6 ภารกิจยานอวกาศ Starship ก่อนส่งมนุษย์ไปดาวอังคาร
SpaceX ตั้งเป้าส่งมนุษย์ 1 ล้านคนไปดาวอังคารภายใน 50 - 100 ปี แต่ก่อนจะถึงจุดนั้น ยานอวกาศ Starship ยังมีภารกิจอีกมากที่ต้องพิสูจน์ให้เห็นศักยภาพ
สเปซเอ็กซ์ (SpaceX) บริษัทด้านอวกาศของเจ้าพ่อเทคโนโลยี อย่าง อีลอน มัสก์ (Elon Musk) มีเป้าหมายอันยิ่งใหญ่คือการส่งมนุษย์ 1 ล้านคนไปยังดาวอังคาร ภายใน 50 - 100 ปี แต่นั่นยังดูเป็นเป้าหมายที่ยังห่างไกลเหลือเกิน เมื่อการทดสอบการส่งจรวดสตาร์ชิป Starship ครั้งแรกเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมานั้นจบลงด้วยการระเบิด ทั้งนี้สเปซเอ็กซ์ยังมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และคาดว่าจะมีกำหนดทดสอบครั้งที่ 2 ในเดือนพฤศจิกายนนี้
ทั้งนี้หลังจากที่สตาร์ชิปสามารถไปถึงวงโคจรได้แล้ว มันยังมีภารกิจอีกหลายอย่างที่ต้องทำ ก่อนที่จะส่งมนุษย์คนแรกไปยังดาวอังคาร มีอะไรบ้าง ไปดูกัน
1. dearMoon : ภารกิจบินรอบดวงจันทร์
ภารกิจเดียร์มูน (dearMoon) คือภารกิจพามนุษย์ไปบินรอบดวงจันทร์ก่อนที่จะกลับมายังโลก ได้รับการว่าจ้างโดยมหาเศรษฐีชาวญี่ปุ่นยูซากุ มาเอซาวะ (Yusaku Maezawa) ซึ่งประกาศเมื่อเดือนมีนาคม 2021 ว่าเขากำลังเชิญผู้คนให้สมัครเพื่อชิงตั๋ว 8 ใบร่วมกับเขาให้ขึ้นยานสตาร์ชิปไปยังดวงจันทร์
หลังจากที่กลับมายังโลก คนทั้ง 8 จะต้องสร้างงานศิลปะ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้คนทั้งโลก โดยภารกิจนี้มีกำหนดเปิดตัวในปีหน้า แต่ก็อาจจะไม่เกิดขึ้นจริงก็ได้ เงื่อนไขหลักจะขึ้นอยู่กับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องของยานสตาร์ชิป
2. Artemis III : ภารกิจพามนุษย์ไปเหยียบดวงจันทร์ครั้งแรกหลังจากปี 1972
อาร์ทิมิส III (Artemis III) เป็นภารกิจขององค์การนาซา (NASA) ที่ร่วมมือกับสเปซเอ็กซ์ เพื่อส่งมนุษย์ไปเหยียบดวงจันทร์อีกครั้ง หลังจากครั้งล่าสุดคือภารกิจอะพอลโล 17 (Apollo 17) ในปี 1972
อาร์ทิมิส III จะส่งนักบินไปกับระบบปล่อยตัวสู่อวกาศ (Space Launch System หรือ SLS) ของนาซา จากนั้นจะส่งนักบินไปยังยานลงจอดที่ถูกพัฒนาขึ้นใหม่ของสตาร์ชิป
แต่ทั้งนี้ในภายหลัง เจ้าหน้าที่ของนาซา ก็ได้ออกมาแสดงความกังวลว่าการพัฒนายานอวกาศสตาร์ชิปจะล่าช้ากว่ากำหนดการณ์ ทำให้อาจต้องเลื่อนวันเปิดตัวอาร์ทิมิส III ออกไปก่อน หรือไม่ก็อาจมีการเปลี่ยนแผนคือไม่มีการลงจอดบนดวงจันทร์แล้ว
3. ทริปเที่ยวอวกาศครั้งที่ 2
ย้อนไปเมื่อปี 2001 เดนนิส ติโต (Dennis Tito) ผู้ประกอบการชาวอเมริกัน กลายเป็นนักท่องเที่ยวอวกาศคนแรก ด้วยการจ่ายเงินขึ้นจรวดโซยุซ (Soyuz) ของรัสเซียไปยังสถานีอวกาศนานาชาติ (International Space Station หรือ ISS) หลังจากนั้นเขาเคยให้สัมภาษณ์ว่าอยากเดินทางท่องอวกาศอีกครั้ง โดยไปยังดวงจันทร์แต่ไม่มียานอวกาศลำไหนที่จะทำให้เขามั่นใจได้ จนกระทั่งเมื่อเขาและภรรยาได้ไปเยี่ยมชมสำนักงานใหญ่ของสเปซเอ็กซ์และได้เห็นยานอวกาศสตาร์ชิป
ในเดือนตุลาคมปีที่แล้ว สเปซเอ็กซ์ออกมาประกาศว่าติโต และ อากิโกะ (Akiko) ภรรยาของเขา จะเป็นลูกเรือ 2 คนแรกของสตาร์ชิปในการบินเชิงพาณิชย์ครั้งที่ 2 โดยจะบินรอบดวงจันทร์
4. ภารกิจ Starlink 2.0 : การขนส่งดาวเทียม Starlink 2.0 ขนาดใหญ่ไปยังวงโคจร
สเปซเอ็กซ์กำลังพัฒนาดาวเทียมสตาร์ลิงค์ 2.0 (Starlink 2.0) ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่ารุ่นก่อนหน้า และจะเริ่มส่งไปยังวงโคจรได้เมื่อยานอวกาศสตาร์ชิปใช้งานได้ เพราะมีความสามารถในการบรรทุกดาวเทียมขนาดใหญ่ได้
5. Rocket Cargo : ระบบขนส่งทางอวกาศของกองทัพสหรัฐฯ
ปี 2021 กองทัพสหรัฐฯ ได้ประกาศโครงการจรวดขนส่ง (Rocket Cargo) ซึ่งจะเป็นการนำจรวดที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ที่เอกชนเป็นผู้ผลิต นำไปขนส่งสินค้าทางทหาร เป้าหมายคือเพื่อช่วยเหลือทั่วโลก ซึ่งจะสามารถทำให้การขนส่งรวดเร็วเป็นประวัติการณ์
แม้ว่ากองทัพสหรัฐจะไม่ได้ระบุว่าจะใช้ยานอวกาศสตาร์ชิป แต่ประเภทของยานที่ระบุไว้ก็ฟังดูคล้ายกับยานอวกาศสตาร์ชิปของสเปซเอ็กซ์ และขณะนี้ยังไม่มีเอกชนเจ้าไหนที่กำลังสร้างจรวดที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้เหมือนสตาร์ชิป
6. การทดสอบการบินไร้คนขับไปยังดาวอังคาร
เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม ที่ผ่านมา อีลอน มัสก์ ได้ปราศรัยออนไลน์ที่งาน สภาอวกาศนานาชาติ (International Astronautical Congress หรือ IAC) ในเมืองบากู ประเทศอาเซอร์ไบจาน และเขาได้พูดถึงอนาคตของสตาร์ชิปว่า สเปซเอ็กซ์สามารถส่งภารกิจสตาร์ชิปแบบไร้คนขับเพื่อลงจอดบนพื้นผิวดาวอังคารได้ “ภายใน 4 ปีข้างหน้า” แต่ก็คงต้องจับตาต่อไปถึงความเป็นไปได้ ว่าจะอยู่ภายใต้เวลาที่กำหนดหรือไม่ เพราะก่อนหน้านี้ อย่างภารกิจสตาร์ชิป ที่ตั้งเป้าขึ้นไปยังวงโคจรได้ภายในปี 2021 ก็ล่วงเลยเวลาที่เจ้าหน้าที่คาดการณ์มาแล้วกว่า 2 ปี
ทั้งนี้ก็ต้องติดตามกันต่อไป แน่นอนว่าถ้าประสบความสำเร็จ น่าจะเป็นอีกหนึ่งความก้าวหน้าครั้งใหญ่ของมนุษยชาติอย่างแน่นอน
ที่มาข้อมูล Interestingengineering
ที่มารูปภาพ Spacex, Twitter, Wikipedia, Polarisprogram
ข่าวแนะนำ
-
จีนเร่งพัฒนาจรวดขนส่งไปดวงจันทร์
- 20/6/67