TNN online หัวเว่ยจับมือภาครัฐ ดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางบุคลากรไอทีอาเซียน

TNN ONLINE

Tech

หัวเว่ยจับมือภาครัฐ ดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางบุคลากรไอทีอาเซียน

หัวเว่ยจับมือภาครัฐ ดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางบุคลากรไอทีอาเซียน

หัวเว่ย ร่วมกับพันธมิตร 70 ราย เสนอกรอบแนวคิดองค์รวม 5 ประการ ขับเคลื่อนประเทศไทยเพื่อเป็นศูนย์รวมบุคลากรด้านดิจิทัลของอาเซียน

บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศความร่วมมือกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) สถาบันอุดมศึกษาและบรรดาพันธมิตรจากภาคอุตสาหกรรมในประเทศ ร่วมหารือเพื่อนำแนวทางมาพัฒนาบุคลากรไอซีที ต่อยอดสู่แผนแม่บทประเทศ ภายในงาน Thailand Talent Transformation Symposium พร้อมเปิดตัวโครงการบ่มเพาะด้านดิจิทัลที่หลากหลายและการแข่งขันสำหรับนักศึกษามหาวิทยาลัยกว่า 200 คน ใน ‘ICT Competition 2022’ เพื่อยกระดับนิเวศด้านบุคลากรดิจิทัลในประเทศไทย 


ว่าที่ร้อยตรีมนตรี มั่นคง ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้กล่าวตอนหนึ่งในการเปิดงานว่า “ปัจจุบัน ประเทศไทยยังคงเผชิญกับปัญหาความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัลระหว่างชุมชนเมืองและชุมชนชนบท จึงเกิดเป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และหัวเว่ย ประเทศไทยขึ้นมา” 


ความร่วมมือดังกล่าวมีอยู่ด้วยกันหลายด้าน แต่ที่เกิดขึ้นแล้วในปัจจุบันมีอยู่ด้วยกัน 2 โครงการ ได้แก่  ‘ICT Competition 2022’ เพื่อยกระดับระบบนิเวศด้านบุคลากรดิจิทัลในประเทศไทย และการจัดทำและเผยแพร่สมุดปกขาว “การพัฒนาบุคลากรด้านดิจิทัลของประเทศไทย (Thailand National Digital Talent Development)” ซึ่งมีเนื้อหาครอบคลุมประเด็นปัญหาการขาดแคลนบุคลากรและความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัล อันเกิดจากการเร่งขับเคลื่อนประเทศสู่เศรษฐกิจดิจิทัลแบบก้าวกระโดด ซึ่งเมื่อเทียบสัดส่วนเศรษฐกิจดิจิทัลของไทยภายในปี พ.ศ. 2570 จะมีอัตราการเติบโตของจีดีพีถึง 30% 


นายอาเบล เติ้ง ประธานกรรมการ ฝ่ายเครือข่ายธุรกิจผู้ให้บริการ ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก กล่าวตอนหนึ่งว่า “บุคลากรดิจิทัลนับเป็นหนึ่งในกลยุทธ์หลักสำคัญที่หัวเว่ยลงทุนอย่างต่อเนื่องในประเทศไทย โดยวางกรอบและแนวทางในการปฏิบัติสามด้าน เพื่อบ่มเพาะบุคลากรที่มีความสามารถในระดับสูง โดยในระดับสูงสุดนั้น หัวเว่ย อาเซียน อะคาเดมี (Huawei ASEAN Academy) ซึ่งก่อตั้งขึ้นในประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ. 2562 นั้นได้ฝึกอบรมบุคลากรไอซีทีไปแล้วกว่า 60,000 คน และธุรกิจวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ไปแล้ว 2,600 ราย เพื่อสร้างผลกระทบในเชิงลึกและยิ่งใหญ่ขึ้น”


สำหรับโครงการ ICT Competition 2022 เป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านไอซีที การฝึกทักษะในการปฏิบัติจริง และการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรทั่วโลก ในการสร้างนวัตกรรมผ่านเทคโนโลยีและแพลตฟอร์มใหม่ๆ ซึ่งจะช่วยยกระดับการศึกษาและสร้างทักษะบุคลากรรุ่นใหม่ โดยโครงการดังกล่าวจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2565 จนถึงเดือนมีนาคม พ.ศ. 2566 ทั้งนี้ ทีมผู้ชนะจากการแข่งขันจะได้รับรางวัลรวมมูลค่ากว่า 300,000 บาท  


หัวเว่ย ในฐานะผู้นำด้านเทคโนโลยีระดับโลก ริเริ่มโครงการหัวเว่ย ไอซีที อะคาเดมี (ประเทศไทย) และได้ร่วมมือกับสถาบันอุดมศึกษาชั้นนำในประเทศอีก 37 แห่ง ในการสร้างบุคลากรไอซีทีในประเทศไปแล้วกว่า 26,000 คน และตั้งเป้าที่จะฝึกอบรมบุคลากรดิจิทัลสัญชาติไทยเพิ่มขึ้นอีกกว่า 10,000 คน ภายในปี พ.ศ. 2566 รวมทั้งจะสามารถร่างข้อเสนอแนะเพิ่มเติมในสมุดปกขาวอันจะนำไปสู่การริเริ่มการสร้างบุคลากรที่มีความหลากหลายด้านทักษะในระบบนิเวศ และจะเดินกลยุทธ์ในการร่วมมือกับพันธมิตรต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างเวทีที่เปิดกว้างและสร้างโอกาสใหม่ ๆ อย่างมั่นคง ซึ่งท้ายที่สุดจะสามารถนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาสู่ทุกคน ทุกครัวเรือน และทุกองค์กร เพื่อสร้างโลกอัจฉริยะที่เชื่อมต่อถึงกันอย่างสมบูรณ์แบบ


ที่มาข้อมูล Huawei Thailand

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง