กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์พบ “กาแล็กซีที่ไกลที่สุดอันดับ 2” เท่าที่เคยจับภาพได้
กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์ จับภาพ 2 กาแล็กซีขนาดมหึมา ซึ่งอยู่ห่างจากโลกมากที่สุดเป็นอันดับที่ 2 และอันดับที่ 4 เท่าที่เคยสังเกตการณ์มา
กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์ (James Webb Space Telescope) เผยกาแล็กซีใหม่ถึง 2 กาแล็กซี ซึ่งอยู่ห่างจากโลกมากที่สุดเป็นอันดับที่ 2 และอันดับที่ 4 เท่าที่เคยมีการสังเกตการณ์มา การค้นพบที่น่าทึ่งนี้อาจสร้างความเข้าใจใหม่ ๆ เกี่ยวกับจักรวาลยุคแรกเริ่มได้
ทีมนักดาราศาสตร์นานาชาติที่นําโดยนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเพนน์สเตท (Penn State University) ได้ค้นพบกาแล็กซีทั้งสองในภูมิภาคอวกาศที่มีชื่อว่า “แพนโดราส์ คลัสเตอร์” (Pandora's Cluster) หรือ “อเบลล์ 2744” (Abell 2744) ด้วยการใช้ข้อมูลสเปกโทรสโกปี (Spectroscopy data) หรือข้อมูลเกี่ยวกับการกระทำของพลังงานของรังสีที่แผ่ออกมายังสสารและการดูดกลืนรังสีต่างๆ ของสารอินทรีย์ จากกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์ ที่ทำหน้าที่สังเกตการณ์เหล่ากาแล็กซีที่อยู่ห่างจากโลกเกือบ 33,000 ล้านปีแสง
คณะนักวิจัยซึ่งเผยแพร่การค้นพบนี้ในวารสาร Astrophysical Journal Letters กล่าวว่า 2 กาแล็กซีใหม่ซึ่งมีชื่อว่า “อันโคเวอร์ แซด-12” (UNCOVER z-12) และ “อันโคเวอร์ แซด-13” (UNCOVER z-13) มีขนาดใหญ่กว่ากาแล็กซีอื่น ๆ ที่กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์เคยจับภาพได้
ก่อนหน้านี้ กล้องโทรทรรศน์ดังกล่าวได้ค้นพบกาแล็กซีจำนวน 3 กาแล็กซีด้วยกันที่ระยะทางเดียวกัน แต่ 2 กาแล็กซีใหม่ล่าสุด ถือว่ามีความโดดเด่นกว่ามากกว่าเนื่องจากขนาดที่มหึมา โดยหนึ่งในนั้นมีขนาดใหญ่กว่าอีกกาแล็กซีหนึ่งอย่างน้อย 6 เท่า หรือที่ประมาณ 2,000 ปีแสง ซึ่งถือว่าใหญ่สําหรับกาแล็กซีในจักรวาลยุคแรก
นักวิจัยยังกล่าวอีกว่า ขณะที่ กาแล็กซีอื่น ๆ ปรากฏบนภาพเป็นเพียงแค่จุดเล็ก ๆ แต่ กาแล็กซี UNCOVER z-13 ซึ่งอยู่ห่างจากโลกมากที่สุดเป็นอันดับที่ 2 กลับปรากฏรูปร่างคล้ายถั่วลิสง ขณะที่กาแล็กซี UNCOVER z-12 ซึ่งอยู่ห่างจากโลกมากที่สุดเป็นอันดับที่ 4 ก็ดูคล้ายกับก้อนขนปุกปุย สะท้อนให้เห็นขนาดที่โดดเด่นได้อย่างคร่าว ๆ
จุดที่น่าสนใจคือ แสงจากกาแล็กซีใช้เวลาเดินทาง 13,400 ล้านปีแสง ในการเดินทางไปยังกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์ ซึ่งนั่นถือว่าน้อยกว่ามากเมื่อเทียบกับระยะทางโดยประมาณของกาแล็กซีทั้งสองมายังโลก ซึ่งนี่เป็นผลมาจากการขยายตัวของจักรวาล ผลักให้กาแล็กซีเหล่านี้ออกห่างจากโลกของเราถึง 33,000 ล้านปีแสง จากการที่กาแล็กซีทั้งสองอยู่ห่างไกลจากโลกมากจึงให้มนุษยชาติสามารถเรียนรู้ข้อมูลของจักรวาลยุคแรกเริ่มขณะที่มีอายุเพียง 330 ล้านปีได้
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ภาควิชาดาราศาสตร์และดาราฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยเพนน์สเตท กล่าวว่า แสงจากกาแล็กซีเหล่านี้มีอายุเก่าแก่มากกว่าโลกประมาณสามเท่า โดยกาแล็กซียุคแรกเริ่มเหล่านี้เป็นดั่งประภาคารที่ส่องแสงทะลุชั้นก๊าซไฮโดรเจนบาง ๆ ซึ่งเกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงถือกำเนิดจักรวาล ซึ่งการศึกษาแสงจากกาแล็กซีเหล่านี้เป็นเพียงวิธีเดียวที่เราจะสามารถเริ่มเข้าใจศาสตร์แขนงใหม่นี้และเข้าถึงความจริงของจักรวาลยุคแรกเริ่มได้มากขึ้น
ที่มาของข้อมูล
ข่าวแนะนำ
-
จีนเร่งพัฒนาจรวดขนส่งไปดวงจันทร์
- 20/6/67