สหรัฐฯ ดัดแปลงระบบต่อต้านภัยทางอากาศ ให้ใช้งานร่วมกับระบบของรัสเซียได้
สำนักข่าวเอพี (AP) และสปุตนิก (Sputnik) รายงานว่าสหรัฐฯ กำลังพัฒนาระบบต่อต้านอากาศยานที่มีอยู่เดิมทั้งของฝั่งสหรัฐฯ และระบบสมัยโซเวียตให้สามารถใช้งานด้วยกันได้ ก่อนส่งไปให้ยูเครนใช้งาน
สำนักข่าวเอพี (AP) และสปุตนิก (Sputink) ของรัสเซียรายงานว่า กระทรวงกลาโหมของสหรัฐ ตั้งโครงการที่ชื่อว่าแฟรนเกนแซม (FrankenSAM) เพื่อนำระบบจรวดต่อต้านอากาศยาน (SAM: Surface-to-Air Missile) ทั้งของสหรัฐอเมริกา และระบบในยุคโซเวียตที่ยูเครนมี สามารถใช้งานร่วมกันได้แบบข้ามค่าย
ระบบใหม่เพื่อการสนับสนุนอาวุธต่อต้านอากาศยานของยูเครน
โครงการแฟรนเกนแซมของสหรัฐฯ คือการพัฒนาระบบแซมที่สามารถใช้งานร่วมกันได้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นส่วนประกอบและอาวุธจากทั้งฝั่งตะวันตก สหรัฐฯ ระบบต่อต้านอากาศยานแบบโซเวียต เช่น ฐานยิงจรวดแบบบุค (Buk) และส่วนประกอบอื่น ๆ จากทั่วโลกให้สามารถใช้งานด้วยกันได้
ยกตัวอย่างเช่น ฐานยิงจรวดจากหลากหลายชาติที่ยูเครนมีในตอนนี้ สหรัฐฯ จะเข้าไปดัดแปลงให้สามารถใช้จรวดเอไอเอ็ม ไนน์เอ็ม ไซด์ไวด์เดอร์ (AIM-9M Sidewinder) ที่สหรัฐฯ จะส่งให้ยูเครนได้ รวมถึงฐานยิงจรวดมาตรฐานโซเวียตที่ยูเครนมีในปัจจุบัน จะสามารถยิงจรวดอาร์ไอเอ็ม เซเว่น (RIM-7) ของสหรัฐฯ ได้ด้วย
โดยการปรับปรุงจะเน้นการเลือกระบบที่มีแก่นกลางในการยิงหรือการติดตั้งที่คล้ายกัน เช่น รถฐานยิงจรวดแบบบุค ที่ตามมาตรฐานแล้วจะใช้จรวด 9M38 ซึ่งเป็นจรวดกึ่งนำวิถีด้วยเลเซอร์ (semi-active laser guidance) ของโซเวียต จะนำมาใช้กับจรวด RIM-7 ที่มีระบบกึ่งนำวิถีด้วยเลเซอร์เหมือนกัน แต่ต้องแลกกับระยะการยิงที่ลดลงจากมาตรฐานเดิมที่มีระยะอยู่ที่ 30 กิโลเมตร เหลือ 20 กิโลเมตร ที่ระดับความสูง 15 กิโลเมตร แต่ข้อดี คือ ลดน้ำหนักรวมของระบบ ซึ่งทำให้เพิ่มความคล่องตัวเป็นการชดเชยแทน
รวมถึงจรวดแบบ AIM-9M Sidewinder ที่เป็นหัวรบนำวิถี (Homing head) ซึ่งต้องมีเรดาร์ในการระบุเป้าหมาย จะถูกดัดแปลงให้รับข้อมูลเรดาร์จากระบบของโซเวียตได้โดยตรง และยิงจากฐานยิงจรวดแบบใดก็ได้ที่รองรับ โดยมีระยะการยิงอยู่ที่ 5 กิโลเมตร
สหรัฐฯ ยังคงหนุนหลังยูเครนด้านอาวุธต่อไป
ทั้งนี้ ทางเพนตากอนต้องการเร่งรัดการพัฒนาโครงการแฟรนเคนแซมเพื่อส่งมอบระบบนี้ไปยังยูเครนให้ได้ในช่วงเดือนพฤศจิกายนนี้ เพื่อเตรียมพร้อมในการปฏิบัติการทางการทหารในช่วงฤดูหนาวของปีนี้ต่อไป และกำลังทดสอบจรวดต่อต้านอากาศยานแบบ เอ็มไอเอ็ม 104 แพทรีออต (MIM-104 Patriot) ที่นำวิถีด้วยระบบเรดาร์ของยูเครนเพื่อเสริมกำลังให้ฝั่งยูเครนอยู่ในตอนนี้ด้วยเช่นกัน
ทั้งนี้ การสนับสนุนอาวุธต่าง ๆ ของสหรัฐอเมริกายังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ซึ่งโครงการแฟรนเคนแซมที่เริ่มต้นตั้งแต่เดือนกันยายนก็เป็นส่วนหนึ่งของการดัดแปลงและพัฒนาเพื่อเสริมประสิทธิภาพอาวุธต่าง ๆ ที่กองทัพสหรัฐฯ กำลังปลดประจำการที่เสมือนการชุบชีวิตอีกครั้งก่อนส่งไปยังกองทัพยูเครนต่อไป
ที่มาข้อมูล AP, Sputnik, Defense Express
ที่มารูปภาพ Wikipedia
ข่าวแนะนำ
-
จีนเร่งพัฒนาจรวดขนส่งไปดวงจันทร์
- 20/6/67