TNN online นาซาเลื่อนภารกิจ Starliner ออกไปอย่างเร็วที่สุดในเดือนพฤษภาคม

TNN ONLINE

Tech

นาซาเลื่อนภารกิจ Starliner ออกไปอย่างเร็วที่สุดในเดือนพฤษภาคม

นาซาเลื่อนภารกิจ Starliner ออกไปอย่างเร็วที่สุดในเดือนพฤษภาคม

นาซาเลื่อนภารกิจ CFT หรือ Crew Flight Test ยานอวกาศ Starliner ออกไปอย่างเร็วที่สุดในเดือนพฤษภาคม

ภารกิจยานสตาร์ไลเนอร์ (Starliner) อาจต้องเลื่อนภารกิจ CFT หรือ  Crew Flight Test ออกไปอย่างเร็วที่สุดในเดือนพฤษภาคมนี้ถึงจะปล่อยยานขึ้นสู่อวกาศพร้อมนักบินอวกาศ 2 คน คือ สุนี วิลเลียมส์ (Suni Williams) และ บุทช์ วิลมอร์ (Butch Wilmore)  

สำหรับกำหนดการเดินทางขึ้นสู่อวกาศยานยานสตาร์ไลเนอร์ (Starliner) จะใช้บริการของจรวดขนส่งอวกาศ Atlas V ฐานปล่อยจรวด SLC-41 ศูนย์อวกาศแหลมคะแนเวอรัล โดยจะเข้าทำการเชื่อมต่อกับโมดูล Harmony ของสถานีอวกาศนานาชาติ ISS เป็นระยะเวลาประมาณ 1-2 สัปดาห์ ก่อนเดินทางกลับโลก

หากภารกิจ CFT หรือ Crew Flight Test  ประสบความสำเร็จทางนาซาจะให้การรับรองยานสตาร์ไลเนอร์ (Starliner) ให้ทำภารกิจขนส่งนักบินอวกาศในภารกิจต่อ ๆ ไป เช่นเดียวกับยานครูว์ดรากอน (Crew Dragon) ที่ให้บริการขนส่งนักบินอวกาศขึ้นสู่สถานีอวกาศนานาชาติ ISS อยู่ในปัจจุบัน

ก่อนหน้านี้ในเดือนพฤษภาคม 2022 ยานสตาร์ไลเนอร์ (Starliner) ได้ทำภารกิจ Orbital Flight Test 2 สำเร็จมาแล้ว โดยยานได้เดินทางขึ้นสู่อวกาศเพื่อเชื่อมต่อกับสถานีอวกาศนานาชาติ ISS เป็นเวลา 4 วัน ก่อนเดินทางกลับโลก อย่างไรก็ตามภารกิจดังกล่าวเป็นภารกิจแบบไร้นักบินอวกาศภายในยานอวกาศเพื่อทดสอบระบบต่าง ๆ ของยานอวกาศก่อนทำภารกิจที่มีนักบินอวกาศอยู่ภายในยาน

สำหรับยานสตาร์ไลเนอร์ (Starliner) พัฒนาโดยบริษัท โบอิง (Boeing) ประเทศสหรัฐอเมริกา ยานอวกาศลำนี้ถูกออกแบบให้บรรทุกนักบินอวกาศได้ 4-7 คน ขึ้นอยู่กับรูปแบบภารกิจ โดยทั่วไปบรรทุกนักบินอวกาศ 4 คน ในภารกิจที่ทำร่วมกับนาซา ยานถูกออกแบบให้สามารถนำกลับมาใช้งานใหม่ซ้ำได้เช่นเดียวกับยานครูว์ดรากอน (Crew Dragon) แต่ยานสตาร์ไลเนอร์ (Starliner) มีขนาดที่ใหญ่กว่าเล็กน้อย 

ที่มาของข้อมูล Space.com 

ที่มาของรูปภาพ Boeing

ข่าวฮิตติดแท็ก

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง