TNN online smartHEAL พลาสเตอร์อัจฉริยะ บอกสถานะแผลได้โดยไม่ต้องแกะ

TNN ONLINE

Tech

smartHEAL พลาสเตอร์อัจฉริยะ บอกสถานะแผลได้โดยไม่ต้องแกะ

smartHEAL พลาสเตอร์อัจฉริยะ บอกสถานะแผลได้โดยไม่ต้องแกะ

สิ่งประดิษฐ์สมาร์ตฮีล (SmartHEAL) ได้รับรางวัลชนะเลิศแกรนด์ไพรซ์ของ เจมส์ ดีซัน จากการสร้างพลาสเตอร์ที่ตรวจวัดการติดเชื้อได้โดยไม่ต้องถอดที่ปิดแผล

สิ่งประดิษฐ์สมาร์ตฮีล (SmartHEAL) ได้รับรางวัลชนะเลิศแกรนด์ไพรซ์ของ เจมส์ ดีซัน (James Dyson Awards) ซึ่งเป็นการประกวดด้านการออกแบบและวิศวกรรมจาก 29 ประเทศทั่วโลก จากการสร้างพลาสเตอร์ที่ตรวจวัดการติดเชื้อได้โดยไม่ต้องถอดที่ปิดแผล ซึ่งหมายความว่าไม่รบกวนทำให้แผลเสี่ยงต่อการติดเชื้อเพิ่มเติม 


พลาสเตอร์อัจฉริยะเช่นนี้ มีความสำคัญต่อผู้สูงอายุที่มีอายุเกิน 70 ปีอย่างยิ่ง ซึ่งผู้สูงอายุในช่วงวัยดังกล่าว มีความเสี่ยงต่อภาวะบาดแผลเรื้อรัง ที่อาจนำไปสู่อาการติดเชื้อซ้ำซ้อน และเป็นสาเหตุการเสียชีวิตของผู้ป่วยได้


สำหรับเจ้าพลาสเตอร์อัจฉริยะตัวนี้ ถูกออกแบบโดยนักศึกษาปริญญาเอก 3 คนจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีวอร์ซอว์ (Warsaw Technology University) จากผลงานการออกแบบเซนเซอร์อัจฉริยะ สมาร์ตฮีล ซึ่งตรวจจับได้ว่าแผลสมานตัวดีขึ้นหรือไม่ โดยหลักการทำงาน พลาสเตอร์อัจฉริยะสมาร์ตฮีล (SmartHEAL) ทำงานโดยใช้เซนเซอร์แบบอิเล็กทรอนิกส์ที่พิมพ์ลงบนสิ่งทอ เพื่อนำมาวัดค่า pH ที่แผลโดยไม่ต้องใช้แบตเตอรี่หรือแหล่งจ่ายไฟในการทำงาน โดยเซ็นเซอร์จะบอกสถานะของบาดแผลโดยใช้คลื่นความถี่วิทยุส่งสัญญาณ (RFID) ซึ่งผู้ใช้สามารถอ่านค่าด้วยการใช้โทรศัพท์มือถือสแกนได้ในทันที


โดยโทมัส ราซซินสกี, โดมินิก บาราเนคกี, และเพียรต์ วอลเตอร์ นักวิจัยผู้ออกแบบเผยว่า ผลิตภัณฑ์นี้ทำหน้าที่เป็นพลาสเตอร์ปิดแผลที่มีเซ็นเซอร์ในตัว และใช้เทคโนโลยีการพิมพ์ที่สามารถถ่ายเทความร้อนได้เข้ามาช่วย ซึ่งหมายความว่าพลาสเตอร์นี้สามารถล้าง และยืดหดได้ ทำให้ง่ายต่อการใช้งาน ทั้งนี้ นักวิจัยทั้ง 3 จะนำเงินรางวัลเจมส์ ดีซัน ที่มีมูลค่า 30,000 ปอนด์ หรือ 1,279,440 บาท ไปเพื่อทดสอบผลิตภัณฑ์สมาร์ตฮีลทางการแพทย์เป็นขั้นตอนสุดท้าย เพื่อให้พร้อมวางขายภายในปี 2025

ทีมวิจัยกล่าวโดยสรุปว่า ข้อดีของพลาสเตอร์อัจฉริยะตัวนี้คือ ทั้งลดเวลาการรักษาแผล และยังป้องกันการเสียชีวิต หรือการต้องตัดอวัยวะจากบาดแผลกดทับของผู้ป่วยสูงอายุได้หลายพันคนต่อปี นอกจากนี้ยังมีราคาถูก ผลิตได้จำนวนมากในเวลาสั้น ๆ เข้าถึงผู้ป่วยได้ทุกคน


ที่มาของข้อมูล thenationalnews.com

ที่มาของรูปภาพ James Dyson Awards



ข่าวแนะนำ