TNN online หุ่นยนต์น้องหมา (Unitree A1) ขวัญใจนักเรียนวิศวะ ม. เชียงใหม่

TNN ONLINE

Tech

หุ่นยนต์น้องหมา (Unitree A1) ขวัญใจนักเรียนวิศวะ ม. เชียงใหม่

หุ่นยนต์น้องหมา (Unitree A1) ขวัญใจนักเรียนวิศวะ ม. เชียงใหม่

หุ่นยนต์น้องหมา (Unitree A1) หุ่นยนต์รูปร่างคล้ายสุนัขที่ถูกใช้เพื่อการศึกษาวิชาปัญญาประดิษฐ์ AI ในคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

หลังจากที่สาขาวิศวกรรมหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดการอบรมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) สำหรับนักศึกษาในการเป็นสื่อการสอนด้านหุ่นยนต์เคลื่อนที่ รวมถึงการเรียนการสั่งการและทำงานร่วมกับระบบปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intellignce: AI) ด้วยหุ่นยนต์ทรงสุนัขไปเมื่อวันที่ 10 มิถุนายนที่ผ่านมา ก็ทำให้กลายเป็นกระแสในโลกออนไลน์โดยทันที TNN Tech จึงได้รวบรวมข้อมูลของ Unitree A1 หุ่นยนต์ที่กลายเป็นไวรัล (Viral) ในขณะนี้


ยูนิทรี เอ 1 (Unitree A1) เป็นหุ่นยนต์ทรงสี่ขา (Quardruped Robot) ที่มีลักษณะการทำงานคล้ายสุนัขจากบริษัทยูนิทรี (Unitree) ของประเทศจีน เปิดตัวครั้งแรกในงาน Consumer Electronics Show (CES) ในปี 2020 ซึ่งสร้างเสียงตอบรับอย่างล้นหลาม พร้อมมีการเปรียบเทียบกับ Spot หุ่นยนต์ทรงสี่ขาจากบริษัทบอสตัน ไดนามิก (Boston Dynamic) ที่มีฮุนได (Hyundai) เป็นเจ้าของ เนื่องจาก Spot เป็นหุ่นยนต์สุนัขที่โด่งดังที่สุดในเวลานั้น แต่มีราคาอยู่ที่ 74,500 ดอลลาร์ หรือราว ๆ 2.6 ล้านบาท แพงกว่ายูนิทรี เอ 1 ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ซื้อมาใช้งานมากกว่า 5 เท่า


คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดซื้อ ยูนิทรี เอ 1 (Unitree A1) มาทั้งหมด 4 ตัว ในราคาตกตัวละ 500,000 บาท ซึ่งหุ่นยนต์รุ่นนี้มีความสามารถทางกายภาพใกล้เคียงกับสุนัข ทั้งการย่อตัว หมุนตัว หันซ้ายหันขวา เคลื่อนที่ใน 4 ทิศทางรอบตัว หรือแม้แต่กระโดดตีลังกาก็ทำได้เช่นกัน ทำงานด้วยมอเตอร์ที่ให้แรงบิด 33.5 นิวตันเมตร พร้อมเท้า 4 เท้า ที่มีเซนเซอร์แรงดันสำหรับการเคลื่อนที่และวิเคราะห์ข้อมูล รองรับน้ำหนักสิ่งของ (Payload) ได้สูงสุด 5 กิโลกรัม ใช้งานต่อเนื่องได้สูงสุด 2.5 ชั่วโมง


ยูนิทรี เอ 1 มีความสามารถในการติดตามเป้าหมายที่กำหนดคล้ายคลึงกับสุนัข รวมถึงสามารถจดจำการสั่งการด้วยท่าทางต่าง ๆ สามารถหลบหลีกสิ่งกีดขวางได้ด้วยตัวเอง มีกล้องความละเอียดสูงสำหรับถ่ายภาพและแสดงผลแบบเรียลไทม์ และยังเปิดให้ผู้ใช้งานสามารถนำหุ่นยนต์ไปใช้งานและพัฒนา หรือเขียนคำสั่งเพื่องานเฉพาะทางได้  เช่นเดียวกับการเคลื่อนไหวของหุ่นยนต์สุนัขซึ่งปรากฏในคลิปที่เป็นไวรัลของคณะวิศวกรรมศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่


ผศ.ดร.จักรพงษ์ จำรูญ ให้สัมภาษณ์กับสื่อท้องถิ่นเชียงใหม่นิวส์ว่า รู้สึกตกใจที่ได้รับความสนใจเป็นจำนวนมากจากการเผยแพร่วิดีโอหุ่นยนต์สุนัข 4 ขาของภาควิชาของตน อย่างไรก็ตาม จะมีการจัดกิจกรรมตั้งชื่อให้กับหุ่นยนต์ 4 ตัวต่อไป


ผศ.ดร.จักรพงษ์ จำรูญ เป็นหนึ่งในผู้ผลักดันการนำยูนิทรี เอ 1 มาใช้งานเพื่อการพัฒนาศักยภาพนักศึกษาในสาขาวิชาวิศวกรรมหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ โดยจะนำไปใช้สอนการสั่งการ การเชื่อมต่อกับแท็บเล็ตและสมาร์ตโฟน ตลอดจนการทำไลฟ์สตรีมมิ่ง (Live Streaming) เพื่อส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ที่สร้างสรรค์และน่าสนใจต่อไปในอนาคต






ที่มาข้อมูล Unitree, Business Insider, เชียงใหม่นิวส์

ที่มารูปภาพ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง