TNN online Rocket Lab ส่งดาวเทียม CAPSTONE ขึ้นสู่อวกาศไปโคจรรอบดวงจันทร์

TNN ONLINE

Tech

Rocket Lab ส่งดาวเทียม CAPSTONE ขึ้นสู่อวกาศไปโคจรรอบดวงจันทร์

Rocket Lab ส่งดาวเทียม CAPSTONE ขึ้นสู่อวกาศไปโคจรรอบดวงจันทร์

ดาวเทียมถูกพัฒนาโดยบริษัท Advanced Space มูลค่าในการพัฒนาประมาณ 13.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 482 ล้านบาท

วันที่ 28 มิถุนายน เวลาประมาณ 21.55 น. ตามเวลาในประเทศนิวซีแลนด์ บริษัท Rocket Lab ประสบความสำเร็จในการส่งดาวเทียม CAPSTONE ขึ้นสู่อวกาศโดยใช้จรวดอิเล็กตรอน (Electron) จากฐานปล่อยจรวด LC-1B บริเวณแหลมมาเฮีย (Mahia) ประเทศนิวซีแลนด์ นับเป็นก้าวแรกของโครงการ Artemis


ดาวเทียม CAPSTONE หรือ Cislunar Autonomous Positioning System Technology Operations and Navigation Experiment ดาวเทียมมีขนาดเล็กประเภท Cubesat น้ำหนักไม่เกิน 25 กิโลกรัม ขนาดประมาณเตาไมโครเวฟที่ใช้งานในครัว ดาวเทียมติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ กล้องบันทึกภาพและเสาอากาศเพื่อการสื่อสารส่งข้อมูลกลับมายังโลก


ดาวเทียมถูกพัฒนาโดยบริษัท Advanced Space มูลค่าในการพัฒนาประมาณ 13.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 482 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีบริษัทเอกชนด้านอวกาศอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องอีกหลายแห่ง เช่น Terran Orbital Corporation และ Stellar Exploration สำหรับสัญญาที่นาซาทำกับบริษัท Rocket Lab ในการส่งดาวเทียมดวงนี้คาดว่าอยู่ที่ประมาณ 9.95 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 350 ล้านบาท


ภารกิจสำคัญของดาวเทียม CAPSTONE คือ การเดินทางไปยังตำแหน่งวงโคจร Near-Rectilinear Halo Orbit ของดวงจันทร์เพื่อบุกเบิกสำรวจเส้นทางให้กับสถานีอวกาศเกตเวย์ (Lunar Gateway) ที่นาซาวางแผนก่อสร้างขึ้นเพื่อโคจรรอบดวงจันทร์ และอาจรวมไปถึงยานอวกาศ Orion และยานอวกาศลำอื่น ๆ ในโครงการ Artemeis โครงการส่งมนุษย์กลับไปดวงจันทร์ของนาซา


หลังจากนี้ดาวเทียม CAPSTONE จะใช้เวลาโคจรรอบโลกประมาณ 5 วัน ก่อนติดเครื่องยนต์ครั้งสุดท้ายเพิ่มความเร็วเป็น 39,500 กิโลเมตรต่อชั่วโมง มุ่งหน้าสู่ดวงจันทร์ โดยใช้ระยะทางประมาณ 1.3 ล้านกิโลเมตร ซึ่งเป็นระยะทางที่มากกว่าระยะห่างจากโลกและดวงจันทร์ประมาณ 3 เท่า อย่างไรก็ตามวิธีการเดินทางดังกล่าวได้รับการคำนวณอย่างละเอียดเพื่อให้ดาวเทียมสามารถเข้าสู่ตำแหน่งวงโคจร Near-Rectilinear Halo Orbit ของดวงจันทร์อย่างถูกต้องในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2022




ที่มาของข้อมูล www.rocketlabusa.com, space.com 

ที่มาของรูปภาพ twitter.com/rocketlab

ข่าวฮิตติดแท็ก

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง