TNN online Crash Detection คืออะไร เจ๋งแค่ไหนบน iPhone 14 กับ Apple Watch Series 8 และ Ultra

TNN ONLINE

Tech

Crash Detection คืออะไร เจ๋งแค่ไหนบน iPhone 14 กับ Apple Watch Series 8 และ Ultra

Crash Detection คืออะไร เจ๋งแค่ไหนบน iPhone 14 กับ Apple Watch Series 8 และ Ultra

เจาะลึกระบบตรวจจับการชน ฟีเจอร์ใหม่ล่าสุดบน iPhone 14 ทุกรุ่นย่อย และบน Apple Watch Series 8 กับ Apple Watch Ultra

ระบบตรวจจับการชน (Crash Detection) เป็นระบบใหม่ล่าสุดที่แอปเปิล (Apple) เปิดตัวบนสมาร์ตโฟนและสมาร์ตวอช (Smartwatch) ของตน ภายในงานเปิดตัวสินค้าประจำปีรอบเดือนกันยายนที่ใช้ชื่อว่าฟาร์เอาต์ (Apple Event: Far Out) ซึ่งระบบนี้อ้างว่าสามารถตรวจจับว่าผู้ใช้งานนั้นถูกชนขณะอยู่บนรถยนต์หรือยานพาหนะอื่น ๆ หรือไม่ ด้วยความสามารถเซ็นเซอร์ต่าง ๆ ผสานเข้ากับการทำงานของระบบเรียนรู้ตัวเอง (Machine Learning) และปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) 


จากการบรรยายภายในงานเปิดตัว และการเขียนสรุปบนหน้าเว็บไซต์ของแอปเปิล (Apple) พบว่าระบบการทำงานนี้อาศัยการทำงานของเซ็นเซอร์ถึง 4 ตัว ได้แก่ บารอมิเตอร์ (Barometer) ที่คอยตรวจจับค่าความดันที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งเอามาใช้ตรวจจับเมื่อถุงลมนิรภัยทำงาน ไจโรสโคป (Gyroscope) ที่มีความแม่นยำสูง สามารถระบุการเปลี่ยนแปลงทิศทางทั้ง 4 แกน ได้แก่ แกนนอน แกนดิ่ง แกนซ้าย-ขวา และแกนหมุน เพื่อใช้ดูว่ามีการเปลี่ยนทิศทางใน 4 แกนนี้แบบกะทันหันหรือไม่ พร้อมกับไมโครโฟนที่คอยดักฟังเสียงการชนที่ได้รับการเรียนรู้จากกรณีอุบัติเหตุกว่า 1 ล้านครั้ง พร้อมกับเซ็นเซอร์วัดแรงจี (G Force) ที่มีการพูดถึงเป็นครั้งแรกบน iPhone 14 และ Apple Watch


แรงจี (G Force: g) ในที่นี้หมายถึงปริมาณแรงโน้มถ่วงหรือแรงกดที่โลกกระทำกับวัตถุ ในการรายงานแบบทั่วไปจะนิยมรายงานเป็นจำนวนเท่าของค่า g เพื่อใช้แทนความรุนแรงในการที่วัตถุหรือคนโดนแรงโน้มถ่วงของโลกกระทำ เช่น การยืนเฉย ๆ ของคนจะมีค่าเป็น 1 g การนั่งรถไฟเหาะช่วงดิ่งทางลงจะมีค่าสูงสุด 3 g แอปเปิล (Apple) กล่าวว่าเซ็นเซอร์วัดแรงจี (G Force) ของตนนั้นรองรับค่าสูงสุดถึง 256 g สูงกว่าค่าจีการชนของรถยนต์ที่รุนแรงที่สุดในโลกซึ่งเคยเกิดขึ้นในปี 2003 ที่มีค่าแรงจีอยู่ที่ 214 g ด้วยซ้ำ ดังนั้น จึงเชื่อว่าอุปกรณ์ที่ติดตั้งเซ็นเซอร์ตัวนี้จะสามารถตรวจจับการชนที่เกิดขึ้นได้ในทุกสถานการณ์


แอปเปิล (Apple) ยังกล่าวต่อด้วยว่าเมื่อเซ็นเซอร์ทั้ง 4 และระบบ AI วิเคราะห์แล้วว่าผู้ใช้งานถูกชน ก็จะขึ้นระบบสอบถามว่าต้องการโทรฉุกเฉินหรือไม่ หรือถ้าหากผู้ใช้งานไม่ตอบสนอง ก็จะทำการโทรศัพท์ฉุกเฉินไปยังเบอร์ติดต่อฉุกเฉินที่กำหนดไว้ทันที (ในสหรัฐฯ และอีกหลายประเทศจะเป็นการโทรหา 911 หรือเบอร์ฉุกเฉินของแต่ละประเทศโดยอัตโนมัติ) ซึ่งทำให้ผู้ใช้งานมั่นใจได้ว่าการเดินทางทุกครั้งของตนเองนั้นจะมีผู้เข้ามาช่วยเหลือทันทีหากเกิดเรื่องไม่คาดฝันขึ้นมา





ที่มาข้อมูล TechCrunch, Apple, Geotab, Wikipedia

ที่มารูปภาพ Apple

ข่าวฮิตติดแท็ก

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง