TNN online น่ารักเกินไปแล้ว! เปิดตัว myBuddy หุ่นยนต์ผู้ช่วยตัวจิ๋วที่ทำได้สารพัดอย่าง

TNN ONLINE

Tech

น่ารักเกินไปแล้ว! เปิดตัว myBuddy หุ่นยนต์ผู้ช่วยตัวจิ๋วที่ทำได้สารพัดอย่าง

น่ารักเกินไปแล้ว! เปิดตัว myBuddy หุ่นยนต์ผู้ช่วยตัวจิ๋วที่ทำได้สารพัดอย่าง

สตาร์ตอัปจีนเปิดตัว myBuddy หุ่นยนต์ผู้ช่วยที่กะทัดรัดที่สุดในโลก พร้อมฟีเจอร์ทำงานและระบบเรียนรู้ด้วยตัวเองแบบครบวงจร

เอลเลแฟนต์ รอบอติกส์ (Elephant Robotics) เป็นชื่อของบริษัทหุ่นยนต์น้องใหม่จากแดนมังกรที่เน้นวิสัยทัศน์การสร้างหุ่นยนต์สำหรับทุกชีวิต นับตั้งแต่การก่อตั้งในปี 2016 บริษัทก็ได้เปิดตัวหุ่นยนต์ร่วมปฏิบัติงานหรือโคบอท (Collaborative Robot: Cobot) ซึ่งพัฒนามาจากราสเบอร์รี่พาย (Raspberry Pi) แพลตฟอร์มคอมพิวเตอร์ขนาดเล็กยอดนิยมในวงการหุ่นยนต์และสินค้า IoT (Internet of Things) โดยล่าสุดบริษัทก็ได้เปิดตัวมายบัดดี้ (myBuddy) โคบอท (Cobot) ที่สุดแสนจะน่ารักและทำงานได้หลายอย่างที่วางจำหน่ายแล้วในตอนนี้


มายบัดดี้ (myBuddy) เป็นโคบอท (Cobot) ที่มีแขนช่วยจับ 2 แขน แต่ละข้างมีวงรัศมีการทำงานอยู่ที่ 280 มิลลิเมตร รับน้ำหนักได้ข้างละ 250 กรัม เคลื่อนไหวได้อย่างอิสระ มีค่าความอิสระ (Degree of Freedom) อยู่ที่ 13 ซึ่งมากกว่าแขนของมนุษย์ที่มีค่าเพียง 7 เท่านั้น ซึ่งหมายความว่าแขนกลของมายบัดดี้ (myBuddy) สามารถทำงานได้อย่างอิสระและสามารถเลียนแบบลักษณะการขยับแบบมนุษย์ได้ เช่น โบกธง ลูบตัวแมว ทำท่ารูปหัวใจ เป็นต้น


ผู้ใช้งานสามารถสื่อสารกับมายบัดดี้ (myBuddy) ผ่านทางหน้าจอโต้ตอบ (Interactive Display) ขนาด 7 นิ้ว พร้อมระบบแสดงสีหน้า 20 แบบ ภายในตัว ติดตั้งกล้อง HD สำหรับสำรวจรอบตัวหุ่นยนต์ จดจำใบหน้าผู้ใช้งาน ระบุตำแหน่งสิ่งของ อ่านคิวอาร์โค้ด (QR Code) รวมถึงติดตามเส้นทางวัตถุที่ถูกโยนได้อีกดด้วย ขับเคลื่อนด้วยราสเบอร์รี่พาย 4 บี (Raspberry Pi 4 B) หน่วยประมวลผลแบบ 64 บิต ความเร็ว 1.5 กิกะเฮิรตซ์ (GHz) หน่วยความจำ 2 กิกะไบต์ (GB) สำหรับการประมวลผลระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) ของระบบ และยังทำงานบนพื้นฐานระบบเปิด (Open-source) ผู้ใช้งานจึงสามารถเข้ามาปรับแต่งการทำงานด้วยภาษาโค้ด (Coding) แบบไพธอน (Python) ผ่านการเชื่อมต่อด้วยพอร์ตยูเอสบี (USB) หรือพอร์ตแลน (RJ45) ได้ รวมถึงยังสามารถสร้างระบบจำลองการทำงานในสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ด้วยเครื่องมือที่ชื่อว่าอาร์โอเอส (ROS) ได้อีกด้วย


ระบบจำลองที่ติดตั้งในมายบัดดี้ (myBuddy) เป็นส่วนสำคัญที่ผู้พัฒนาต้องการให้ผู้ใช้นำไปต่อยอดในฐานะโคบอท (Cobot) ที่ครบเครื่อง เพราะนอกเหนือจากการทำงานทั่วไปอย่างเลียนแบบการขยับตัวของมนุษย์ มายบัดดี้ยังสามารถเป็นหุ่นยนต์ผู้ช่วยการวิจัยในงานวิทยาศาสตร์สาขาต่าง ๆ ได้ รวมถึงยังสามารถช่วยแพทย์ฝึกการผ่าตัดภายใต้ระบบอาร์โอเอส (ROS) ที่ช่วยสร้างสภาพการผ่าตัดจำลองขึ้นมา โดยบริษัทยังได้เสนอส่วนเสริม (Arm accessory) สำหรับมายบัดดี้ (myBuddy) กว่า 20 ประเภท เช่น ที่จับมือถือ ถาดรอง กล้องเสริม เป็นต้น


มายบัดดี้ (myBuddy) วางจำหน่ายผ่านทางเว็บไซต์ของบริษัทเป็นที่เรียบร้อยแล้วในราคา 1,699 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว ๆ 60,900 บาท ซึ่งรองรับการจัดส่งมายังประเทศไทยอีกด้วย





ที่มาข้อมูล IEEE, วิทยาลัยนวัตกรรมการผลิตขั้นสูง สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง

ที่มารูปภาพ Elephant Robotics


ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง