเฉินทางน้ำบริเวณอ่าวซานฟรานซิสโก ยังเปิดเผยอีกว่าโครงการนี้ เตรียมเปิดให้บริการในวันที่ 19 กรกฎาคม โดยจะใช้ขนส่งตามแนวริมน้ำระหว่างท่าเรือที่ 41 และท่าเรือข้ามฟากในตัวเมือง และจะไม่มีค่าใช้จ่ายในช่วง 6 เดือนแรก 

เนื่องจากเป็นส่วนหนึ่งของโครงการนำร่อง  


หากโครงการนี้ประสบความสำเร็จ ก็อาจจะเพิ่มจำนวนเรือแบบเดียวกันมากขึ้นในกองเรือต่อไป และหวังว่าในอนาคต การใช้งานเรือขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฮโดรเจน จะสามารถขยายขอบเขตไปยังเรือคอนเทนเนอร์ต่าง ๆ ได้ในที่สุด


ข้อมูลจาก interestingengineeringapvideohub

ข่าวแนะนำ