TNN online ภาพกาแล็กซีกงเกวียน ถูกถ่ายโดยกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์

TNN ONLINE

Tech

ภาพกาแล็กซีกงเกวียน ถูกถ่ายโดยกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์

ภาพกาแล็กซีกงเกวียน ถูกถ่ายโดยกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์

กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์จับภาพกาแล็กซีกงเกวียน เผยให้เห็นชั้นของกาแล็กซีและดาวฤกษ์เกิดใหม่ รวมไปถึงหลุมดำใจกลางกาแล็กซี

กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์ (James Webb Space Telescope) จับภาพการก่อตัวดาวฤกษ์ในกาแล็กซีรูปวงล้อ ซึ่งก่อตัวขึ้นจากการชนของกาแล็กซีเมื่อนานมาแล้ว


กาแล็กซีดังกล่าวเรียกว่ากาแล็กซีกงเกวียน (Cartwheel Galaxy) เนื่องจากมีความคล้ายคลึงกับล้อของรถม้าแบบเก่า โดยก่อนหน้านี้ได้มีการพยายามถ่ายรูปกาแล็กซีกงเกวียนด้วยกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล (Hubble Space Telescope) มาแล้ว แต่การมองด้วยแสงอินฟราเรด (Infrared) ของกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์ได้เผยให้เห็นรายละเอียดมากมายที่ไม่เคยเห็นมาก่อนในโครงสร้างของกาแล็กซี


แสงอินฟราเรดซึ่งโดยพื้นฐานแล้วคือความร้อนสามารถทะลุผ่านเมฆฝุ่นในอวกาศได้ ทำให้กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์ มองเข้าไปในบริเวณต่าง ๆ ของอวกาศที่ถูกบดบังได้ดี ในขณะที่กล้องโทรทรรศน์อวกาศแบบออปติคัล เช่น กล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล ซึ่งมองเห็นในช่วงแสงที่สามารถเห็นได้ด้วยตาเปล่า (Visible light) ไม่สามารถมองผ่านเมฆฝุ่นในอวกาศได้


ในภาพใหม่นี้ กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์ได้เปิดเผยให้เห็นดาวแต่ละดวงภายในบริเวณวงแหวนรอบนอกของกาแล็กซีกงเกวียน ตลอดจนกระจุกดาวอายุน้อยรอบ ๆ หลุมดำมวลมหาศาลใจกลางกาแล็กซี ซึ่งปกคลุมไปด้วยฝุ่น

ภาพกาแล็กซีกงเกวียน ถูกถ่ายโดยกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์

โดยกาแล็กซีกงเกวียนตั้งอยู่ห่างจากโลกประมาณ 500 ล้านปีแสง ในกลุ่มดาวช่างแกะสลัก ในซีกฟ้าใต้ ซึ่งเป็นกาแล็กซีชนิดวงแหวน (Ring Galaxy) ที่หาได้ค่อนข้างยาก ทั้งนี้ นักดาราศาสตร์เชื่อว่าการชนกันของกาแล็กซีทำให้รูปร่างและโครงสร้างของกาแล็กซีเปลี่ยนไป จนก่อตัวเป็นโครงสร้างคล้ายวงแหวน 2 โครงสร้าง  โครงหนึ่งล้อมรอบใจกลางกาแล็กซี และอีกโครงหนึ่งล้อมรอบกาแล็กซีทั้งหมด โดยวงแหวนทั้ง 2 วง ขยายออกจากใจกลางกาแล็กซีเหมือนกัน


เมื่อวงแหวนรอบนอกขยายตัว มันจะผลักฝุ่นและก๊าซที่ล้อมรอบกาแล็กซีออกไปด้านนอกและทำให้เกิดการก่อตัวดาวฤกษ์ บริเวณที่เกิดดาวดวงใหม่จะปรากฏเป็นจุดสีน้ำเงินเล็ก ๆ ในภาพและกระจัดกระจายไปทั่วกาแล็กซี แต่จะกระจุกตัวโดยเฉพาะอย่างยิ่งในวงแหวนรอบนอก


นอกจากนี้ การสังเกตการณ์ของกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์ยังเผยให้เห็นบริเวณที่อุดมไปด้วยไฮโดรคาร์บอน (Hydrocarbon) และฝุ่นซิลิเกต ซึ่งก่อให้เกิดซี่ล้อที่เชื่อมต่อวงแหวนด้านในและด้านนอก


ข้อมูลจาก www.space.com

ภาพจาก www.nasa.gov


ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง