TNN online AI ยุคใหม่ เรียนรู้และอ่านฟิล์ม X-Ray ได้เอง ไม่ต้องป้อนข้อมูลทีละโรค

TNN ONLINE

Tech

AI ยุคใหม่ เรียนรู้และอ่านฟิล์ม X-Ray ได้เอง ไม่ต้องป้อนข้อมูลทีละโรค

AI ยุคใหม่ เรียนรู้และอ่านฟิล์ม X-Ray ได้เอง ไม่ต้องป้อนข้อมูลทีละโรค

รู้หรือไม่ AI สามารถแปลผลและวินิจฉัยโรคจากภาพเอกซเรย์ได้เองแล้ว!

ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI (Artificial Intelligence) ได้เข้ามาปฏิวัติวงการวิทยาศาสตร์ในปัจจุบัน เพราะช่วยอำนวยความสะดวกในการทำงานต่าง ๆ โดยเฉพาะบทบาทในด้านการแพทย์ที่นำ AI มาใช้เพื่อช่วยวินิจฉัยและรักษาโรคได้อย่างแม่นยำมากขึ้น


AI ยุคใหม่ เรียนรู้และอ่านฟิล์ม X-Ray ได้เอง ไม่ต้องป้อนข้อมูลทีละโรค ที่มาของภาพ Unsplash

 



ล่าสุด นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดได้พัฒนา AI ที่สามารถเรียนรู้การแปลผลและวินิจฉัยโรคจากภาพถ่ายรังสีเอกซเรย์ได้ด้วยตนเอง โดยไม่จำเป็นต้องผ่านการระบุข้อมูลทีละขั้นตอน (Labeling) จากรังสีแพทย์ จึงเพิ่มความรวดเร็วในการเรียนรู้และลดค่าใช้จ่ายในการพัฒนาได้อย่างมหาศาล


การพัฒนา AI ให้สามารถวิเคราะห์ภาพถ่ายรังสีเอกซเรย์นั้น โดยปกติแล้ว AI จะต้องเรียนรู้ชุดข้อมูลที่จำเป็นต่อการแปลผล ซึ่งชุดข้อมูลที่สำคัญในการสอน AI ให้แปลผลภาพถ่ายรังสี คือ ลักษณะของรอยโรคต่าง ๆ เพื่อใช้ในการวินิจฉัยแยกโรคที่เป็นไปได้จากภาพถ่ายรังสีนั้น ๆ


AI ยุคใหม่ เรียนรู้และอ่านฟิล์ม X-Ray ได้เอง ไม่ต้องป้อนข้อมูลทีละโรค ที่มาของภาพ Unsplash

 


ก่อนหน้านี้ นักพัฒนาจะต้องนำข้อมูลที่มีการระบุข้อมูล (Labeling) ป้อนเข้าไปให้ AI ได้เรียนรู้ เป็นต้นว่า หากต้องการให้ AI แปลผลและวินิจฉัยภาพถ่ายรังสีเอกซเรย์ปอดของผู้ป่วยวัณโรค รังสีแพทย์ที่ร่วมพัฒนาจะต้องเตรียมภาพถ่ายรังสีของผู้ป่วยวัณโรคปอด พร้อมทั้งระบุข้อมูลรอยโรคต่าง ๆ ที่ปรากฏบนภาพถ่ายก่อนที่จะป้อนข้อมูลเหล่านั้นให้แก่ AI


ซึ่งการระบุข้อมูลจะต้องทำแบบภาพต่อภาพ เพราะในแต่ละภาพอาจมีลักษณะหรือตำแหน่งของรอยโรคที่แตกต่างกัน และการฝึกสอน AI ต้องใช้ภาพถ่ายจำนวนมาก (อาจมากถึง 10,000 ภาพ) เพื่อให้ AI สามารถวิเคราะห์ได้อย่างแม่นยำ ยิ่งมีการระบุรอยโรคได้ละเอียดมากเท่าใด AI ก็จะมีความแม่นยำมากเท่านั้น


AI ยุคใหม่ เรียนรู้และอ่านฟิล์ม X-Ray ได้เอง ไม่ต้องป้อนข้อมูลทีละโรค ที่มาของภาพ Unsplash

 


ทว่า กระบวนการระบุข้อมูลทีละภาพจากภาพถ่ายจำนวน 10,000 ภาพ ต้องใช้ทรัพยากรทั้งเวลา, บุคคล และค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนมาก ในระยะหลังจึงมีการปรับเปลี่ยนให้ AI ได้เห็นภาพถ่ายรังสีเอกซเรย์ที่หลากหลายก่อน โดยไม่จำเป็นต้องระบุข้อมูลในช่วงแรก (เรียกว่าข้อมูลไร้โครงสร้าง หรือ Unstructured data) ส่งผลให้ AI ได้เรียนรู้ภาพถ่ายได้อย่างรวดเร็ว แต่สุดท้ายพวกมันจะยังไม่รู้จักวิธีการแปลผลและวินิจฉัย จนกว่าจะมีการระบุข้อมูลรอยโรคต่าง ๆ ให้อีกทีหนึ่ง


นั่นหมายความว่า ไม่ว่าจะเป็นการระบุข้อมูลให้กับ AI ตั้งแต่เริ่มต้น หรือการปล่อยให้ AI ได้เรียนรู้ภาพก่อนแล้วมาระบุข้อมูลภายหลัง ต่างก็ทำให้เกิดความล่าช้าในการพัฒนา AI ด้วยกันทั้งสิ้น เพราะสุดท้ายแล้วรังสีแพทย์จะต้องเป็นผู้ระบุรายละเอียดของข้อมูลที่จำเป็นในการวิเคราะห์ภาพอยู่ดี


ด้วยเหตุนี้นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดจึงได้พัฒนา AI ที่มีชื่อว่า CheXZero (เช็กส์ซีโร) ซึ่งแตกต่างไปจากรูปแบบของ AI ที่กล่าวไว้ในข้างต้น คือ CheXZero จะอาศัยแค่ภาพถ่ายรังสีเอกซเรย์และผลอ่านที่เตรียมไว้แล้ว เนื่องจากโดยปกติแล้วรังสีแพทย์จะรายงานการอ่านผลและการวินิจฉัยสำหรับผู้ป่วยแต่ละรายไว้ในเอกสารทางการแพทย์ ดังนั้น ข้อมูลที่จะป้อนให้ AI เป็นข้อมูลที่มีอยู่ดั้งเดิมแล้วจึงช่วยลดระยะเวลาในการฝึกสอน AI ได้มากเลยทีเดียว


AI ยุคใหม่ เรียนรู้และอ่านฟิล์ม X-Ray ได้เอง ไม่ต้องป้อนข้อมูลทีละโรค ที่มาของภาพ Nature

 


หลังจากที่ได้ภาพถ่ายรังสีและผลอ่านมาแล้ว CheXZero จะทำหน้าที่แปลความหมายของผลอ่าน แล้วนำไปวิเคราะห์หารอยโรคในภาพถ่ายรังสีด้วยตัวเองเพื่อเก็บสะสมข้อมูลเหล่านั้นไว้ นั่นหมายความว่า CheXZero สามารถ "ระบุข้อมูล" ได้ด้วยตนเอง โดยไม่ต้องพึ่งพาการระบุข้อมูลทีละส่วนจากรังสีแพทย์ จากนั้นจึงนำข้อมูลของภาพถ่ายและรอยโรคที่คล้ายคลึงกันไปจัดหมวดหมู่แยกแต่ละโรคไว้


เมื่อถึงเวลาใช้งาน แพทย์จะป้อนภาพที่ต้องการให้ CheXZero ช่วยแปลผลและวินิจฉัยเข้าไป เจ้า CheXZero ก็จะวิเคราะห์รอยโรคในภาพแล้วนำไปเปรียบเทียบข้อมูลที่มีอยู่ หากตรงกับโรคใด AI จึงจะรายงานผลอ่านภาพถ่ายที่ถูกต้องพร้อมให้คำวินิจฉัยโรคออกมานั่นเอง


AI ยุคใหม่ เรียนรู้และอ่านฟิล์ม X-Ray ได้เอง ไม่ต้องป้อนข้อมูลทีละโรค ที่มาของภาพ Unsplash

 


จากการทดสอบของนักวิจัยพบว่า CheXZero สามารถแปลผลภาพถ่ายรังสีเอกซเรย์สามารถระบุรอยโรคได้อย่างแม่ยำ และเหนือกว่า AI วิเคราะห์ภาพถ่ายรังสีเอกซเรย์อื่น ๆ ซึ่งนักวิจัยมีแผนที่จะวิธีการฝึกสอนนี้ไปใช้พัฒนา AI ในการอ่านผลภาพถ่ายรังสีคอมพิวเตอร์ (CT Scan) และภาพถ่ายคลื่นไฟฟ้าแม่เหล็ก (MRI) พร้อมทั้งเปิดให้ผู้ที่สนใจสามารถนำโค้ดไปพัฒนาต่อได้ด้วย


ขอขอบคุณข้อมูลจาก Harvard University

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง