GISTDA จับตาชิ้นส่วนจรวดลองมาร์ช 5บี โหม่งโลก พร้อมเฝ้าระวังหากส่งผลกระทบไทย
ชิ้นส่วนของจรวดลองมาร์ช 5บี จะตกสู่พื้นโลกวันอาทิตย์ที่ 31 กรกฎาคมนี้ และอาจมีผลกระทบกับประเทศไทย เพราะเป็นพื้นที่ที่วัตถุนี้โคจรผ่านทุกวัน
สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA โดยศูนย์วิจัยเทคโนโลยีอวกาศ (Space Technology Research Center) แจ้งเตือนชิ้นส่วนของจรวดลองมาร์ช 5 บี (Longmarch-5B) จะตกสู่พื้นโลกในวันอาทิตย์ที่ 31 กรกฎาคม 2565 โดยอาจส่งผลกระทบกับประเทศไทย เนื่องจากวัตถุอวกาศนี้ผ่านประเทศไทยทุกวัน
การปฏิบัติภารกิจของลองมาร์ช 5บี (Longmarch-5B)ในครั้งนี้ เกิดขึ้นเมื่อวันอาทิตย์ที่ 24 กรกฎาคม 2565 เพื่อนำเวิ่นเทียน (Wentian) ซึ่งเป็นโมดูลที่ 2 มาเชื่อมต่อกับสถานีอวกาศเทียนเหอ (Tianhe) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนให้นักบินอวกาศทำการทดลองวิจัยในอวกาศ ซึ่งในการปฏิบัติภารกิจนี้ก็มีชิ้นส่วนบางส่วนนั้นหลุดจากวงโคจรและกลับลงมายังพื้นโลกอีกครั้ง โดยชิ้นส่วนที่คาดว่าจะตกลงมาดังกล่าวนั้นมีน้ำหนักอยู่ที่ประมาณ 21 ตัน
ศูนย์วิจัยเทคโนโลยีอวกาศของ GISTDA ได้ใช้ระบบการจัดการจราจรอวกาศ (Space Traffic Management System) หรือ ZIRCON ที่ทีมนักวิจัยของ GISTDA พัฒนาขึ้น ทำการวิเคราะห์และคาดการณ์ ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานสากลสำหรับการแจ้งเตือนชิ้นส่วนจรวดตกสู่โลกในครั้งนี้ ปัจจุบันศูนย์วิจัยดังกล่าว มีการวิจัยพัฒนาขีดความสามารถของระบบอย่างต่อเนื่อง นอกเหนือจากฟังก์ชันการคาดการณ์ติดตามวัตถุอวกาศตกสู่โลก แล้วยังพัฒนาฟังก์ชันอื่นๆที่จะเป็นประโยชน์เพิ่มเติมในอนาคต เช่น การแจ้งเตือนภัยจากสภาพอวกาศ (Space weather) เป็นต้น อีกด้วย
ทั้งนี้ หากพิจารณาถึงความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น ณ วันนี้ ประเทศไทยมีโอกาสได้รับผลกระทบเพียง 1.2% ซึ่งถือว่าน้อยมาก นอกจากนี้ ระหว่างที่วัตถุอวกาศกำลังตกสู่โลกนั้น จะมีวัตถุบางส่วนถูกเผาไหม้ในชั้นบรรยากาศจากการเสียดสีระหว่างวัตถุกับชั้นบรรยากาศด้วยความเร็วสูง ซึ่งทำให้วัตถุมีน้ำหนักน้อยลง แต่อย่างไรก็ตาม GISTDA จะติดตามสถานการณ์และพื้นที่ที่มีความเสี่ยงของการตกของชิ้นส่วนจรวดนี้อย่างใกล้ชิดต่อไป
ที่มาข้อมูล S-TREC GISTDA
ที่มารูปภาพ Reuter
ข่าวแนะนำ
-
จีนเร่งพัฒนาจรวดขนส่งไปดวงจันทร์
- 20/6/67