TNN online สรุปมหากาพย์ล้มดีลซื้อทวิตเตอร์ของอีลอน มัสก์

TNN ONLINE

Tech

สรุปมหากาพย์ล้มดีลซื้อทวิตเตอร์ของอีลอน มัสก์

สรุปมหากาพย์ล้มดีลซื้อทวิตเตอร์ของอีลอน มัสก์

ข้อตกลงที่ปิดตายลงไประหว่างอีลอน มัสก์กับทวิตเตอร์นั้นไม่ใช่เรื่องระยะสั้น แต่กินระยะเวลาตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา และเหลือเพียงศาลเท่านั้นที่จะชี้ขาดมหากาพย์นี้

ในวันที่ 31 มกราคม อีลอน มัสก์ (Elon Musk) ได้เริ่มเข้าซื้อหุ้นของทวิตเตอร์ (Twitter) อย่างเงียบเชียบ ก่อนที่วันที่ 24 มีนาคม อีลอน มัสก์ จะทำโพล (Poll) .ในทวิตเตอร์ (Twitter) ว่าอยากให้เขาเข้าซื้อบริษัทหรือไม่เพียง 10 วัน ให้หลังข่าวการถือหุ้น 5 เปอร์เซ็นต์ นับตั้งแต่วันที่ 14 มีนาคม และทั้งหมดนี้เป็นจุดเริ่มต้นของเรื่องราวที่นับได้ว่าเป็นข่าวคราวการลงทุนของบริษัทเทคโนโลยีที่วุ่นวายที่สุดครั้งหนึ่งของโลก


เดือนเมษายนเป็นช่วงเวลาแห่งการเจรจาอย่างแท้จริง ตั้งแต่ต้นเดือนเมษายน ที่อีลอน มัสก์ (Elon Musk) ได้เข้าถือครองหุ้นถึง 9.2 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งส่งสัญญาณอันตรายไปยังบอร์ดผู้ถือหุ้น แม้ว่าที่ประชุมจะเชิญเขาเข้าร่วมบอร์ด แต่เจ้าตัวกลับปฏิเสธในภายหลังที่มีท่าทีเข้าร่วมในตอนแรก และในวันที่ 14 เมษายน อีลอน มัสก์ (Elon Musk) ได้เสนอซื้อทวิตเตอร์ (Twitter) ทั้งบริษัทด้วยมูลค่า 4.1 หมื่นล้านเหรียญ หรือเกือบ 1.6 ล้านล้านบาท ส่งผลให้วันถัดมา บริษัทตัดสินใจทำพอยซั่น พิล (Poison Pill) ซึ่งเป็นการเพิ่มจำนวนหุ้นในตลาดอย่างบ้าคลั่งเพื่อลดโอกาสการโดนเข้าซื้อ (Takeover) แต่หลังการเจรจากันกว่า 10 วัน อีลอน มัสก์ (Elon Musk) ก็บรรลุข้อตกลงมูลค่า 1.6 ล้านล้านบาท พร้อมหลักฐานความพร้อมทางการเงินจากแหล่งไม่ระบุที่มาและสถาบันเจพี มอร์แกน (JP Morgan) หนึ่งในสถาบันการเงินที่น่าเชื่อถือที่สุดของโลก


หลังจากที่อยู่ในช่วงฝันดีได้ไม่นาน ผู้คนทั่วโลกก็จับสังเกตท่าทีที่เปลี่ยนไปของอีลอน มัสก์ (Elon Musk) ได้หยิบยกประเด็นเรื่องของบัญชีปลอมและบัญชีสแปมขึ้นมาบนโต๊ะเจรจาอีกครั้ง หลังจากช่วงแรกเจ้าตัวใช้เป็นเป้าหมายการเข้าซื้อเพื่อขจัดบัญชีปลอมและบัญชีสแปม ในตอนนี้เขากลับใช้มันเป็นข้อต่อรอง เริ่มจากในวันที่ 13 พฤษภาคม บนทวิตเตอร์ของอีลอน มัสก์ (Elon Musk) ประกาศหยุดการเข้าซื้อไว้ก่อน เพราะเขาเชื่อว่าปริมาณบัญชีปลอมและสแปมนั้นมีสูงมากกว่า 5 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเขารับไม่ได้ 


และข้ออ้างนี้ก็เป็นเหตุให้การซื้อขายทั้งหมดนั้นจบลงในวันที่ 8 กรกฎาคม แม้ว่าก่อนหน้านั้นในช่วงกลางเดือนพฤษภาคมทางทวิตเตอร์ (Twitter) ขู่ว่าจะใช้มาตรการทางกฎหมายเข้ามาจัดการก็ตาม ในเวลาต่อมาฝ่ายกฎหมายของอีลอน มัสก์ (Elon Musk) ทำหนังสือส่งไปทางทวิตเตอร์ (Twitter) เพื่อชี้แจงว่าการถอนตัวนี้ถูกต้องตามกฎหมาย แต่บริษัทก็ยังเดินหน้าฟองต่อศาลในรัฐเดลาแวร์ ในขณะที่ฝ่ายอีลอน มัสก์ (Elon Musk) ก็คัดค้านการไต่สวนภายในปีนี้ โดยอ้างว่าต้องการเวลารวบรวมข้อมูลว่าบัญชีปลอมและสแปมนั้นมีมากเกินกว่าที่จะตกลงกันได้จริง ๆ แต่ท้ายที่สุดศาลก็ไม่รับฟัง และมองว่าการกระทำของฝั่งอีลอน มัสก์ (Elon Musk) จะส่งผลเสียต่อทวิตเตอร์ (Twitter) จึงได้นัดไต่สวนพิจารณาคดีครั้งแรกภายในเดือนตุลาคมนี้


แม้ว่าอีลอน มัสก์ (Elon Musk) จะประสบความสำเร็จในฐานะเจ้าของสเปซเอ็กซ์ (SpaceX) เทสลา (Tesla) แต่ก็แลกมากับข่าวอื้อฉาวในการกระทำส่วนตัวของเขา ทั้งเรื่องข้อสงสัยการปั่นป่วนตลาดหุ้น ตลาดคริปโทฯ รวมถึงเรื่องความสัมพันธ์ชู้สาวกับผู้หญิงคนดังหลายคน เช่น แอมเบอร์ เฮิร์ต (Amber Heart) นักแสดงฮอลลีวูด (Hollywood) หรือแม้แต่ นิโคล ชานาฮาน (Nicole Shanahan) ภรรยาของเซอร์เกย์ บริน (Sergey Brin) ผู้ร่วมก่อตั้งกูเกิล (Google) ที่เป็นผู้ร่วมลงทุนคนแรก ๆ ของบริษัทเทสลา (Tesla) แต่ทางฝั่งอีลอน มัสก์ (Elon Musk) ได้ออกมาปฏิเสธข่าวดังกล่าวแล้ว



ที่มาข้อมูล CNN, India Times

ที่มารูปภาพ Wikipedia, Unsplash

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง