TNN online Trashboom นวัตกรรมป้องกันขยะพลาสติกลงมหาสมุทร

TNN ONLINE

Tech

Trashboom นวัตกรรมป้องกันขยะพลาสติกลงมหาสมุทร

 Trashboom นวัตกรรมป้องกันขยะพลาสติกลงมหาสมุทร

นวัตกรรมกักเก็บขยะในแม่น้ำจากสตาร์ตอัปในเยอรมนี ที่ใช้วิธีสร้างแนวกั้นขยะลอยได้กันขยะให้เก็บได้ง่าย และไม่ไหลลงสู่ทะเลจนกลายเป็นมลพิษ ที่สำคัญนวัตกรรมตัวนี้สามารถติดตั้งตามแม่น้ำต่าง ๆ ได้ง่ายอีกด้วย

หนึ่งในสาเหตุหลักของน้ำท่วม ก็คือกองขยะต่าง ๆ ที่ไหลไปอุดทางเดินน้ำ และเมื่อขยะเหล่านี้ไหลลงทะเล ก็จะกลายเป็นมลพิษต่อระบบนิเวศ บริษัทในเยอรมนีจึงได้คิดค้นนวัตกรรมจัดการขยะด้วยแท่นกั้น เพื่อป้องกันไม่ให้ขยะเหล่านี้ไหลไปอุดตัน หรือไหลลงสู่ท้องทะเลได้ง่ายขึ้น


 Trashboom นวัตกรรมป้องกันขยะพลาสติกลงมหาสมุทร ภาพจาก Plastic Fischer

TrashBoom อุปกรณ์กั้นขยะจากแนวคิดที่เรียบง่าย

โดยบริษัท พลาสติก ฟิชเชอร์ (Plastic Fischer) ได้คิดค้นสิ่งที่เรียกว่า แทรชบูม (TrashBoom) เป็นแนวกั้นขยะหน้าตาคล้ายกับรั้วลอยน้ำ แต่ละยูนิตยาวประมาณ 120 เซนติเมตร ครอบคลุมผิวน้ำลึกสุด 50 เซนติเมตร ตัวอุปกรณ์สามารถเชื่อมต่อกันเพื่อสร้างห่วงขนาดใหญ่ ที่ปรับให้เข้ากับแม่น้ำขนาดต่าง ๆ ได้อย่างง่ายดาย ส่วนการติดตั้ง สามารถนำไปวางกั้นในพื้นที่แม่น้ำที่มีความเร็วการไหลต่ำ เพื่อให้กระแสน้ำพัดเอาเศษขยะต่าง ๆ มารวมกัน จากนั้นเศษขยะจะถูกรวบรวมไปยังโรงคัดแยก เพื่อนำส่วนหนึ่งไปรีไซเคิล หรือส่งไปที่โรงเผาตามประเภทของขยะต่อไป


 Trashboom นวัตกรรมป้องกันขยะพลาสติกลงมหาสมุทร ภาพจาก Plastic Fischer

 


ต้นทุนต่ำ ซ่อมได้ง่าย และยังใช้ได้หลายพื้นที่

ข้อดีของตัวแทรชบูมนี้ คือสร้างจากวัสดุที่หาได้ง่าย ใช้ต้นทุนต่ำ และซ่อมแซมได้ง่าย จึงเหมาะสำหรับการใช้งานในพื้นที่ขาดแคลน หรือประเทศที่กำลังพัฒนา รวมทั้งเคลมว่ายังช่วยสร้างอาชีพให้คนในชุมชน เช่น ทำหน้าที่เป็นเจ้าหน้าที่คัดแยกขยะ ได้อีกด้วย และนอกจาก พลาสติก ฟิชเชอร์ แล้ว ไอเดียการสร้างแนวกีดขวางขยะนี้ ก็เคยมีมาแล้วเช่นกัน โดยเป็นไอเดียการสร้างกำแพงฟองอากาศเบนขยะบนแม่น้ำให้ลอยไปสู่เครื่องจัดเก็บ จากบริษัทเกรท บับเบิล แบริเออร์ (Great Bubble Barrier) ในประเทศเนเธอร์แลนด์


 Trashboom นวัตกรรมป้องกันขยะพลาสติกลงมหาสมุทร ภาพจาก Great Bubble Barrier

 ซึ่งขยะในแม่น้ำลำคลอง นอกจากจะเป็นหนึ่งในสาเหตุของน้ำท่วมแล้ว ยังมีสถิติจากกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ที่ระบุว่าร้อยละ 80 ของขยะทะเลมีต้นทางมาจากบนบก กลายเป็นมลพิษต่อระบบนิเวศ รวมทั้งพลาสติกเหล่านี้อาจกลายเป็นไมโครพลาสติกที่ย้อนกลับสู่ห่วงโซ่อาหารของมนุษย์ ดังนั้นนอกจากวิธีกำจัดขยะปลายทางแล้ว หากเราหันมาจัดการกันตั้งแต่ต้นทาง เช่นการคัดแยกขยะอย่างถูกวิธี รวมถึงลดใช้ถุงพลาสติก ก็อาจจะเป็นทางออกการแก้ปัญหาที่ยั่งยืนได้อีกด้วย





ขอบคุณข้อมูลจาก

designboom

plasticfischer

prd.go

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง