อินโดฯ สร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ลอยน้ำใหญ่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
อินโดนีเซีย เปิดตัวโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ลอยน้ำใหญ่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ งบการสร้างกว่า 5,210 ล้านบาท สร้างไฟฟ้าได้ 192 เมกะวัตต์ต่อปี เพียงพอต่อบ้านเรือน 50,000 หลัง
เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายนที่ผ่านมา อินโดนีเซีย นำโดยประธานาธิบดีโจโก วิโดโด (Joko Widodo) เปิดตัวโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ลอยน้ำที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และถือเป็นแผงโซลาร์เซลล์ลอยน้ำที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก สามารถผลิตพลังงานทดแทนได้มากเพียงพอที่จะจ่ายให้กับบ้านเรือนจำนวน 50,000 หลัง
ที่มารูปภาพ Reuters
โรงไฟฟ้านี้ตั้งอยู่ในอ่างเก็บน้ำซีราตา (Cirata Reservoir) ในจังหวัดชวาตะวันตก แผงโซลาร์เซลล์มีขนาดที่ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 2.5 ตารางกิโลเมตร มีแผงโซลาร์เซลล์มากกว่า 340,000 แผงปกคลุมผิวอ่างเก็บน้ำ สามารถผลิตไฟฟ้าได้สูงสุด 192 เมกะวัตต์
โรงไฟฟ้านี้สร้างโดยบริษัทพาวเวอร์ไชน่า หัวตง เอ็นจิเนียริ่ง คอร์ปอเรชั่น (PowerChina Huadong Engineering Corporation Limited) จากประเทศจีน ร่วมกับบริษัทของรัฐบาลอินโดนีเซียที่มีหน้าที่จัดหาไฟฟ้าให้ประชาชนอย่างเพอรูซาฮาน ลิสทริก เนการา (Perusahaan Listrik Negara หรือ พีเอ็นแอล (PNL)) และบริษัทพลังงานจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์อย่าง มาสดาร์ (Masdar) ด้วยเงินลงทุน 145 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 5,210 ล้านบาท โครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามของรัฐบาลในการควบคุมศักยภาพด้านพลังงานหมุนเวียนของอินโดนีเซียและทำให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็น 0 ภายในปี 2060
โรงไฟฟ้าซีราตานี้ถือเป็นโครงการสำคัญของแผนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งคาดว่าจะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ประมาณ 214,000 ตันต่อปี แต่ทั้งนี้แผงโซลาร์เซลล์ปกคลุมผิวอ่างเก็บน้ำเพียง 4% เท่านั้น ซึ่งรัฐบาลอินโดนีเซียบอกว่าแผงโซลาร์เซลล์สามารถปกคลุมผิวน้ำได้มากถึง 20% ดังนั้น PND และมาสดาร์จึงกำลังวางแผนเพื่อขยายโรงไฟฟ้าและเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าเป็น 500 เมกะวัตต์ และอาจขยายได้มากถึง 1000 เมกะวัตต์เลยทีเดียว
ทั้งนี้ตามคำแถลงของเจ้าหน้าที่กระทรวงพลังงานในเดือนกรกฎาคม พบว่าอินโดนีเซียมีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวมมากกว่า 80 กิกะวัตต์ ไฟฟ้าประมาณ 60% ผลิตจากถ่านหิน แต่มีเพียง 12% เท่านั้นที่มาจากแหล่งพลังงานหมุนเวียน ซึ่งอินโดนีเซียตั้งเป้าว่าสัดส่วนนี้จะเพิ่มขึ้นเป็น 23% ภายในปี 2025
ที่มาข้อมูล Reuters, Interestingengineering, Aseanbriefing
ที่มารูปภาพ Reuters
ข่าวแนะนำ
-
จีนเร่งพัฒนาจรวดขนส่งไปดวงจันทร์
- 20/6/67