TNN online นักวิทย์ควบคุมสายฟ้าด้วย “เลเซอร์” สำเร็จครั้งแรก เตรียมใช้ป้องกันฟ้าผ่า

TNN ONLINE

Tech

นักวิทย์ควบคุมสายฟ้าด้วย “เลเซอร์” สำเร็จครั้งแรก เตรียมใช้ป้องกันฟ้าผ่า

นักวิทย์ควบคุมสายฟ้าด้วย “เลเซอร์” สำเร็จครั้งแรก เตรียมใช้ป้องกันฟ้าผ่า

ฟ้าผ่า เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่อันตรายที่สุดอย่างหนึ่ง ซึ่งการใช้สายล่อฟ้าก็อาจจะครอบคลุมพื้นที่ไม่กว้างนัก นักวิจัยเลยทดลองวิธีใหม่ ใช้การยิงเลเซอร์ขึ้นฟ้า พบว่าช่วยเบี่ยงวิถีสายฟ้าฟาด ได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

นักวิทยาศาสตร์ในประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ประสบความสำเร็จในการใช้วิธีทดลองยิงแสงเลเซอร์เป็นสายล่อฟ้า เพื่อเบี่ยงเบนวิถีของสายฟ้าฟาด เตรียมต่อยอดไปเป็นระบบป้องกันฟ้าผ่า ที่สามารถป้องกันครอบคลุมพื้นที่กว้างมากขึ้น

นักวิทย์ควบคุมสายฟ้าด้วย “เลเซอร์” สำเร็จครั้งแรก เตรียมใช้ป้องกันฟ้าผ่า ภาพจาก University of Geneva

สร้างระบบป้องกันฟ้าผ่า ด้วย "เลเซอร์"

โดยนักวิทยาศาสตร์ได้ติดตั้งระบบเลเซอร์ ไลต์นิง ร็อด (Laser Lightning Rod) หรือระบบเลเซอร์กำลังสูง ใกล้กับเสาส่งสัญญาณความสูง 124 เมตร บนยอดเขาซานติส ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เนื่องจากเป็นจุดที่โดนผลกระทบจากฟ้าผ่ามากที่สุด


หลักการทำงานของระบบนี้ จะใช้การยิงเลเซอร์พัลส์ ขึ้นไปบนท้องฟ้า เพื่อสร้างเส้นทางของพลาสมา ทำหน้าที่เป็นตัวนำไฟฟ้า เหมือนเป็นสายล่อฟ้าแบบหนึ่ง โดยในการทดลองเมื่อปี 2021 ได้มีการยิงเลเซอร์พัลส์ ด้วยความถี่ 1,000 ครั้งต่อวินาที ขึ้นไปบนท้องฟ้าที่กำลังเกิดเมฆฝนฟ้าคะนอง ต่อเนื่องเป็นเวลากว่า 6 ชั่วโมงด้วยกัน พบว่ามันสามารถเบี่ยงเบนฟ้าผ่าได้สำเร็จถึง 4 ครั้ง

นักวิทย์ควบคุมสายฟ้าด้วย “เลเซอร์” สำเร็จครั้งแรก เตรียมใช้ป้องกันฟ้าผ่า ภาพจาก University of Geneva

 

ข้อจำกัดของสายล่อฟ้าทั่วไปคือพื้นที่ปกป้องแคบกว่า

ระบบนี้พัฒนามาเพื่อแก้ข้อจำกัดของการใช้สายล่อฟ้าทั่วไปที่มักจะติดตั้งบนยอดตึกสูง เพื่อป้องกันไม่ให้อาคารถูกฟ้าผ่าโดยตรง โดยนำไฟฟ้าถ่ายโอนผ่านสายลงไปยังพื้นดิน ซึ่งข้อจำกัดของมันคือ มันจะป้องกันพื้นที่ได้ในวงแคบเท่านั้น แต่ด้วยการพัฒนาเพิ่มเติม นักวิจัยเชื่อว่า ระบบสายล่อฟ้าแบบใหม่ ที่ใช้เลเซอร์นี้ จะป้องกันพื้นที่ฟ้าผ่าได้เป็นวงกว้างกว่า และยิงขึ้นไปบนฟ้าได้สูงกว่า ทำให้ใช้ปกป้องอาคารที่สำคัญ เช่น สนามบิน ฐานยิงจรวด หรืออาคารสูง หรือครอบคลุมพื้นที่กว้างได้ดียิ่งขึ้น


ผลงานนี้ เป็นการวิจัยของนักวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเจนีวา (University of Geneva) อย่างไรก็ตามนักวิจัยคาดว่า ยังต้องใช้เวลาพัฒนาระบบอีก 10-15 ปีก่อนที่จะใช้งานทั่วไปได้ และการยิงเลเซอร์ขึ้นฟ้า อาจจะไปรบกวนการจราจรทางอากาศบริเวณนั้นได้ ซึ่งเป็นจุดที่ยังต้องแก้ไขกันต่อไป

นักวิทย์ควบคุมสายฟ้าด้วย “เลเซอร์” สำเร็จครั้งแรก เตรียมใช้ป้องกันฟ้าผ่า ภาพจาก University of Geneva

 

สำหรับปรากฏการณ์ฟ้าผ่า คือการปล่อยกระแสไฟฟ้าปริมาณมหาศาล ซึ่งอาจมีความร้อนกว่าผิวดวงอาทิตย์ประมาณห้าเท่า ในแต่ละปีมีฟ้าผ่ามากกว่าพันล้านครั้ง ซึ่งคร่าชีวิตผู้คนประมาณ 24,000 คนในทุกปี



ข้อมูลจาก reuters, theguardiannews.sky


ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง