TNN online จรวด H3 ของญี่ปุ่นล้มเหลวในการส่งขึ้นสู่อวกาศพร้อมดาวเทียม ALOS-3

TNN ONLINE

Tech

จรวด H3 ของญี่ปุ่นล้มเหลวในการส่งขึ้นสู่อวกาศพร้อมดาวเทียม ALOS-3

 จรวด H3 ของญี่ปุ่นล้มเหลวในการส่งขึ้นสู่อวกาศพร้อมดาวเทียม ALOS-3

จรวด H3 ของญี่ปุ่นล้มเหลวในการส่งขึ้นสู่อวกาศพร้อมดาวเทียม ALOS-3 จรวดได้รับคำสั่งให้ทำลายตัวเอง

เช้าวันที่เวลาประมาณ 10.37 น. ตามเวลาท้องถิ่นในประเทศญี่ปุ่น องค์การอวกาศญี่ปุ่น (JAXA) ประสบความล้มเหลวในการส่งจรวด H3 รุ่นใหม่ขึ้นสู่อวกาศครั้งแรกพร้อมดาวเทียมจากฐานปล่อยจรวด LC-Y ศูนย์อวกาศทาเนกาชิมะ (Tanegashima Space Center ) เกาะทาเนกาชิมะ ตอนทิศตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศญี่ปุ่น การปล่อยจรวด H3 ในครั้งนี้ถูกเลื่อนจากกำหนดการเดิมในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เนื่องจากปัญหาเกี่ยวกับระบบไฟฟ้าที่ส่งไปยังเครื่องยนต์จรวด LE-9 ขัดข้อง

จรวด H3 เป็นจรวดรุ่นใหม่ของประเทศญี่ปุ่นถูกพัฒนาขึ้นมาจากจรวด H-II หรือ H2 ที่ถูกใช้งานในภารกิจหลายครั้งที่ผ่านมา สำหรับจรวด H3 ได้รับการออกแบบให้ใช้งบประมาณในการก่อพัฒนาที่น้อยลงในขณะเดียวกันก็มีประสิทธิภาพสูงกว่า จรวดพัฒนาโดยความร่วมมือระหว่างองค์การอวกาศญี่ปุ่น (JAXA) และบริษัท มิตซูบิชิ เฮฟวี่ อินดัสตรี่ส์ (Mitsubishi Heavy Industries)

ภายหลังจากจรวดจุดระเบิดเครื่องยนต์เดินทางขึ้นจากฐานปล่อยประมาณ 5 นาที 27 วินาที จรวดขั้นที่ 2 พยายามแยกตัวออกจากจรวดขั้นที่ 1 อย่างไรก็ตามได้เกิดขึ้นผิดพลาดขึ้นและสัญญาณหลายอย่างระบุว่าจรวดไม่สามารถทำภารกิจต่อไปได้ความเร็วจรวดเริ่มลดลงเจ้าหน้าที่ควบคุมจึงออกคำสั่งเปิดระบบ FTS ( Flight Termination System ) เพื่อให้จรวด H3 ทำลายตัวเอง

จรวด H3 ถือเป็นจรวดรุ่นใหม่ล่าสุดขององค์การอวกาศญี่ปุ่น (JAXA) ถูกออกแบบให้มีความสูงกว่า 63 เมตร แบ่งการทำงานของจรวดออกเป็น 2 ขั้นตอน จรวดขั้นที่ 1 ติดตั้งเครื่องยนต์จรวด LE-9 จำนวน 2 หรือ 3 เครื่องยนต์ขึ้นอยู่กับภารกิจ จรวดขั้นที่ 2 ติดตั้งเครื่องยนต์ LE-5 ใช้เชื้อเพลิงไฮโดรเจนเหลว-ออกซิเจนเหลว จรวดรุ่นนี้ถูกออกแบบให้สามารถส่งดาวเทียมหรือยานอวกาศน้ำหนัก 4,000-8,800 กิโลกรัม ขึ้นสู่อวกาศ น้ำหนักบรรทุกขึ้นอยู่กับรูปแบบภารกิจ

สำหรับดาวเทียม ALOS-3 หรือ Advanced Land Observing Satellite-3 มีชื่อเรียกว่า DAICHI-3 ถูกออกแบบและพัฒนาโดยองค์การอวกาศญี่ปุ่น (JAXA) เพื่อทำภารกิจสำรวจ ตามกำหนดการเดิมดาวเทียมจะถูกส่งไปยังวงโคจรรอบดวงอาทิตย์หรือ Sun-Synchronous ที่ระดับความสูง 669 กิโลเมตรเหนือพื้นโลก ดาวเทียมมีขีดความสามารถถ่ายภาพความละเอียดสูงในแต่ละแถบภาพกว้าง 70 กิโลเมตร ระดับความละเอียดคมชัด 2.6 ฟุต หรือประมาณ 0.8 เมตร

การพัฒนาและปรับปรุงประสิทธิภาพของจรวด H3 ยังคงดำเนินต่อไปเพื่อรองรับปริมาณการขนส่งอวกาศที่เพิ่มขึ้นในอนาคต โดยคาดว่าจรวด H3 จะกลายเป็นจรวดขนส่งอวกาศหลักในภารกิจอวกาศขององค์การอวกาศญี่ปุ่น (JAXA) ในอนาคตท่ามกลางการแข่งขันด้านเทคโนโลยีอวกาศในภูมิภาคและระดับนานาชาติ




ที่มาของข้อมูลและรูปภาพ Space.com, Wikipedia.org 

ข่าวฮิตติดแท็ก

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง