คุณหมอแคปซูล ส่องกล้องในกระเพาะอาหารแบบไม่ต้องกลัวเจ็บ
การส่องกล้องในกระเพาะอาหารอาจจะไม่ใช่เรื่องน่ากลัวอีกต่อไป ด้วยการใช้นาวิแคม (NAVICAM) กล้องขนาดเล็กที่มาในรูปแบบแคปซูลยา ใช้งานง่ายเพียงกลืนและดื่มน้ำตาม
ใครกลัวการส่องกล้องในกระเพาะอาหารจะต้องถูกใจสิ่งนี้ นาวิแคม (NAVICAM) กล้องส่องกระเพาะอาหารแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งที่มาในลักษณะแคปซูลยา ให้ผู้ที่ได้รับการตรวจกลืนเข้าไปและดื่มน้ำตาม แล้วควบคุมทิศทางของกล้องจากภายนอกร่างกายด้วยแม่เหล็กระยะไกล หลังจากนั้นปล่อยให้ร่างกายของผู้ที่ได้รับการตรวจขับถ่ายแคปซูลออกมาเองตามธรรมชาติ
คุณหมอแคปซูล
แคปซูลที่ว่ามีความกว้าง 11.8 มิลลิเมตร และยาว 27 มิลลิเมตร ให้มุมมองการมองเห็น 160 องศา พร้อมความละเอียดภาพ 640 x 480 แบบเรียลไทม์ และมีอัตราเฟรม 0.5 - 6 ภาพต่อวินาที ซึ่งมีแบตเตอรี่ที่ใช้งานได้สูงสุดไม่เกิน 16 ชั่วโมง นอกจากนี้ มันยังมีหลอดไฟขนาดเล็กในตัว เพื่อให้สามารถมองเห็นภายในของกระเพาะอาหารได้ชัดเจนมากขึ้น
สำหรับการส่องกล้องแบบเดิมที่ใช้ในปัจจุบัน สร้างความอึดอัดให้กับคนไข้ เนื่องจากต้องส่องกล้องผ่านช่องคอเข้าไป ส่งผลให้ต้องใช้ท่อช่วยหายหรือยากดประสาทเข้ามาช่วย
โดยแคปซูลนี้สามารถใช้งานได้ภายในคลินิกและโรงพยาบาล ภายใต้การดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งคนที่สามารถใช้แคปซูลนี้ได้จะต้องมีอายุตั้งแต่ 22 ปีขึ้นไป และมีดัชนีมวลกายขั้นต่ำ 38
ประสิทธิภาพเทียบเท่ากับการส่องกล้องแบบดั้งเดิม
แคปซูลดังกล่าวเป็นผลงานของบริษัท แอนเอ็กซ์ โรโบติกา (AnX Robotica) ซึ่งผ่านการทดลองทางคลินิกเทียบกับการส่องกล้องแบบดั้งเดิม และเผยแพร่ผลการทดลองลงบนวารสารคลินิกระบบทางเดินอาหารและตับ (Clinical Gastroenterology and Hepatology) ในปี 2016 มาแล้ว โดยชี้ให้เห็นว่ากล้องแบบแคปซูลไม่พลาดรอยโรคใด ๆ ที่มองเห็นได้ด้วยกล้องส่องแบบดั้งเดิม
ปัจจุบันกล้องแบบแคปซูลนี้ถูกนำไปใช้กับคนไข้กว่าครึ่งล้านคนทั่วโลก โดยคนไข้ 1% มีอาการข้างเคียงจากการใช้แคปซูลดังกล่าว โดยมีอาการท้องอืด, คลื่นไส้, อาเจียน และปวดศีรษะ ซึ่งหายได้ภายใน 24 ชั่วโมง โดยผู้ใช้งานจะต้องงดอาหารข้ามคืนก่อนกลืนแคปซูล
อย่างไรก็ตาม หน้าเว็บไซต์ทางการของบริษัทไม่ได้เปิดเผยถึงผลการศึกษาเกี่ยวกับวัสดุที่ใช้ทำแคปซูลว่าคือวัสดุอะไร, สามารถทนการกัดกร่อนของกรดในกระเพาะอาหารได้อย่างไร และทิ้งสารตกค้างในร่างกายของคนไข้หรือไม่
ข้อมูลและภาพจาก Anx Robotica
ข่าวแนะนำ
-
จีนเร่งพัฒนาจรวดขนส่งไปดวงจันทร์
- 20/6/67