TNN online สำรวจเทคโนโลยียุทโธปกรณ์สุดล้ำทั่วโลก ทั้งไอเทมและยานพาหนะ

TNN ONLINE

Tech

สำรวจเทคโนโลยียุทโธปกรณ์สุดล้ำทั่วโลก ทั้งไอเทมและยานพาหนะ

สำรวจเทคโนโลยียุทโธปกรณ์สุดล้ำทั่วโลก ทั้งไอเทมและยานพาหนะ

สำรวจความก้าวหน้าของเทคโนโลยีด้านยุทโธปกรณ์จากทั่วโลก ซึ่งเข้ามาช่วยแบ่งเบาการทำงานของกำลังพล และเพิ่มขีดความสามารถในการป้องกันประเทศ

ปัจจุบันเทคโนโลยีด้านยุทโธปกรณ์มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะมีกระแสเรียกร้องสันติภาพจากทั่วโลก แต่บริษัทผู้ผลิตยุทโธปกรณ์และเหล่ากองทัพจากหลายประเทศ ก็ยังคงคิดค้นและพัฒนาเทคโนโลยีของตัวเอง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ทำให้เราได้เห็นนวัตกรรมทางการทหารที่ล้ำสมัยมากขึ้น


โดยข้อมูลจากสถาบันวิจัยสันติภาพนานาชาติสตอกโฮล์ม ในสวีเดน หรือ ซีปรี (SIPRI: Stockholm International Peace Research Institute) ระบุว่า ในปี 2020 อุตสาหกรรมยุทโธปกรณ์ทั่วโลกมีมูลค่าตลาดสูงถึง 5.31 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว ๆ 1.79 ล้านล้านบาท โดยมีสหรัฐอเมริกาเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่อันดับ 1 รองลงมาคือ รัสเซีย ฝรั่งเศส เยอรมนี และจีน ตามลำดับ และในบรรดาสินค้ายุทโธปกรณ์ทั่วโลกที่ส่งออกก็มีตัวอย่างที่น่าสนใจอยู่ไม่น้อย




เทคโนโลยียุทโธปกรณ์สนับสนุนการรบ


ตัวอย่างแรก คือ นวัตกรรมแว่นโฮโลเลนส์ (HoloLens) จากไมโครซอฟต์ (Microsoft) เป็นเทคโนโลยีความจริงแบบผสาน หรือ เอ็มอาร์ (Mix Reality: MR) โลกเสมือนที่สร้างสิ่งจำลองขึ้นมาซ้อนทับโลกจริง โดยรวมเทคโนโลยี VR และ AR เข้าด้วยกัน เมื่อสวมใส่แล้ว จะทำให้เกิดภาพที่มีมิติ เสมือนจริง และผู้ใช้งานสามารถสั่งการผ่านทั้ง 10 นิ้วได้ ซึ่งถูกนำไปใช้เพื่อช่วยแสดงข้อมูลด้านการรบ การติดต่อสื่อสาร และสามารถมองเห็นได้ในช่วงเวลากลางคืน เพิ่มประสิทธิภาพในการรบ


หลังจากผ่านการทดสอบการใช้งาน กองทัพบกของสหรัฐ ได้นำร่องสั่งซื้อจำนวน 5,000 ชิ้น ในราคาชิ้นละ 3,500 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 128,000 บาท และรับมอบเป็นที่เรียบร้อยแล้วเมื่อช่วงต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา 


เซเวอร์ วันเทาซัน (Xaver 1000) เป็นอุปกรณ์ส่องทะลุกำแพง ที่อยู่ระหว่างพัฒนาโดยบริษัทในอิสราเอล ผู้ผลิตเคลมว่า สามารถตรวจจับการเคลื่อนไหวแบบสามมิติ เสมือนส่องทะลุกำแพงได้ ซึ่งพัฒนาต่อยอดมาจาก Xaver 800 โดยมีจุดเด่นอยู่ที่การนำปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาช่วยประมวลผลวัตถุที่ตรวจจับได้จากเซนเซอร์ และมีหน้าจอแสดงว่าด้านหลังกำแพงมีการเคลื่อนไหวอย่างไร และสามารถบันทึกเพื่อตรวจสอบย้อนหลังได้ด้วย


เทคโนโลยียุทโธปกรณ์ทางอากาศ


โดรน เป็นอีกหนึ่งในยุทโธปกรณ์สำคัญในปัจจุบัน ล่าสุดได้มีการเปิดตัวโดรนขนาดเล็กรุ่นใหม่ ที่มีชื่อเรียกว่า แอนซิลลารี (ANCILLARY)  ซึ่งอยู่ระหว่างการพัฒนาจากสำนักงานโครงการวิจัยขั้นสูงด้านการป้องกันประเทศของสหรัฐฯ หรือ ดาร์ปา (DARPA) โดยเป็นโดรนแบบบินขึ้นและลงจอดในแนวดิ่ง (VTOL) สำหรับใช้เสริมกำลังป้องกันทางอากาศ สามารถบินปฏิบัติการได้แม้สภาพอากาศไม่เอื้ออำนวย ช่วยลดการใช้กำลังพลมนุษย์ 


แอนซิลลารี (ANCILLARY) ติดตั้งใบพัดจำนวน 3 ชุด ขับเคลื่อนแบบไฮบริด โดยใช้พลังงานไฟฟ้าและพลังงานเชื้อเพลิง ซึ่งพัฒนาให้สามารถลดเสียงรบกวน ขณะทำการบินบนท้องฟ้าเพื่อลดโอกาสถูกตรวจจับโดยข้าศึกได้ รองรับการเชื่อมต่อผ่านดาวเทียม ติดตั้งกล้องบันทึกภาพวิดีโอและกล้องสอดแนม เพื่อทำภารกิจรวบรวมข้อมูลข่าวสารรวมถึงยังสามารถขนส่งอุปกรณ์ด้านการทหารได้อีกด้วย โดยคาดว่าโดรนบินรุ่นใหม่นี้จะสามารถควบคุมได้จากระยะไกล หรือขับเคลื่อนอัตโนมัติได้อีกด้วย


นอกจากโดรนแล้ว อคินชี (Akinci) ถือเป็นอากาศยานไร้คนขับที่ล้ำสมัยที่สุดซึ่งน่าจับตามองของตุรกีเลยก็ว่าได้ โดยมีการระบุว่าอคินซี (Akinci) มีความยาวประมาณ 12 เมตร สามารถบินได้ที่ระดับความสูง ประมาณ 12,000 เมตร ภายในติดตั้งระบบชี้เป้าด้วยเลเซอร์ ร่วมกับการใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อรวบรวมประมวลผลข้อมูลที่ได้รับจากเซนเซอร์ และกล้องในตัว เพื่อปฏิบัติการภารกิจด้านการทางทหาร


จากการรายงานข่าวระบุว่า อคินซี (Akinci) สามารถบินข้ามได้ถึง 3 ประเทศ เริ่มตั้งแต่ตุรกี จอร์เจียและอาเซอร์ไบจาน เป็นระยะทางกว่า 2,000 กิโลเมตร จากทางตะวันตกเฉียงเหนือของตุรกีบินผ่านจอร์เจีย ก่อนลงจอดที่สนามบินนานาชาติ เฮย์ดาร์ อาลีเยฟ (Heydar Aliyev) ในอาเซอร์ไบจาน ใช้เวลาทั้งสิ้น 5 ชั่วโมง


เทคโนโลยียุทโธปกรณ์ภาคพื้นดิน


รถถังหุ่นยนต์ ไทป์ เอ็กซ์ (Type-X) พัฒนาโดยมิลเรม โรโบติก (Milrem Robotics) บริษัทในประเทศเอสโตเนีย และพันธมิตร ซึ่งสามารถควบคุมด้วยปัญญาประดิษฐ์ (AI) ไม่ต้องใช้พลทหารประจำด้านใน ช่วยลดการสูญเสียกำลังพลในสงครามได้ ขณะที่โครงสร้างจะมีขนาดเล็กกว่ารถถังทั่วไป ใช้ระบบขับเคลื่อนแบบไฮบริด จากน้ำมันดีเซล ผสมผสานกับพลังงานไฟฟ้า ทำความเร็วสูงสุดบนถนนได้ 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และบนสภาพภูมิประเทศทั่วไปได้ที่  50 กิโลเมตรต่อชั่วโมง


เมื่อพูดถึงยานพาหนะก็ต้องนึกถึงแหล่งพลังงาน แม้ว่าพลังงานไฮโดรเจนจะไม่ได้เป็นทางเลือกหลักของยานพาหนะหรือเชื้อเพลิงสำหรับพลเรือน แต่สำนักวิจัยกองทัพเรือสหรัฐฯ ร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ หรือ MIT ได้พัฒนาต้นแบบอุปกรณ์สร้างเชื้อเพลิงไฮโดรเจนแบบพกพาที่ชื่อว่า เอช ทาร์ป (H-TaRP : Hydrogen Tactical Refueling Point) เพื่อผลิตเชื้อเพลิงโดยไม่จำเป็นต้องขนน้ำมัน เพียงแค่มีวัตถุดิบสำหรับการผลิตก๊าซไฮโดรเจนเท่านั้น ซึ่งช่วยเสริมความคล่องตัวในการใช้งานอุปกรณ์ต่าง ๆ ในภาคสนาม เช่น โดรน เครื่องปั่นไฟ ยานเกราะไร้คนขับ แต่ก็ยังเป็นเพียงตัวต้นแบบที่ต้องปรับขนาดอุปกรณ์และระบบให้เล็กลงเพื่อให้สามารถใช้งานได้จริง


หลากหลายนวัตกรรมที่ Tech Reports ได้นำเสนอไปนี้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งของเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมอาวุธยุทโธปกรณ์เท่านั้น ซึ่งเชื่อว่าทั้งหมดล้วนแล้วแต่มีเป้าหมายการใช้งานที่คล้ายกัน คือ เข้ามาช่วยแบ่งเบาภาระงาน ลดการสูญเสียกำลังพล และเพิ่มความสามารถในการป้องกันประเทศได้อย่างทันท่วงที  

อาวุธยุทโธปกรณ์เหล่านี้ บรรดาผู้ผลิตทั้งหลายไม่เพียงต้องแข่งขันกันที่ความล้ำของเทคโนโลยี แต่ต้องมีทั้งประสิทธิภาพ ความคุ้มค่าและทำภารกิจได้หลากหลายด้วย


ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง