TNN online ขีปนาวุธซาร์มัตแห่งรัสเซีย จรวดเหนือเสียงยุคอนาคต ที่ "ทรงพลังที่สุดในโลก"

TNN ONLINE

Tech

ขีปนาวุธซาร์มัตแห่งรัสเซีย จรวดเหนือเสียงยุคอนาคต ที่ "ทรงพลังที่สุดในโลก"

ขีปนาวุธซาร์มัตแห่งรัสเซีย จรวดเหนือเสียงยุคอนาคต ที่ ทรงพลังที่สุดในโลก

ปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา รัสเซียทดสอบขีปนาวุธข้ามทวีป Sarmat ที่มีพิสัยการยิงถึง 18,000 กิโลเมตร และประสบความสำเร็จ

  • เมื่อปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา รัสเซียทดสอบขีปนาวุธข้ามทวีป (ICBM) ซาร์มัต (Sarmat) และประกาศว่าการทดสอบประสบความสำเร็จ ขีปนาวุธที่มีพิสัยการยิงถึง 18,000 กิโลเมตร นี้ ถูกทดสอบในขณะที่การสู้รบระหว่างรัสเซียกับยูเครนกำลังยกระดับความรุนแรงเข้าไปในทุกขณะ

  • ขณะที่เมื่อวันที่ 19 มีนาคม รัสเซียระบุว่าได้ใช้ขีปนาวุธความเร็วเหนือเสียง คินซาล (Kinzhal) ทำลายสถานที่จัดเก็บอาวุธทางตะวันตกของยูเครน ซึ่งเป็นครั้งแรกที่รัสเซียใช้ขีปนาวุธความเร็วเหนือเสียงยิ่งยวด หรือไฮเปอร์โซนิก นับตั้งแต่เมื่อเริ่มปฏิบัติการที่เรียกว่า "ปฏิบัติการพิเศษทางทหาร" ในยูเครน เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา โดยขีปนาวุธคินซาล มีระยะการยิงกว่า 2,000 กิโลเมตร และมีความเร็วในการบินสูงถึง 6,000 กิโลเมตร ต่อชั่วโมง

  • ไม่เพียงเท่านี้ เมื่อปลายเดือนพฤษภาคม ทางการรัสเซียยังได้ประกาศความสำเร็จในการทดสอบขีปนาวุธความเร็วเหนือเสียง เซอร์คอน (Tsirkon) ในทะเล ที่บินได้ไกลกว่า 1,000 กิโลเมตร ที่มีเร็วกว่าความเร็วเหนือเสียงถึง 9 เท่า โดยในปีที่ผ่านมา รัสเซียทดสอบยิงขีปนาวุธเซอร์คอนจากเรือรบและเรือดำน้ำหลายลำ

  • จากปรากฏการณ์การทดสอบขีปนาวุธต่อเนื่อง ทั้งการออกมาแสดงจุดยืนของประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย ว่าหากชาติตะวันตกเข้าแทรกแซงเกินกว่าเหตุ รัสเซียอาจ “ตอบโต้โดยฉับพลัน” หากจำเป็น แสดงถึงการส่งสัญญาณของรัสเซีย ที่ทดสอบใช้งานขีปนาวุธข้ามทวีปเพื่อแสดงพลังอำนาจ และเป็นคำเตือนแบบกลาย ๆ ที่หวังจะส่งถึงบรรดาชาติตะวันตก 

  • สำหรับบทความนี้ TNN Tech จะขอมุ่งเน้นไปที่ขีปนาวุธ ซาร์มัต ซึ่งกระทรวงกลาโหมรัสเซียประกาศว่า ทรงพลังมากที่สุดในโลก



ขีปนาวุธซาร์มัตแห่งรัสเซีย จรวดเหนือเสียงยุคอนาคต ที่ ทรงพลังที่สุดในโลก

  • ที่มาของรูปภาพ Russian Ministry of Defense
  • อาวุธสำคัญของรัสเซีย 

  • สำนักข่าว BBC รายงานว่า กองทัพรัสเซียสูญเสียอย่างหนัก ทั้งกำลังทหารและอาวุธยุทโธปกรณ์ ในระหว่างปฏิบัติการพิเศษที่ดำเนินมาแล้ว 3 เดือนในยูเครน ท่ามกลางกระแสการส่งอาวุธจากชาติตะวันตกไปยังยูเครน 

  • เช่นกรณีของเยอรมนีที่เตรียมจัดส่งขีปนาวุธ สเตรลา (Strela) ต่อต้านอากาศยานให้ยูเครนอีก 2,700 ลูก รวมถึงสหราชอาณาจักร ที่เตรียมจัดส่งจรวดหลายลำกล้อง M270 พร้อมกับขีปนาวุธพิสัยไกลให้ เช่นเดียวกับสหรัฐอเมริกา ที่จัดเตรียมระบบยิงจรวด M142 หรือ HIMARS พร้อมส่งให้ใช้งาน ด้วยเหตุปัจจัยเหล่านี้ หากรัสเซียถูกต้อนจนมุม ก็อาจจะต้องสูญเสียสถานะ 'มหาอำนาจ' ทำให้รัสเซียขู่ว่าจะตอบโต้กลับ ด้วยการใช้มาตรการขั้นรุนแรงแบบสายฟ้าฟาด ซึ่งนักวิเคราะห์สถานการณ์แปลความหมายว่า หมายถึงการใช้ "ขีปนาวุธข้ามทวีป" เพื่อตอบโต้นั่นเอง

  • ขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิก คืออะไร ?

  • ก่อนอื่นต้องอธิบายว่า ขีปนาวุธถูกแบ่งประเภทหลัก ๆ เป็น 3 ประเภท ตามลักษณะความเร็วที่ใช้ ซึ่งส่วนใหญ่มักจะใช้หน่วยมัค (Mach) หรือสัดส่วนความเร็วต่อความเร็วเสียงมาเป็นตัวชี้วัด โดย 1 มัค จะมีความเร็วเท่ากับ 1,225.04 กิโลเมตรต่อชั่วโมง 

  • - สำหรับขีปนาวุธประเภทแรก คือ ขีปนาวุธร่อน (Cruise Missile) ที่มีความเร็วต่ำกว่า 0.8 มัค 
  • - ประเภทที่ 2 คือ ขีปนาวุธความเร็วเหนือเสียง (Supersonic Missile) มีความเร็วระหว่าง 1-5 มัค 
  • - ประเภทที่ 3 คือ ขีปนาวุธความเร็วเหนือเสียงยิ่งยวด (Hypersonic Missile, Future Missile) หรือจะขอเรียกต่อไปนี้ว่า ขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิก 

  • ขีปนาวุธประเภทนี้จะมีความเร็ว 5 มัคขึ้นไป และมีพิสัยทำการในระยะไกลมากถึงหลักพัน-หมื่นกิโลเมตร ทั้งใช้เทคโนโลยีการพัฒนาที่สูงมาก ปัจจุบัน จึงมีไม่กี่ประเทศที่กำลังพัฒนาขีปนาวุธความเร็วระดับไฮเปอร์โซนิกให้สามารถใช้งานได้ หลัก ๆ คือสหรัฐฯ รัสเซีย และจีน ส่วนชาติอื่น ๆ มีข่าวว่ากำลังเร่งพัฒนาอยู่เช่นอินเดีย, ญี่ปุ่น, ออสเตรเลีย, ฝรั่งเศส, เยอรมนี รวมถึงเกาหลีเหนือ แต่ก็ยังไม่มีข้อมูลยืนยันถึงการประสบความสำเร็จในการใช้งานจริง

  • สำหรับขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิก ขีปนาวุธเหล่านี้มักไม่ถูกเปิดเผยรายละเอียดความสามารถ เพราะเป็นความลับทางการทหาร แต่ส่วนใหญ่จะเปิดเผยเพียงความเร็ว และพิสัยทำการ รวมถึงความสามารถในการบรรจุหัวรบเป็นหลัก 

  • และจากการที่มีความเร็วสูงมาก ทำให้มีเวลาเตรียมตัวป้องกันหรือเคลื่อนย้ายเป้าหมายน้อยมาก และขีปนาวุธเหล่านี้ บางรุ่นยังสามารถบังคับได้ตลอดวิถีการบิน สามารถหลบเลี่ยงหรือเร่งความเร็วได้ในอัตราที่ต้องการ ทำให้การบินเป็นไปอย่างนุ่มนวล สามารถทำลายเป้าหมายระยะไกลได้อย่างแม่นยำ และการตรวจจับวิถีการบินทำได้ยากกว่าขีปนาวุธรุ่นเก่า ๆ ทั้งนี้ เหล่าผู้เชี่ยวชาญคาดว่า ขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิกยุคใหม่ ๆ  จะถูกทำให้ล่องหน และถูกตรวจจับด้วยอุปกรณ์ป้องกันทางอากาศต่างๆ ยากขึ้นไปอีก 


  • ซาร์มัต-อาวอนการ์ด ไพ่ใบใหม่ที่ทำให้รัสเซีย "ทรงพลัง"

  • รัสเซียกำลังเตรียมโละคลังแสงขีปนาวุธข้ามทวีป จากรุ่น R-36 และ SS-18 และ SS-19 ที่เก่าและหมดอายุไปนานแล้ว ด้วยขีปนาวุธข้ามทวีปซาร์มัต ที่สามารถติดตั้งเข้ากับยานร่อนไฮเปอร์โซนิก (Hypersonic Glide Vehicle) อาวอนการ์ด (Avangard) โดยอาวอนการ์ด ถูกบรรจุเข้าประจำการในช่วงปลายปี 2020 ยานร่อนชนิดนี้ สามารถเคลื่อนที่ด้วยความเร็วเหนือเสียงกว่า 20 เท่า มีระบบเก็บเสียงที่เพิ่มประสิทธิภาพในการหลบหลีกการตรวจจับ ทำให้ขีปนาวุธรุ่นนี้เจาะผ่านระบบป้องกันได้ทุกระบบที่มีอยู่ในปัจจุบันและกำลังจะติดตั้งในอนาคต



ขีปนาวุธซาร์มัตแห่งรัสเซีย จรวดเหนือเสียงยุคอนาคต ที่ ทรงพลังที่สุดในโลก

  • ที่มาของรูปภาพ Russian Ministry of Defense



  • ขณะที่รัสเซียยังประกาศย้ำว่าขีปนาวุธ ซาร์มัต ทรงพลังมากที่สุดในโลก โจมตีเป้าหมายที่ไหนก็ได้ในโลก ด้วยพิสัยยิงไกลถึง 18,000 กิโลเมตร ซึ่งครอบคลุมทุกหัวเมืองใหญ่ของสหรัฐฯ ทั้งมีความเร็วสูงสุด 20.7 มัค ทั้งยังยังบรรจุหัวรบนิวเคลียร์ได้อย่างน้อย 10 หัว ซึ่งขีปนาวุธซาร์มัต ถูกเปิดตัวระหว่างขบวนพาเหรดในรัสเซียเมื่อปี 2019 พร้อมกับขีปนาวุธเหนือเสียงคินซาล และอาวอนการ์ด 

  • ตามที่กระทรวงกลาโหมรัสเซียระบุ ซาร์มัตที่ประกบเข้ากับอาวอนการ์ด สามารถโจมตีเป้าหมายได้ในระยะไกล โดยใช้เส้นทางการบินที่พลิกแพลงได้ และถูกอ้างว่า สามารถเอาชนะระบบป้องกันขีปนาวุธในปัจจุบันหรือในอนาคตได้

  • สหรัฐฯ จะรับมือขีปนาวุธเหล่านี้อย่างไร ?

  • ขีปนาวุธที่มีความเร็วเหนือเสียงนั้น มีความน่าเกรงขามอย่างมาก เนื่องจากวิถีการยิง และการเคลื่อนที่ที่คาดเดาไม่ได้ ทำให้การสกัดกั้นเป็นไปได้อย่างยากลำบาก ด้วยความเร็วที่รวดเร็วอย่างเหลือเชื่อ และความสามารถในการเข้าสู่อวกาศและกลับเข้าสู่ชั้นบรรยากาศของโลกโดยใช้ยานร่อน

  • สำหรับสหรัฐฯ ยังไม่สามารถป้องกันการโจมตีขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิกได้ โดยกองทัพสหรัฐฯ ของบประมาณ 3.8 พันล้านดอลลาร์ในปีนี้ สำหรับการพัฒนาอาวุธความเร็วเหนือเสียง และอีก 246.9 ล้านดอลลาร์สำหรับการวิจัยการป้องกันอาวุธความเร็วเหนือเสียง อาวุธไฮเปอร์โซนิกของสหรัฐฯ ส่วนใหญ่แล้วยังคงอยู่ในขั้นตอนการพัฒนาหรือทดสอบ แต่กำลังจะมีอาวุธชิ้นหนึ่งเข้าสู่สถานะ ‘ความสามารถในการปฏิบัติการเบื้องต้น’ (Initial Operational Capability) ได้ในปีนี้ แต่อาวุธไฮเปอร์โซนิกของสหรัฐฯ ติดตั้งได้เพียงหัวรบแบบธรรมดา ไม่ใช่หัวรบนิวเคลียร์ 

  • ขณะที่ซาร์มัต มีน้ำหนักบรรทุกที่มากสูงสุดถึง 2 เมกะตัน มันสามารถบรรทุกระเบิดนิวเคลียร์ได้มากถึง 15 ลูก โดยแต่ละลูกสามารถแบ่งแยกเป้าหมายพิกัดการโจมตีได้ โดยยานร่อนอาวอนการ์ด ยังช่วยพาให้ขีปนาวุธซามัตเดินทางได้ไกลและเร็วขึ้น อีกทั้งขีปนาวุธซาร์มัตจะถูกสกัดกั้นได้ยากยิ่ง เพราะมันเร่งความเร็วได้เกือบเท่ากับขีปนาวุธที่มีเชื้อเพลิงเป็นของแข็งน้ำหนักเบา ในขณะที่เป็นจรวดที่ขับเคลื่อนด้วยของเหลว

  • และจากการประเมินของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ รัสเซียได้ใช้ขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิกไปในสถานการณ์จริงนับสิบลูกแล้ว หลัก ๆ ก็จะใช้ในการปะทะกับยูเครน ขณะที่ดมิทรี โรโกซิน (Dmitry Rogozin) ผู้บริหารรอสคอสมอส (Roscosmos) หน่วยงานด้านอวกาศของรัสเซีย ประกาศว่า ซาร์มัต จะเข้ารับการทดสอบตลอดทั้งปีนี้ โดยกองทัพจะได้รับขีปนาวุธดังกล่าวเข้าประจำการในฤดูใบไม้ร่วงปี 2022 ซึ่งหมายถึงในระยะเวลาอีกไม่กี่เดือน 

  • อย่างไรก็ดี แจ็ค วัตลิ่ง (Jack Watling) นักวิชาการจากสถาบัน RUSI ในกรุงลอนดอนกล่าวว่า การทดสอบขีปนาวุธซาร์มัตที่สำเร็จ ส่วนใหญ่เป็นไปในเชิงสัญลักษณ์ เพราะสงครามในยูเครนดำเนินไปหลายเดือนแล้ว และการทดสอบทำเพื่อให้เข้ากับวันเทศกาลเฉลิมฉลองประจำปีของรัสเซียที่เรียกว่า Victory Day ซึ่งปกติแล้วรัสเซียจะแสดงอาวุธที่พัฒนาล่าสุดในวันดังกล่าว ทำให้รัสเซียต้องการแสดงว่า มีความสำเร็จในทางเทคนิคเกิดขึ้น

  • ประกาศแสนยานุภาพขีปนาวุธข้ามโลก

  • พล.อ. เซอร์เก คาราเคฟ (Sergei Karakev) ผู้บัญชาการกองกำลังยุทธศาสตร์ของรัสเซีย ประกาศเมื่อไม่นานนี้ว่า ขีปนาวุธจากของรัสเซียสามารถมีวิถีการยิง ที่ข้ามขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้ และยังสามารถยิงในวิถีอื่น ๆ ได้
  • “ด้วยอัตราส่วนกำลังต่อน้ำหนักของระบบขีปนาวุธใหม่ ที่สามารถเปลี่ยนแปลงวิถีการยิงได้ จากเดิมที่วิถีการยิงผ่านขั้วโลกเหนือที่เลื่องชื่อของเราที่มีอยู่แล้วนั้น หากจำเป็น เราจะเปลี่ยนวิถีการยิงให้ผ่านขั้วโลกใต้ ซึ่งโดยหลักการ ขั้วโลกใต้ยังไม่ได้รับการปกป้องในปัจจุบัน และยังมีความเป็นไปได้ว่าจะมีวิถีการยิงในทิศทางอื่น ๆ …ทั้งในแง่ของความเป็นไปได้ในการปล่อยขีปนาวุธสู่อวกาศ” พล.อ. คาราเคฟ ประกาศในช่องทีวี Zvezda ของรัสเซีย

  • พล.อ. คาราเคฟ ยังกล่าวต่อไปว่า การสกัดกั้นขีปนาวุธซาร์มัตในทศวรรษหน้าจะเป็นเรื่องยากอย่างยิ่ง
  • “ระบบป้องกันภัยทางอากาศสำหรับขีปนาวุธซาร์มัตนั้นยังไม่เกิดขึ้นจริง และจะเป็นเช่นนี้ต่อไปในระดับ 10 ปี” พล.อ. คาราเคฟคาดการณ์


  •   ขีปนาวุธซาร์มัตแห่งรัสเซีย จรวดเหนือเสียงยุคอนาคต ที่ ทรงพลังที่สุดในโลก
  • ที่มาของรูปภาพ Russian Ministry of Defense

  • ขีปนาวุธที่ไม่อาจหลบเลี่ยง 

  • การผสมผสานระหว่างยานร่อน อแวนการ์ด กับ ซาร์มัต ที่เป็นขีปนาวุธข้ามทวีป หากนำมาใช้งานได้จริง จะทำให้ขีปนาวุธดังกล่าว อยู่เหนือระบบป้องกันภัยทางอากาศของทั่วโลกที่มีในปัจจุบัน

  • และแม้ว่าสหรัฐฯ ซึ่งเป็นปรปักษ์ของรัสเซีย จะลงทุนพัฒนาระบบป้องกันขีปนาวุธความเร็วเหนือเสียง แต่ก็ต้องใช้เวลาอีกพอสมควรก่อนที่ระบบดังกล่าวจะถูกพัฒนาให้มีประสิทธิภาพ

  • ด้านนายพล เกล็น ดี. แวนเฮิก (Glen D. VanHerck) ผู้บัญชาการของกองบัญชาการภาคเหนือของสหรัฐฯ (NORTHCOM) เผยว่า กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ระบุว่า ขีปนาวุธของรัสเซียทำงานได้ไม่แม่นยำเท่าขีปนาวุธของอเมริกา แต่ก็ยอมรับว่ามีความ "ทัดเทียม" กัน 

  • ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า รัสเซียนำหน้าสหรัฐฯ หลายปีในด้านเทคโนโลยีขีปนาวุธที่มีความเร็วเหนือเสียง ทำให้สหรัฐฯ พยายามอย่างเต็มที่เพื่อพัฒนาอาวุธของตนอย่างรวดเร็วเพื่อให้ตามทันคู่ต่อสู้ อย่างไรก็ตาม ในขณะที่สหรัฐฯ ยังพัฒนาขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิกไม่สำเร็จ รัสเซียได้ประกาศว่ากำลังพัฒนาขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิก 'รุ่นต่อไป' ทั้งทางบก ทางทะเล ทางอากาศ

  • ดังนั้น แม้ว่าผู้บัญชาการของ NORTHCOM จะเชื่อว่าขีปนาวุธความเร็วไฮเปอร์โซนิกของรัสเซียมีประสิทธิภาพต่ำกว่าในแง่ของความแม่นยำ แต่ราจิฟ นายัน (Rajiv Nayan) ผู้ช่วยวิจัยอาวุโสของสถาบัน Manohar Parrikar Institute of Defense Studies and Analysis กล่าวกับสำนักข่าว EurAsian Times ว่า "เทคโนโลยีความเร็วเหนือเสียงของรัสเซียได้รับการพิสูจน์อย่างแน่นอนแล้ว  และถึงแม้ว่าขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิกนั้น โดยหลักจะมุ่งเน้นที่ความเร็วและไม่เน้นความแม่นยำมากนัก แต่อย่างไรก็ตาม รัสเซียเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีความแม่นยำอยู่แล้ว”

  • ตามการประกาศของกองกำลังขีปนาวุธทางยุทธศาสตร์ (Strategic Missile Forces) ของรัสเซีย ขีปนาวุธซาร์มัต จะถูกเข็นเข้าประจำการ และใช้งานไปตลอดช่วงเวลาอีกกว่าครึ่งศตวรรษนี้ 

  • ที่มาของข้อมูล eurasiantimes.com  aljazeera.com airforcemag.com
  • ที่มาของรูปภาพ ria.ru

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง