TNN online สูงสุดกลับสู่สามัญ ! เรือบรรทุกน้ำมันจีนกลับมาใช้ใบเรือเพื่อลดโลกร้อน

TNN ONLINE

Tech

สูงสุดกลับสู่สามัญ ! เรือบรรทุกน้ำมันจีนกลับมาใช้ใบเรือเพื่อลดโลกร้อน

สูงสุดกลับสู่สามัญ ! เรือบรรทุกน้ำมันจีนกลับมาใช้ใบเรือเพื่อลดโลกร้อน

จีนโชว์ไอเดียเรือบรรทุกสินค้ารุ่นใหม่ที่ติดใบเรือขนาดใหญ่ 4 ใบ พร้อมเคลมว่าช่วยลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่อรอบเดินเรือเทียบเท่าปลูกต้นไม้ 17,400 ต้น

เรือบรรทุกสินค้าเป็นพาหนะขนส่งสินค้าที่สำคัญที่สุดมาตลอดประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ ตั้งแต่การใช้เรือใบ มาจนถึงการใช้เครื่องยนต์ดีเซลในปี 1903 จนปัจจุบัน น่านน้ำสากลเต็มไปด้วยเรือบรรทุกสินค้าในเส้นทางเดินเรือต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก แต่นั่นก็หมายความว่าแต่ละลำและแต่ละเส้นทางก็ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นจำนวนมากด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม บริษัทไชน่า เมอร์ชานท์ เอเนอร์จี้ ชิปปิ้ง (China Merchants Energy Shipping: CMES) ได้พัฒนาเรือบรรทุกสินค้ารูปแบบใหม่ที่ติดตั้งใบเรือเพื่อลดค่าน้ำมันขึ้นมา


เรือบรรทุกสินค้า New Aden ที่ติดตั้งใบเรือ 4 ใบ


เรือบรรทุกสินค้าดังกล่าวมีชื่อว่า นิวเอเดน (New Aden) เป็นเรือที่ผลิตโดยอู่ต่อเรืออุตสาหกรรมต้าเหลียน (Dalian Shipbuilding Industry Co: DSIC) เป็นเรือบรรทุกสินค้าประเภทเรือบรรทุกน้ำมันขนาดยักษ์ (Supertanker) ที่มีความยาวตลอดลำเรือ 333 เมตร 


พร้อมจุดเด่นสำคัญที่ใบเรือที่มีความสูง 40 เมตร จำนวนทั้งหมด 4 ใบ ติดตั้งบนตอนกลางของดาดฟ้าเรือ โดยแต่ละใบมีพื้นที่ผิวสำหรับรับแรงลมอยู่ที่ 1,200 ตารางเมตร ผลิตจากคาร์บอนไฟเบอร์ (Carbon Fiber) ที่มีน้ำหนักเบา ควบคุมการทำงานด้วยระบบหน้าจอสัมผัสหรือปุ่มกดเพื่อปรับทิศทางใบเรือเพื่อให้รับได้อย่างมีประสิทธิภาพ


อย่างไรก็ตาม ใบเรือทั้ง 4 ใบ ไม่ได้ทำหน้าที่เป็นแกนขับเคลื่อนหลักของตัวเรือนิวเอเดน (New Aden) แต่อย่างใด โดยใบเรือจะทำหน้าที่คอยสนับสนุนการเดินเรือและลดการใช้น้ำมันดีเซลสำหรับตัวเรือเท่านั้น 


โดยทางบริษัทกล่าวอ้างว่าจากการคำนวณเส้นทางเดินเรือจากตะวันออกกลางไปยังตะวันออกไกลหรือแถบจีนและภูมิภาคเอเชียตะวันออก ตัวเรือจะสามารถลดการใช้น้ำมันลงได้ 9.8 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับเรือบรรทุกน้ำมันที่มีขนาดใกล้เคียงกันในแต่ละรอบเดินเรือ ซึ่งจะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 2,900 ตันต่อรอบเดินเรือ หรือเทียบเท่าการปลูกต้นไม้ปีละ 17,400 ต้น



ที่มาข้อมูล New Atlas

ที่มารูปภาพ China Classification Society

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง