TNN online มาเป็นแพ็คคู่ ! จีนเปิดตัวแผงโซลาร์ลอยน้ำนอกชายฝั่งแบบใหม่รายแรกของโลก

TNN ONLINE

Tech

มาเป็นแพ็คคู่ ! จีนเปิดตัวแผงโซลาร์ลอยน้ำนอกชายฝั่งแบบใหม่รายแรกของโลก

มาเป็นแพ็คคู่ ! จีนเปิดตัวแผงโซลาร์ลอยน้ำนอกชายฝั่งแบบใหม่รายแรกของโลก

จีนประกาศติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากแผงโซลาร์เซลล์ลอยน้ำคู่กับกังหันลมนอกชายฝั่งเชิงพาณิชย์เป็นครั้งแรกของโลก

การใช้งานแผงโซลาร์เซลล์ (Solar Cell) ลอยน้ำนั้นเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ โดยปกติมักจับคู่กับเขื่อนเพื่อผลิตไฟฟ้า เช่น ระบบโซลาร์ไฮบริดที่เขื่อนสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี หรือในยุโรป เช่น โปรตุเกส แต่การจับคู่แผงโซลาร์เซลล์แบบลอยน้ำกับกังหันลมนอกชายฝั่งเป็นแนวคิดใหม่ในการผลิตกระแสไฟฟ้า ซึ่งมีหลายพื้นที่ที่ลองติดตั้งเพื่อทดสอบการทำงาน แต่ว่าที่ประเทศจีนนั้นได้ชิงตัดหน้าที่อื่น ๆ ด้วยการเปิดตัวระบบใหม่เพื่อใช้ผลิตไฟฟ้าอย่างเป็นทางการแล้ว


บรรษัทลงทุนกิจการพลังงานแห่งรัฐ (State Power Investment Corporation: SPIC) ของประเทศจีน ประกาศการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าผสมลมและแสงแดด (Wind-Solar Hybrid System) ซึ่งผลิตโดยบริษัท โอเชียนซัน (OceanSun) สตาร์ตอัปด้านพลังงานสัญชาตินอร์เวย์ เพื่อเสริมเสถียรภาพกำลังการผลิตไฟฟ้าของระบบ เพราะโซลาร์เซลล์นั้นสามารถผลิตไฟฟ้าได้ดีที่สุดในช่วงเช้า ส่วนกำลังการผลิตสูงสุดของกังหันลมนอกชายฝั่ง (Offshore Wind Turbine) นั้นอยู่ในช่วงบ่ายถึงเย็น 


ระบบไฮบริดแบบใหม่ล่าสุดนี้จะติดตั้งแบบทดลอง 1 ระบบ ซึ่งประกอบไปด้วยกังหันลมนอกชายฝั่ง 1 ตัว ที่เป็นของ SPIC ดั้งเดิม และแผงโซลาร์เซลล์ที่ติดตั้งในถาดกลมสำหรับลอยน้ำอีก 2 ตัว ของโอเชียนซัน (OceanSun) ให้กำลังการผลิตรวม 500 กิโลวัตต์ (kW) โดยส่งกระแสไฟฟ้าผ่านสายเคเบิลใต้ทะเล ในพื้นที่โครงการริมชายฝั่งของจังหวัดไห่หยาง มณฑลซานตง ซึ่งอยู่ภาคตะวันออกของจีน


หากโครงการนี้สำเร็จ ทาง SPIC จะจับมือร่วมกับโอเชียนซัน (OceanSun) ติดตั้งระบบให้เป็นโซลาร์ฟาร์มไฮบริดที่มีกำลังการผลิตรวม 20 เมกะวัตต์ (MW) ในปีหน้า ก่อนที่จะขยายกำลังการผลิตทั้งหมดให้สูงถึง 42 กิกะวัตต์ (GW) ในอีก 2 - 3 ปี ในอนาคต โดย เบลล์ บียอร์นเคล็ท (Børge Bjørneklett) เคยให้สัมภาษณ์ว่าระบบการผลิตโซลาร์ลอยน้ำของบริษัทนั้นจะช่วยเพิ่มเสถียรภาพการทำงานของระบบการผลิตโดยรวม และตัวแผงโซลาร์นั้นยังสามารถทนทานต่อพายุไต้ฝุ่นที่พัดผ่านในพื้นที่เป็นประจำทุกปีได้อีกด้วย




ที่มาข้อมูล Electrek

ที่มารูปภาพ OceanSun

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง