TNN online โปรตุเกสเตรียมเปิดใช้โซลาร์ฟาร์มแบบลอยน้ำใหญ่สุดในยุโรป ลดการพึ่งพาพลังงานจากรัสเซีย

TNN ONLINE

Tech

โปรตุเกสเตรียมเปิดใช้โซลาร์ฟาร์มแบบลอยน้ำใหญ่สุดในยุโรป ลดการพึ่งพาพลังงานจากรัสเซีย

โปรตุเกสเตรียมเปิดใช้โซลาร์ฟาร์มแบบลอยน้ำใหญ่สุดในยุโรป ลดการพึ่งพาพลังงานจากรัสเซีย

โซลาร์ฟาร์มบนอ่างเก็บน้ำออควีวา (Alqueva Reservoir) มีแผงโซลาร์เซลล์มากกว่า 12,000 แผง กำลังการผลิตอยู่ที่ 7.5 กิกะวัตต์ชั่วโมง (GWh)

ประเทศโปรตุเกสเตรียมเปิดใช้งานแผงโซลาร์เซลล์แบบลอยน้ำขนาดเท่ากับ 4 สนามฟุตบอลที่มีกำลังการผลิตเพียงพอสำหรับ 1,500 ครัวเรือน บนอ่างเก็บน้ำออควีวา (Alqueva Reservoir) ซึ่งเริ่มสร้างตั้งแต่ 2017 เตรียมเดินหน้าการผลิตและจ่ายกระแสไฟฟ้าโดยนำเรือลากจูงไปติดตั้งบนผิวน้ำ และเชื่อมต่อกับโครงข่ายกระแสไฟฟ้าของอ่างเก็บน้ำภายในเดือนกรกฏาคมนี้


โซลาร์ฟาร์มบนอ่างเก็บน้ำออควีวา (Alqueva Reservoir) เกิดขึ้นตามเป้าหมายของบริษัทอีดีพี รีนิวอเบิล (EDP Renewables) ซึ่งเป็นผู้ผลิตกระแสไฟฟ้ารายใหญ่ที่สุดของประเทศโปรตุเกส ที่ต้องการให้การผลิตกระแสไฟฟ้าของบริษัทนั้นปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ภายในปี 2030 โครงการนี้ได้รับการสนับสนุนเพิ่มขึ้นอย่างมากนับตั้งแต่การรุกรานยูเครนของรัสเซีย เพราะทางรัฐบาลโปรตุเกสต้องการเพิ่มพลังงานสีเขียวและลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างน้ำมันและแก๊สที่มีรัสเซียเป็นผู้ส่งออกรายหลัก


โซลาร์ฟาร์มแห่งนี้มีแผงโซลาร์เซลล์มากกว่า 12,000 แผง บนทุ่นลอยน้ำเพื่อให้มีกำลังการผลิตอยู่ที่ 7.5 กิกะวัตต์ชั่วโมง (GWh) และยังมีแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนขนาด 2 กิกะวัตต์ชั่วโมง (GWh) พ่วงกับตัวระบบ ทำให้ระบบมีไฟฟ้าสำรองจ่ายในช่วงเวลากลางคืนหรือวันที่แดดน้อย รองรับการจ่ายไฟให้กับบ้านเรือนประมาณ 1,500 ครัวเรือน หรือคิดเป็น 1 ใน 3 ของความต้องการใช้ไฟทั้งหมดในเมืองรอบอ่างเก็บน้ำ


การติดตั้งโซลาร์ฟาร์มบนเขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ ทั่วโลกกำลังให้ความสนใจในการติดตั้งโซลาร์ฟาร์มลอยน้ำในหลากหลายรูปแบบ เช่น การทำโซลาร์ฟาร์มบนเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้า (Hydro-Floating Solar Hybrid) ในเขื่อนสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี ที่มีกำลังการผลิตรวมกันอยู่ที่ 2.7 กิกะวัตต์ชั่วโมง (GWh) ซึ่งถือว่าเป็นระบบผลิตไฟฟ้าแบบไฮบริดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก


การติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนผิวน้ำนั้นมีข้อดีสำคัญที่คุณภาพในการผลิต เพราะบนผิวน้ำตามเขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำจะไม่มีสิ่งบดบังแสงอาทิตย์ และยังมีต้นทุนการผลิตที่ต่ำ ทางด้านของมิเกล พาเธน่า (Migel Patena) ผู้อำนวยการโครงการนี้กล่าวว่า ต้นทุนการผลิตจากโครงการนี้ถูกกว่าการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลในโรงไฟฟ้ามากกว่า 2 ใน 3 หรือประมาณ 25% ของต้นทุนในปัจจุบันเท่านั้น


อีกหนึ่งข้อดีของการทำโซลาร์ฟาร์มกลางน้ำ คือความสามารถในการขยายกำลังการผลิตได้เท่าที่พื้นผิวน้ำยังมีพื้นที่เพียงพอ โดยทางอีดีพี รีนิวอเบิล (EDP Renewables) มีแผนจะขยายความจุไฟฟ้าของโซลาร์ฟาร์มบนออควีวา (Alqueva) อีก 70 เมกะวัตต์ (MW) ซึ่งเป็น 14 เท่าของปัจจุบัน หลังจากผ่านการรับรองความปลอดภัยโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว


ที่มาของข้อมูล electrek.co

ที่มาของรูปภาพ EDP Renewables

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง